ชาวนา มั่นใจประมูลข้าวรัฐ 10 ปี ปริมาณ 15,000 ตัน ไม่กระทบต่อราคาข้าวของชาวนา เพราะปริมาณที่ออกมาจำนวนไม่มาก ส่วนผู้ชนะจะนำไปขายในประเทศหรือต่างประเทศขอไม่ระบุ พร้อมจับตา วันที่ 17 มิถุนายน 2567 ผู้ประมูล 7 รายที่ผ่านคุณสมบัติยื่นซองเสนอราคาข้าว
วันที่ 14 มิถุนายน 2567 นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เปิดเผยว่า การเปิดประมูลข้าวสารในสต๊อกของรัฐเป็นการทั่วไป ครั้งที่ 1/2567 ปริมาณ 15,000 ตัน ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการในขณะนี้ ชาวนามองว่าไม่มีผลกระทบต่อราคาข้าวของชาวนา หรือกระทบต่อราคาข้าวในตลาด เพราะปริมาณข้าวที่เปิดระบายนั้นปริมาณไม่มาก
ส่วนที่ผู้ชนะประมูลจะนำไปดำเนินการขายในประเทศหรือต่างประเทศ เรื่องนี้เป็นส่วนของผู้ประมูล คงไม่สามารถให้ความเห็นได้แต่มั่นใจว่าปริมาณข้าวที่ประมูลไม่มีผลต่อราคาข้าวในตลาดแน่นอน
ขณะที่ การเพาะปลูกข้าวของชาวนาหลานพื้นที่เริ่มทำการปลูกข้าวแล้ว เช่น ภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคเหนือ โดยมั่นใจว่าผลผลิตข้าวฤดูการผลิตปี 2567/68 ปริมาณผลผลิตข้าวจะดีผลผลิตจะเพิ่มขึ้นประมาณ 30 ล้านตันข้าวเปลือก ดูจากการประเมินน้ำฝนและน้ำในเขื่อน คาดว่าจะเพียงพอต่อการเพาะปลูกข้าว นอกจากนี้ ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการข้าว (นบข.) เห็นชอบ โครงการช่วยเหลือชาวนา ปุ๋ยคนละครึ่ง ก็เชื่อว่าจะช่วยลดต้นทุนให้ชาวนาได้ และจะทำให้ชาวนามีรายได้ที่เพิ่มขึ้นเพราะต้นทุนลดลง ขณะนี้ ราคาข้าว ข้าวขาวราคาเฉลี่ย 11,000-12,000 บาทต่อตันข้าวเปลือก ซึ่งถือว่าดี
สำหรับสถานการณ์ข้าวไทย ผลผลิตข้าว ปี 2566/67 ผลผลิต 33.05 ล้านตัน ลดลง 0.58 ล้านตันข้าวเปลือก เป็นข้าวนาปี 26.83 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้น 0.12 ล้านตันข้าวเปลือก ข้าวนาปรัง 6.22 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลง 0.70 ล้านตันข้าวเปลือก
โดยราคาข้าวไทย ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2567 ข้าวทุกชนิดราคาสูงกว่าปีที่ผ่านมา ข้าวเปลือกทุกชนิดราคาสูง เนื่องจากรัฐบาลเร่งรัดการส่งออกเพิ่มขึ้น และช่วง มี.ค.-เม.ย. 2567 อากาศร้อนจัดผลผลิตออกน้อย ความต้องการซื้อจากในประเทศและต่างประเทศมีต่อเนื่อง มีผลต่อราคาข้าว
ราคาข้าวเปลือกต่อตันความชื้น 15% เทียบปีก่อน ข้าวหอมมะลิ 15,000-16,500 บาท เพิ่มขึ้น 8% ข้าวปทุมธานี 14,600-16,000 เพิ่มขึ้น 35% ข้าวเจ้า 11,700-12,600 เพิ่มขึ้น 20% และข้าวเหนียว 13,800-14,600 เพิ่มขึ้น 8%
การส่งออกข้าวไทย (ม.ค.-เม.ย. 2567) ส่งออก 3.40 ล้านตัน คิดเป็น 43% ของเป้าหมาย 8.03 ล้านตัน การส่งออกเทียบปีก่อนมีสัดส่วน ดังนี้ ข้าวขาว 65% ข้าวหอมมะลิไทย 16% ข้าวนึ่ง 9% ข้าว หอมไทย 6% ข้าวเหนียว 3% ข้าวกล้อง 1%
รายงานข่าวจากองค์การคลังสินค้า (อคส.) ระบุว่า เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2567 นายกฤษณรักษ์ ใจดี นักบริหาร 9 รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) ได้ประกาศรายชื่อผู้มีคุณสมบัติในการเสนอซื้อข้าวสารในสต๊อกของรัฐเป็นการทั่วไป ครั้งที่ 1/2567 หลังจากที่เปิดให้ผู้สนใจยื่นซองเอกสารคุณสมบัติ เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา
โดยมีจำนวนผู้ประกอบการที่สนใจยื่นซองทั้งสิ้น 8 ราย ผลการตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้น มีผู้ผ่านการตรวจสอบจำนวน 7 ราย และไม่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นจำนวน 1 ราย ทั้งนี้ หากปรากฏในภายหลังว่าเอกสารคุณสมบัติซึ่งผู้เสนอซื้อยื่นไม่ถูกต้องหรือมีข้อความอันเป็นเท็จ จะถือว่าผู้เสนอซื้อรายนั้นเป็นผู้ขาดคุณสมบัติมาตั้งแต่ต้น
หลังจากผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว กำหนดให้ผู้เสนอซื้อยื่นซองเสนอซื้อ ณ ห้องประชุมองค์การคลังสินค้า (10601) ชั้น 6 ในวันที่ 17 มิ.ย. 2567 และจะเปิดซองราคาในวันเดียวกัน
สำหรับผู้ผ่านคุณสมบัติ 7 ราย ได้แก่ 1.บริษัท วีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง จังหวัดกำแพงเพชร 2.บริษัท ธนสรร ไรซ์ จำกัด จังหวัดชัยนาท 3.บริษัท อุบลไบโอเกษตร จำกัด จังหวัดอุบลราชธานี 4.บริษัท เอส.เอส.เอ็ม.อาร์.การเกษตร จำกัด จังหวัดนครสวรรค์ 5.บริษัท ทรัพย์แสงทองไรซ์ จำกัด จังหวัดสุพรรณบุรี 6.บริษัท สหธัญ จำกัด จังหวัดนครปฐม 7.บริษัท บี เอ็น เค การเกษตร 2024 จำกัด จังหวัดนครสวรรค์ ส่วนบริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) จังหวัดอุบลราชธานี ไม่ผ่านคุณสมบัติ
สำหรับรายละเอียดข้าวที่จะนำมาเปิดประมูล มีปริมาณ 15,000 ตัน แยกเป็น 1.คลังกิตติชัย หลัง 2 (ข้าวหอมมะลิ 100%) รวม 26,094 ตัน หรือ 258,106 กระสอบจาก 24 โรงสี และได้ระบายข้าวสารแล้ว 3 ครั้ง คงเหลือ 11,656 ตัน หรือ 112,711 กระสอบ 2.คลัง บจก.พูนผลเทรดดิ้ง หลัง 4 (ข้าวหอมมะลิ 100%) ปริมาณ 9,567 ตัน หรือ 94,637 กระสอบ ซึ่งระบายข้าวสารแล้ว 4 ครั้ง คงเหลือ 3,356 ตัน หรือ 32,879 กระสอบ