กสศ.เผยตัวเลขความเหลื่อมล้ำปี67 พบเด็กยากจนพิเศษ 1.34 ล้านคน 1.1 ล้านคน ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ
GH News February 06, 2025 06:06 PM

กสศ.เผยตัวเลขความเหลื่อมล้ำปี67 พบเด็กยากจนพิเศษ 1.34 ล้านคน 1.1 ล้านคน ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ ชงสร้างหลักประกันการศึกษา 20 ปี ‘ไอติม’ จี้ทบทวนโครงสร้างซ้ำซ้อน

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่ สามย่านมิตรทาวน์ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดงาน Equity Forum 2025 “ประเทศไทยกับการแก้ปัญหาเชิงระบบเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา” โดยเปิดรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2567 และทิศทางสำคัญในปี 2568 โดยนายไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ปีการศึกษา 2567 มีนักเรียนวัย 3-14 ปี ประมาณ 8.5 ล้านคน ในจำนวนนี้กว่า 3 ล้านคนอยู่ในครัวเรือนยากจน และ 1.34 ล้านคนเป็นนักเรียนยากจนพิเศษ ซึ่งกระจุกตัวมากที่สุดในแม่ฮ่องสอน นราธิวาส และภาคอีสาน กสศ. จึงจัดสรรทุนเสมอภาคให้นักเรียนกลุ่มนี้ต่อเนื่อง 3 ปี ส่งผลให้อัตราการคงอยู่ในระบบสูงถึง 97.88%

“อย่างไรก็ตาม ยังมีช่องว่างสำคัญ เช่น มีเพียง 13.49% ของนักเรียนยากจนที่ศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึง 3 เท่า และยังมีนักเรียนยากจนอีก 1.1 ล้านคนที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือ นอกจากนี้ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคมยังส่งผลต่อการศึกษาของเด็กกลุ่มเปราะบาง สำหรับเด็กนอกระบบ ปี 2567 พบว่ามีเด็กอายุ 3-18 ปี ที่ไม่มีชื่อในระบบการศึกษาจำนวน 982,304 คน แม้จะลดลงจากปีก่อน แต่ยังมีเด็กที่หลุดออกจากระบบต่อเนื่องกว่า 590,557 คน และกลุ่มใหม่อีก 391,747 คน โดยเฉพาะวัยเรียนภาคบังคับที่มีมากกว่า 387,591 คน”นายไกรยส กล่าว

นายไกรยส กล่าวต่อว่า กสศ.เสนอ 2 นโยบายแก้ปัญหา ได้แก่ 1.สร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาตลอด 20 ปี ผ่านการบูรณาการข้อมูลเด็กเยาวชนจาก 11 หน่วยงาน เพื่อให้ได้รับสวัสดิการอย่างมีประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการศึกษา 2.ยกระดับบัตรประชาชนเป็น Learning Passport เชื่อมโยงการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย พร้อมถ่ายโอนหน่วยกิตระหว่างระบบ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการจ้างงานในอนาคต


ด้านนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า จากการรายงานผลคะแนนการสอบของโครงการประเมินนักเรียนระดับนานาชาติ หรือ ปิซ่า จะเห็นได้ว่าในความเป็นจริงเด็กไทยสามารถแข่งขันอยู่ในระดับสูงได้ แต่ประเด็นที่ยังเป็นปัญหาอยู่คือเรื่องของความเหลื่อมล้ำคุณภาพของการจัดการศึกษาของแต่ละพื้นที่ รวมไปถึงเรื่องของงบประมาณจำนวนมากที่ต้องนำมาใช้ ในฐานะ ศธ.จะเห็นได้ว่าเวลามีนโยบายเกี่ยวกับการเรียนฟรีและมีข้อจำกัดของงบประมาณกับเงินอุดหนุน ก็จะถูกผู้ปกครองถามเกี่ยวกับนโยบายเรียนฟรีแต่ทำไมถึงยังต้องเสียค่าใช้จ่ายบางส่วนอยู่ตลอด

นายสิริพงศ์ กล่าวต่อว่า ในการจัดสรรงบประมาณแต่ละปี ทุกคนจะเห็นว่า ศธ.เป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณมากที่สุดกระทรวงหนึ่งแต่ในความเป็นจริง มีการของบประมาณไปมากกว่านั้น แต่ถูกตัดจนเหลือไว้พัฒนาคุณภาพการศึกษาเพียงแค่ 15 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 85 เปอร์เซ็นต์ เป็นเรื่องของค่าใช้จ่ายสำหรับบุคลากรทางการศึกษา หรืองบเงินเดือน

“ด้วยความที่มีจำกัด สิ่งที่ต้องทำให้ดีที่สุดคือการบริหารให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งศธ.พยายามบริหารให้เกิดภาระน้อยที่สุดอย่างนโยบายเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา หรือ Anywhere Anytime ที่ของบประมาณหลักหมื่นล้านก็แบ่งใช้เป็นระยะเวลา 5 ปี เพื่อให้เข้าถึงนักเรียนทุกคน ทั้งนี้หลายคนอาจจะตั้งคำถามกับหลักสูตรว่ามีความล้าหลังหรือไม่ ขณะเดียวกันก็จะต้องตั้งคำถามกลับว่า เด็กที่มีความเป็นเลิศทำไมถึงเรียนหลักสูตรเดียวกันได้ นโยบาย Anywhere Anytime จะทำให้การเรียนการสอนตอบโจทย์ในส่วนนี้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เรื่องของการปรับหลักสูตรให้ทันสมัยขึ้นนั้น ในปี 2568 จะมีการปรับลดกลุ่มสาระวิชาสำหรับเด็กประถมให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการปรับตัวชี้วัดของครูให้มุ่งเน้นไปที่ผลของการเรียนรู้มากกว่าการสอนครบหรือไม่ครบตามกลุ่มสาระการเรียนรู้”นายสิริพงศ์ กล่าว

นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.เชียงราย ในฐานะรองประธานกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร์ กล่าวว่า คุณภาพของเด็กไทยคือคุณภาพของประเทศไทยในอนาคต ต้องยอมรับว่าคุณภาพของคนในชาตินั้นมีความสำคัญ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติพ.ศ. 2542 ถือว่ามีความล้าหลังและควรจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขเช่นเดียวกับปัญหาสังคมไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ ซึ่งทุกคนต้องร่วมกันทำ ซึ่งเชื่อว่า หากกระจายอำนาจไปยังหน่วยปฏิบัติ จะสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า อยากกสศ. และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบ ให้ได้ภายใน 5 ปี โดยพบว่า ปัญหาหลักที่ทำให้เด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษา ส่วนใหญ่มาจากปัญหาเศรษฐกิจ ดังนั้นหากนำเทคโนโลยีมาใช้ในการติดตามเด็กในกลุ่มเสี่ยง เป็นรายบุคคล จะสามารถแก้ปัญหาที่ตนเหตุได้อย่างแท้จริง อีกเรื่องที่สำคัญคือ เงินอุดหนุน ซึ่งมีเท่าไรก็ไม่พอ แต่ถ้าสามารถติดตามข้อมูลเด็กเป็นรายบุคคลได้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามาช่วยสนับสนุน เพราะการศึกษาไม่ใช่ภาระของรัฐ แต่ทุกคนสามารถช่วยได้

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาชน กล่าวว่า การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นภารกิจของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้แม้ว่าไทยจะลงทุนกับการศึกษาเป็นเงินจำนวนไม่น้อยแต่งบประมาณที่ลงทุนไปยังไปไม่ถึงผู้เรียนเท่าที่ควร ซึ่งเมื่อไปดูโครงสร้างของงบประมาณจะพบว่ากว่า 60 เปอร์เซ็นต์ เป็นค่าใช้จ่ายของบุคลากร มีเพียงแค่ 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นงบอุดหนุนสำหรับผู้เรียน และอีก 10 เปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องของนโยบายทางการศึกษา ฉะนั้นโจทย์ที่สำคัญคือควรมีการคิดทบทวนการแบ่งสัดส่วนให้ดีขึ้น หากมีการทบทวนในส่วนของบุคลากรทางการศึกษา ไม่ใช่ว่าประเทศไทยมีครูมากเกินไป แต่อาจต้องไปดูระบบโครงสร้าง ที่ทำงานซ้ำซ้อนมากเกินไป

“ในส่วนของงบประมาณ ที่ผ่านมาจะเห็นว่าโครงการจากส่วนกลางหลายอย่างที่เมื่อไปถามครูและนักเรียนกลับไม่ได้ส่งผลเท่าที่ควร ฉะนั้นถ้าปรับลดงบนโยบายที่ไม่จำเป็นออกไปได้ เชื่อว่า จะทำให้การจัดสรรดีขึ้น อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญคือการกระจายงบที่ไม่เสมอภาค เนื่องจากในปัจจุบันยังใช้การกระจายงบแบบรายหัว ซึ่งทำให้งบอุดหนุนของโรงเรียนขนาดเล็กมีความเสียเปรียบ ฉะนั้นควรจะมีหลักเกณฑ์ในการให้งบแบบใหม่ ทั้งนี้ในโรงเรียนหลายแห่งอาจจะอยากได้เงินมาพัฒนาส่วนอื่นมากกว่าการทำตามนโยบาย จึงควรจะมีการทบทวนการกระจายอำนาจให้โรงเรียนได้ตัดสินใจมากขึ้นด้วยหรือไม่เช่นกัน ส่วนนโยบายเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งมุ่งเน้นให้เด็กได้เรียนรู้ทุกที่เป็นสิ่งที่ดี แต่อยากให้มองย้อนไปที่หลักสูตรของไทยที่ยังถูกมองว่าล้าสมัยหากผลิตสื่อการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงกับหลักสูตรเดิมอยู่ รวมถึงการให้ความสำคัญกับการศึกษานอกระบบโรงเรียน เพราะ การศึกษาในรูปแบบต่างๆอาจมีความเหมาะสมต่อเด็กแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.