ครั้งที่ 4 ในโลก ครั้งแรกบนแผ่นดินไทย SAMVAD ‘สัมวาทะ’ ถกแก่นธรรม นำสันติภาพโลก ‘ด้วยจิตอันบริสุทธิ์’
ภูษิต ภูมีคำ February 06, 2025 09:43 PM

ครั้งที่ 4 ในโลก ครั้งแรกบนแผ่นดินไทย
SAMVAD ‘สัมวาทะ’
ถกแก่นธรรม นำสันติภาพโลก ‘ด้วยจิตอันบริสุทธิ์’

ท่ามกลางความผันผวนแห่งยุคสมัยใหม่

คนทั่วโลกกำลังเผชิญความขัดแย้ง บนความตึงเครียดของสงคราม ที่มีการช่วงชิงทางภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามการค้าอย่างแข็งขัน อีกทั้งยังลุกลามมาจนถึงการเผชิญปัญหาถาโถมเข้ามาประชิดตัว จากสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม ที่ย่ำแย่ลงจวนจะแตะจุดวิกฤต

ทว่าศตวรรษที่ 21 กลับพร้อมเป็น ‘ศตวรรษแห่งเอเชีย’

เมื่อโลกกำลังเล็งเห็นคุณค่าและปรัชญาของอารยธรรมเอเชีย ซึ่งใช้ธรรมะในการรักษาจิตสำนึกของมนุษย์ให้หลีกเลี่ยงความขัดแย้งและปลูกฝังจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงการพึ่งพาต่อกันระหว่างธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตทุกชนิด โดยการยอมรับหลักธรรมคำสอนที่ ‘เป็นธรรมชาติ’ และ ‘เป็นปกติ’

กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดการประชุม ‘SAMVAD’ คำภาษาสันสกฤต ที่หมายถึง การสนทนา หรือการพูดคุยร่วมกัน และยังเป็นแนวคิดที่มุ่งเน้นความเข้าใจ และการสร้างสันติสุขผ่านการสนทนา และการแลกเปลี่ยนความคิด

ซึ่งในภาษาบาลีนั้นเทียบเคียงกับคำว่า ‘สัมวาทะ’ ที่หมายถึง การสนทนา หรือการพูดคุยอย่างสร้างสรรค์ สัมวาทะ อาจใช้ในบริบทการสนทนาเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง การแลกเปลี่ยนความรู้ และการพูดคุยอย่างเปิดใจ

ล่าสุด Vivekananda International Foundation India (VIF) ร่วมกับ สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980, ศูนย์อินเดียศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, International Buddhist Confederation (BC), Japan Foundation-Japan (TBC) และ มูลนิธิวีระภุชงค์ จัดงานแถลงข่าวการจัดงานประชุม SAMVAD ครั้งที่ 4 ในหัวข้อ “ศตวรรษแห่งเอเชียของธรรมะ-ธรรม” ณ บริษัท ไทยนครพัฒนา จำกัด เมื่อ
วันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา

นับว่าเป็นความร่วมมืออย่างแน่นแฟ้นระหว่างองค์กรจาก 2 ประเทศ ทั้งไทย-อินเดีย ที่ครั้งนี้ได้มอบหมายให้เราเป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดการประชุม SAMVAD ครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นการจัดครั้งแรกในประเทศไทย

พร้อมชูแนวคิดของการมองเห็นบทบาทสำคัญของ ภูมิภาคเอเชีย ในฐานะของผู้นำโลกยุคใหม่ โดยนำหลักคำสอนและปรัชญาโบราณของหลักธรรม มาเป็นแนวทางในการสร้างโลกที่มี มนุษยธรรม เมตตาธรรม และ ความยั่งยืน ต่อไปในอนาคต โดยเน้นย้ำไร้นัยยะทางการเมือง

⦁ชูแก่นธรรม-มนุษยธรรม ต่อเทียนสว่างไสวในใจผู้คน

ดร.สุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 เริ่มต้นด้วยการย้อนความเป็นมาว่า การทำงานร่วมกับสถาบันคลังปัญญาของอินเดีย โดยเฉพาะ VIF เกิดขึ้นระหว่างงานธรรมยาตราครั้งที่ 4 ลุ่มน้ำโขงสู่มหานทีคงคา ประกาศศตวรรษแห่งธรรม ณ แดนพุทธภูมิ สาธารณรัฐอินเดีย

“การประกาศศตวรรษแห่งธรรม ได้รับฉันทานุมัติจากรัฐบาลอินเดีย และสถาบันคลังปัญญาหลายแห่ง โดยศตวรรษแห่งธรรม มิได้จำกัดอยู่เพียงหลักธรรรมของพุทธศาสนาเท่านั้น แต่หมายถึง หลักธรรมของทุกศาสนาในโลก ซึ่งต่างก็มีหลักธรรมร่วมกัน

โดยเฉพาะ หลักมนุษยธรรม ส่งเสริมการสร้างสันติภาพ การแก้ไขวิกฤตร่วมกันของมวลมนุษยชาติ ทั้งด้านการเมือง ความเหลื่อมล้ำทางเศรฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อนำโลกในศตวรรษใหม่ไปสู่ความปรองดอง สันติภาพ และความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” ดร.สุภชัยชูสาระสำคัญ

ก่อนโชว์ความมุ่งมั่นต่อว่า ความฝันของพวกเราชาวสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 และทาง Think Tank อินเดีย ที่เห็นพ้องต้องกันว่า เราอยากจะเห็นแผ่นดินนี้กลับมาเป็นเหมือนอดีตที่เรียกว่า อินโดจีน จากทั้งความเชื่อ ปรัชญา วัฒนธรรมและศาสนา มาจากอินเดียและเราก็เป็นสายเลือดของการค้ามาจากจีนด้วย

“การจัดงานครั้งนี้ถือว่าเป็นความร่วมมือด้วยจิตที่บริสุทธิ์ของพวกเราชาวโพธิคยา และจิตที่บริสุทธิ์ของผู้บริหาร VIF โดยที่ไม่มีการเมืองแอบแฝง ที่อยากจะเห็นหลักธรรมเผยแผ่เหมือนการต่อเทียนออกไปให้สว่างไสวทั่วดินแดนลุ่มน้ำโขง ลุ่มมหานทีคงคา

รวมถึงลุ่มน้ำอื่นๆ ในอนาคต เช่น ลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง ฮวงโห ซึ่งก็เป็นดินแดนประเทศจีน เกาหลี ไต้หวัน รวมถึงเปอร์เซีย ยุโรป และอเมริกาต่อไป เพราะทุกอย่างที่ทำวันนี้ ลึกๆ แล้วมันอยู่ในจิตใจของมนุษย์ทุกผู้ ทุกนาม ทุกชาติ ทุกศาสนา นั่นคือ มนุษยธรรม” ดร.สุภชัยฉายภาพอย่างหนักแน่น

⦁เวทีแห่งการเปลี่ยนและรับฟัง สร้างสันติสุขเพื่อมวลมนุษยชาติ

ด้าน นาเกช ซิงห์ เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย เล่าว่า การทำงานของ Vivekananda International Foundation (VIF) ในฐานะ Think Tank หรือสถาบันคลังปัญญาระดับแนวหน้าของอินเดีย มีภารกิจและบทบาทสำคัญ คือการวิจัยและนโยบายสนับสนุนรัฐบาลอินเดียในด้านความมั่นคงระดับชาติ

รวมถึงการจัดเสวนา การจัดประชุมเกี่ยวกับ ประเด็นสำคัญทางยุทธศาสตร์ และการแพร่ความรู้ด้านการป้องกันประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดย VIF ยังมีบทบาทสำคัญในฐานะ สถาบันคลังปัญญาของอินเดียโดยมีการเชื่อมโยงกับผู้นำ นักวิชาการ และนักคิดเชิงยุทธศาสตร์ทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติ

จากนั้น แสดงแก่นสำคัญของพุทธศาสนาว่า หลักธรรมะสำหรับเรานั้น ไม่ได้ขึ้นตรงกับเพียงศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่เป็นวิถีทางในการอยู่ร่วมกันของ มนุษยชาติและการปฏิบัติต่อผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมนุษยชาติ กับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมันเกี่ยวกับการที่เราจะอยู่กับสัตว์โลกกันอย่างสันติสุขได้อย่างไรบนโลกใบนี้ด้วย

“เวทีนี้จะเป็นการพูดคุยและรับฟังซึ่งกันและกัน และทำให้โลกนี้มันดีขึ้น โดยเฉพาะการที่จะจัดการประชุม SAMVAD ครั้งนี้ที่ประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีพื้นที่ในการรับฟังซึ่งกันและกันอย่างสงบสุข มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนา รวมถึงการสร้างความยั่งยืน

ผมคิดว่า ตอนนี้มนุษยชาติกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสภาพอากาศแปรปรวน โลกร้อน หรือความขัดแย้งด้าน Geo-Politics ก็จะถูกหยิบยกมาเป็นท็อปปิกรับฟังและแลกเปลี่ยนกันในการประชุม SAMVAD ครั้งนี้ เพื่อหาแนวทางให้มนุษยชาติก้าวต่อไป” นาเกชร่วมไขทางออก

⦁ฟังให้มาก ฟังให้ลึก ฟังให้ถึง ยกหลักธรรมแก้ปัญหาขัดแย้งสากล

ปิดท้ายด้วย พระเมธีวรญาณ ประธานกรรมการบริหารสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 และคณบดีคณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จะมีหลากหลายประเทศ ทั้งที่นับถือพระพุทธศาสนา และไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนาเข้าร่วมประชุม

ฉะนั้นการประชุม SAMVAD ถือว่าเป็นคำที่มีความหมายในเชิงของการสร้างสรรค์บนเวทีเพื่อการพูดคุย ซึ่งท่านเอกอัครราชทูตอินเดียก็ย้ำอยู่เสมอว่า SAMVAD ก็คือ ไดอะล็อก หรือการพูดคุยกัน โดยเฉพาะหลักของพระพุทธศาสนา ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ได้ทรงแสดงไว้ชัดเจนว่า ความเป็นมงคล หรือการแก้ปัญหาทั้งหลายทั้งปวง

“เราจะต้องมีเวทีของการพูดคุย และต้องเป็นการพูดคุยสัตบุรุษ ผู้รู้ นักปราชญ์ ผู้ที่มีความเข้าใจ และผู้ที่อยากจะแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง แบบปัณฑิตานัญจะ เสวะนา ซึ่งเป็นการพูดคุยในลักษณะของบัณฑิต เป็นมงคลอันสูงสุด” พระเมธีวรญาณระบุ

ก่อนจะลงลึกถึงรากในการประชุมครั้งนี้ ด้วยการยกคำว่า ‘SAMVAD’ ที่พอแปลออกมาเป็นภาษาไทย ถือว่าเป็นคำที่ดีมาก เพราะต้องการแก้จากคำว่า วิวาทะ มาเป็น ‘สัมวาทะ’ ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ทั้งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในโลก ในสังคมวงกว้าง สังคมวงแคบ หรือแม้กระทั่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นข้างในตัวเรา เช่น บางทีใจเราก็อยากจะทำอย่างหนึ่ง แต่ความต้องการทางร่างกาย หรือความจำเป็นทางร่างกาย บีบบังคับให้เราต้องทำอีกอย่างหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นความขัดแย้งเช่นเดียวกัน

“ปัญหาเหล่านี้จะยังคงมีอยู่ตลอดไป เพราะความทุกข์นั้น คือ ปัญหา เป็นสารตั้งต้นของความเป็นมนุษย์อยู่แล้ว แต่เรามีหน้าที่มาแก้ไขปัญหา และวิธีการในการแก้ปัญหาเราจะใช้วิธีการแก้ปัญหา ที่หลายหน่วยงาน หลายองค์กร ทั้งรัฐบาล เอกชน และคนทั่วไป ก็ได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหามามากมายหลายวิธี

เราก็เห็นว่าวิธีการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น ไม่มีทางยั่งยืนหรือเป็นไปได้ยาก ถ้าตราบใดเรายังไม่นำเอาธรรมะมาใช้กันอย่างแท้จริง ฉะนั้นเวที SAMVAD จึงถือว่าเป็นเวทีที่จะทำให้คนทั้งหลายได้ตระหนักถึงความสำคัญของหลักในพระพุทธศาสนา” พระเมธีวรญาณฉายให้เห็นภาพ

จากนั้น เริ่มแสดงให้เข้าใจถึงหลักคำสอนว่า ตามจริงแล้วเราจะไม่อยากจะเน้นย้ำในหลักพระพุทธศาสนาอย่างเดียว ด้วยว่าเพื่อนพี่น้องในโลกนี้ก็มีหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา ที่มีหลากหลายความเชื่อทางวัฒนธรรมและประเพณี

แต่พอเราพูดถึงธรรมะ ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ได้นิยามความหมายของธรรมะไว้มากมายหลายประการ เพื่อนำไปใช้ให้มากมายและหลากหลายบริบท โดยเฉพาะการมีความหมายที่หลากหลายเหมาะกับการนำไปใช้อย่างเป็นวงกว้าง

“ไม่ว่าศาสนาหรือลัทธิใด ความเชื่อจะตีความธรรมะอย่างไรก็ตาม แต่ท้ายที่สุดก็จะเชื่อมโยงถึงความหมายที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ ไม่ได้ต้องการที่จะเป็นเจ้าของความหมายของคำว่า ธรรมะ แต่ต้องการให้คำว่า ธรรมะ มีความสากลเหมาะกับคนทุกคนในโลกใบนี้ สามารถที่จะเอาไปใช้ได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจว่าเป็นของศาสนาใด แต่มันคือสมบัติของมนุษยชาติ

ดังนั้น ถ้าเราพูดถึงการประชุม SAMVAD พูดง่ายๆ คือ การคบหากับสัตบุรุษ ที่มีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหา การรับฟังซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการประชุม แม้ว่าชื่อจะบอกว่า การประชุม การแสดงความคิดเห็น หรือการอภิปรายก็ตามที แต่การประชุม SAMVAD ก็คือการฟังให้มาก ฟังให้ลึก ฟังให้ถึง และฟังให้เข้าใจ

ถ้าเราฟังกันมากๆ แล้วก็จะตกผลึกความคิดว่า ปัญหาที่แท้จริงคืออะไร ก็จะสามารถที่จะแก้ไขปัญหา ได้อย่างถูกต้อง ถูกวิธี” พระเมธีวรญาณร่วมจุดเทียนส่องแสง ชี้แนะหาทางออก

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.