มกอช. ผสานความร่วมมือ อย.-สศก.-กรมอนามัย ชี้แจงแนวทางการดำเนินงานคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทยระดับจังหวัด
วันที่ 7 ก.พ.68 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และกรมอนามัย ร่วมกันจัดประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทยระดับจังหวัด เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทยระดับจังหวัด ในปีงบประมาณ 2569
นางสาวปรียานุช ทิพยะวัฒน์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการร่วมในคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ร่วมกับนายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมด้วยนายยุคล ลิ้มแหลมทอง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและภูมิภาคตามองค์ประกอบของคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทยระดับจังหวัด ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานกรรมการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด และท้องถิ่นจังหวัด ทุกจังหวัด ในฐานะเลขานุการร่วม พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร ชั้น 1 อาคาร 1 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรับทราบแนวทางการดำเนินงานคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทยระดับจังหวัด และแนวทางการขับเคลื่อนแผนงาน โครงการสำคัญภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 - 2570) ในระดับพื้นที่
โดยเฉพาะความสำคัญของความมั่นคงอาหารและโภชนาการ และวิธีปฏิบัติงานตาม(ร่าง) คู่มือการปฏิบัติงาน แนวทางและขั้นตอนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทยระดับจังหวัด เพื่อให้การบูรณาการของการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย (พ.ศ. 2566 - 2570) ภายใต้พระราชบัญญัติคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ. 2551 ในระดับจังหวัดสามารถดำเนินการไปปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพ และบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง ด้านอาหารและโภชนาการอย่างยั่งยืน เป็นแหล่งอาหารที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการ และผู้บริโภค มีพฤติกรรมการบริโภคที่เหมาะสม” และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals, SDGs) ต่อไป