โคราชปลุกตำนานดินเผาด่านเกวียน“วิถีชาวดิน ถิ่นงานปั้น” กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น
GH News February 05, 2025 02:06 AM

โคราชปลุกตำนานดินเผาด่านเกวียน“วิถีชาวดิน ถิ่นงานปั้น” กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น จัดถนนวัฒนธรรมสัมผัสแหล่งผลิตเครื่องปั้นระดับโลก



เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่ศูนย์การเรียนรู้เครื่องปั้นดินเผา สำนักงานเทศบาลตำบล (ทต.) ด่านเกวียน อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา นายอภิชา เลิศพชรกมล สส.นครราชสีมา เขต 10 พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการท่องเที่ยวและกีฬาพร้อมนายพิชาญ ตราผักแว่น นายอำเภอโชคชัย นางรุ่งทิพย์ บุกขุนทด ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครราชสีมา และนายชรินทร์ เปลี่ยนกระโทก นายก ทต.ด่านเกวียน แถลงการจัดกิจกรรมโครงการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น “วิถีชาวดิน ถิ่นงานปั้น” ประจำปี 2568 งานเทศกาลเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน กำหนดจัดวันที่ 10-14 ก.พ นี้ ที่ลานกิจกรรม ทต.ด่านเกวียน

นายชรินทร์ นายก ทต.ด่านเกวียน เปิดเผยว่า เป็นประจำทุกปีชาวด่านเกวียนจะประกอบพิธีขอขมาบูชาดินเพื่อสืบสานวิถีชีวิตดั้งเดิมและความเชื่อของคนในชุมชนที่สืบทอดกันมา พร้อมร่วมแรงร่วมใจปั้นดินเผาเป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่ยังคงเอกลักษณ์ทางภูมิปัญญาท้องถิ่น กิจกรรมมีการแข่งขันปั้นแจกัน โอ่ง ปติมากรรมลอยตัวและการเพ้นท์สี การจัดสวนถาดเครื่องปั้นดินเผา กิจกรรมประกวดธิดาดินจำแลง การจัดบูธเครื่องปั้นดินเผาของชุมชนและหน่วยงานราชการ


กิจกรรมพาเที่ยวชมวิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาในหมู่บ้านโดยรถรางนำเที่ยว แข่งขันหุงข้าวหม้อดิน ผัดหมี่ แข่งขันตำส้มตำ แข่งขันทำขนมครก การออกบูธจำหน่ายสินค้าโอท็อปและการแสดงของนักเรียนและชาวบ้าน และทุกค่ำดินสนุกสนานกับวงดนตรี ศิลปินเต็มวงแสงสีเสียง อลังการ ตลอดทั้ง 5 วัน 5 คืน

ทั้งนี้เดิมพื้นที่ ต.ด่านเกวียน ถือเป็นเมืองหน้าด่านเรียกว่า “ด่านกระโทก” เป็นเส้นทางการค้าทางบกระหว่าง โคราชกับเขมร (กัมพูชา) สมัยก่อนมีพ่อค้าเกวียนมาหยุดพักกองคาราวาน จึงถูกเรียกชื่อใหม่ว่า “ด่านเกวียน” ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำมูล ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์และเป็นถิ่นอาศัยของชาวข่า คนเชื้อสายมอญ จึงเกิดการถ่ายทอดกรรมวิธีการทำเครื่องปั้นดินเผา ชาวบ้านมักจะใช้เวลาว่างผลิตเครื่องปั้นดินเผาชนิดต่างๆ ไว้ใช้ในครัวเรือน อาทิ โอ่ง กระถาง ไห ครก รอฝนยา ฯลฯ รวมทั้งนำบางส่วนที่ผลิตได้ขนขึ้นเกวียนไปค้าขายหรือแลกเปลี่ยนสินค้ากับประเทศกัมพูชา โดยเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนได้ยกระดับพัฒนาผลิตภัณฑ์สมัยใหม่และรับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เนื่องจากมีความโดดเด่นด้วยตัวสินค้าที่มีความแข็งแกร่งทนทานและสวยงามด้านเอกลักษณ์และรูปแบบงานปั้นที่มีความหลากหลายกำลังเป็นสินค้าที่นิยมของตลาดทั้งในและต่างประเทศ คาดเงินสะพัดในท้องถิ่นร่วม 5 ล้านบาท

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.