พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ปาฐกถาพิเศษ ย้ำรัฐบาลไทย มุ่งมั่นยกระดับมาตรฐานการทำงานของกระบวนการยุติธรรม เคารพสิทธิมนุษยชนของบุคคลตามหลักนิติธรรม
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 7 ก.พ.2568 ที่สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศ (TIJ) แจ้งวัฒนะ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ปาฐกถาพิเศษ Thailand Rule of Law Fair : Investing in the Rule of Law for a Sustainable Future ภายในงานแฟร์เพื่อความแฟร์ จัดโดย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศ (TIJ) เครือข่ายผู้นำด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (RoLD) องค์กร the World Justice Project และสำนักข่าว The Standard
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า รัฐบาลไทย โดยกระทรวงยุติธรรม มีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับมาตรฐานการทำงาน ของกระบวนการยุติธรรม ให้ตอบโจทย์ประชาชน และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ตามที่ OECD คาดหวังและคงหลักการ การธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม เพื่อราษฏรได้รับความยุติธรรมอย่างทั่วถึงปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความยากจน ปัญหายาเสพติด ปัญหาการคอรัปชั่น หรือปัญหาอื่นๆที่ร้ายแรงในสังคม เป็นเพียงปลายเหตุเพราะต้นเหตุของปัญหานั้น แท้จริงแล้วเกิดจากความไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นต้องสร้างความเป็นประชาธิปไตยขึ้นมาให้ได้
รวมทั้ง ต้องมีความยุติธรรม แม้คำว่า “ความยุติธรรม” จะเป็นคำยากต่อการกำหนดนิยาม และเป็นนามธรรมระดับสูงก็ตาม แต่ความยุติธรรมจัดเป็นความคิดพื้นฐานที่มีความสำคัญยิ่งสำหรับการอยู่ร่วมกันในสังคมหรือการรวมตัวเข้าด้วยกันในสังคม สังคมที่ขาดความยุติธรรมย่อมต้องประสบปัญหาความทุกข์ ความเดือดร้อนของทั้งผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง เกิดมาเป็นมนุษย์จะยากดีมีจน มีฐานะร่ำรวยหรือยากจน แต่ค่าของชีวิตเท่ากันหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดในการสร้างความรักความสามัคคี คือ การอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นให้จงได้
ยุคปัจจุบันของประเทศไทย เรียกว่า เป็นยุคที่รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนญ กฎหมายและหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ และความผาสุกของ ประชาชนโดยรวม ดังนั้น การตรากฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย ต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้
พ.ต.อ.ทวี ยังได้กล่าวยกตัวอย่าง นโยบายสำคัญของกระทรวงยุติธรรมที่กำลังผลักดัน จากการเริ่มทำกระบวนการปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานไทย และ The World Justice Project ในช่วงปลายปีที่แล้ว สะท้อนให้เห็นข้อค้นพบที่น่าสนใจหลายประการ ที่ยืนยันกับประเด็นที่กระทรวงยุติธรรมกำลังผลักดัน โดยเฉพาะเรื่องนโยบายอำนวยความยุติธรรมไปสู่ประชาชน บนหลักการความยุติธรรมกับคนไทยทุกคนอย่างทั่วถึงและทั่วหน้าเท่าเทียมกัน เป็นที่พึ่งแห่งแรกให้กับประชาชน มาตรการที่ได้ทำทันที
นอกจากนี้ ยังแก้ไขปัญหาลูกหนี้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และเป็นหนี้นอกระบบโดยใช้กลไกยุติธรรมชุมชนและยุติธรรมจังหวัด นำความยุติธรรมไปถึงชาวบ้าน การแก้ไขปัญหาคนไร้สัญชาติ ซึ่งมีมากกว่าแสนคนในประเทศไทย ด้วยความร่วมมือของทุกหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรม รวมทั้งการพัฒนานโยบายทางอาญาที่ช่วยยกระดับประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมและรับฟังเสียงของประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า พ.ต.อ.ทวี ยังกล่าวถึงการเพิ่มการใช้มาตรการทางเลือกแทนการจำคุก ตั้งอยู่บนปรัชญาการลงโทษแบบได้สัดส่วน สอดคล้องกับความร้ายแรงของการกระทำผิด หลักการนี้มีรากฐานมาจากการเคารพสิทธิมนุษยชนของบุคคลตามหลักนิติธรรม โดยปัจจุบันกระทรวงยุติธรรมให้ความสำคัญกับ การคุมประพฤติที่มีประสิทธิภาพ การใช้สถานที่อื่นในการคุมขังแทนเรือนจำและมาตรการเชิงสมานฉันท์ที่ให้ชุมชนและผู้เสียหายได้มีส่วนร่วม
โดยเราเชื่อว่ามาตรการต่างๆเหล่านี้จะช่วยลดความแออัดในเรือนจำ และลดการใช้โทษจำคุกที่ไม่จำเป็นได้ รวมถึงการปฏิรูประบบงานราชทัณฑ์โดยเฉพาะในคดียาเสพติด มุ่งเน้นการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด การฝึกอาชีพ การศึกษา และการฟื้นฟูสภาพทางสังคม รวมทั้งมีระบบติดตามดูแลช่วยเหลือเพื่อไม่ให้กลับไปสู่วงจรยาเสพติดอีก
จากนั้น พ.ต.อ.ทวี ได้เดินเยี่ยมชมนิทรรศการของหน่วยงานภาคีเครือข่าย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศ และหน่วยงานต่างๆในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ในงานแฟร์เพื่อความแฟร์ด้วย ก่อนเดินทางกลับกระทรวงยุติธรรม