นาข้าว-สวนยาง-สวนปาล์ม กระทบร้อนแล้งลากยาว ชาวนาหวั่นทำ “นาปรัง” ไม่ได้ ฝนยังไม่ตก น้ำเค็มหนุนสูง ขณะที่สวนยางพาราเริ่มเปิดฤดูกรีด แต่ฝนยังไม่ตก กรีดไปไม่มีน้ำยาง ด้านสวนปาล์มเปอร์เซ็นต์ของน้ำมันปาล์มคุณภาพต่ำลงมาก จากกว่า 18-20% เหลือ 16.5%
นายประจวบ เกตุนิ่ม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ข้าว ต.ควนขนุน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาวะร้อนแล้งจัดลากยาวมาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2567 จนถึงขณะนี้ ได้เกิดผลกระทบต่อภาคการเกษตรอย่างหนัก
โดยเฉพาะฤดูกาลปลูกข้าวนาปรังที่กำลังเริ่มเพาะปลูก เนื่องจากฝายต้นน้ำเหือดแห้ง ภาพรวมคาดว่ากระทบต่อพื้นที่การปลูกข้าวนาปรังในจังหวัดพัทลุง ถึง 50% ยกเว้นเขตชลประทาน ในส่วนของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ข้าว ต.ควนขนุน มีพื้นที่ทำนารวมกันประมาณ 600 ไร่ แต่ในปีนี้สามารถทำนาได้ประมาณ 100 ไร่ หายไป 500 ไร่ คิดเป็นมูลค่าหลายล้านบาท
“ตอนนี้จังหวัดพัทลุงมีฝนตกลงมาบ้าง แต่ไปตกลงเขตตัวเมืองมากกว่าพื้นที่เกษตรรอบนอก ขณะนี้ชาวนาแต่ละแปลงได้เตรียมไถพรวนพื้นที่ไว้พร้อมหมดแล้ว ถ้าฝนตกไม่เกินวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 จะสามารถลงพันธุ์ข้าวได้ทันที แต่หากฝนไม่ตกลงมาก็ต้องยุติไป เพราะน้ำมีไม่เพียงพอ”
สำหรับพื้นที่ทำนา จ.พัทลุง จากตัวเลขศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ซึ่งยังเป็นตัวเลขที่ยังไม่ได้ปรับปรุง มีประมาณ 148,013 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ทำนาปรัง 9 อำเภอ รวมจำนวน 25,526 ไร่ คิดเป็นมูลค่าการผลิตข้าวนาปรัง ประมาณ 29.75 ล้านบาท
แหล่งข่าวจากเจ้าของสวนยางในพื้นที่ภาคใต้เปิดเผยว่า เดือนพฤษภาคม 2567 เป็นฤดูกาลเปิดหน้ากรีดยาง แต่จากภาวะแล้งร้อนส่งผลให้บางพื้นที่ยังไม่มีฝนตกลงมา ทำให้ชาวสวนยังไม่เปิดหน้ากรีด เพราะกรีดไปก็ไม่มีน้ำยาง โดยน้ำยางสดหายไปถึง 2 ใน 3 แต่หากได้รับน้ำฝนที่ดี ปริมาณน้ำยางจะออกมามาก เพราะใบยางมีความสมบูรณ์มาก แต่บางพื้นที่ฝนตกลงมาบ้าง ชาวสวนสามารถเปิดกรีดยางได้บ้างแล้ว
เจ้าของสวนปาล์มน้ำมันในภาคใต้กล่าวว่า จากภาวะที่แล้งร้อนจัดลากยาว ส่งผลกระทบต่อเปอร์เซ็นต์ของน้ำมันปาล์มคุณภาพต่ำลงมาก เหลือประมาณ 16.5% จากกว่า 18-20% ได้ส่งผลกระทบทำให้ราคาลดต่ำลง โดยราคาเคลื่อนไหวอยู่ที่ 4.20 บาท/กก. จากเดิมราคา 6 บาทกว่า/กก. และประกอบปัจจัยอื่น ๆ ด้วย
นายสมศักดิ์ พาณิชย์ เจ้าของนาข้าว เจ้าของโรงสีทิพย์พานิช และประธานชมรมโรงสีขาว อ.ระโนด จ.สงขลา เปิดเผยว่า จากภาวะแล้งร้อนจัดลากยาว ได้ส่งผลกระทบต่อการทำนาปรัง ขณะเดียวกันน้ำเค็มหนุนสูง ทำให้ไม่สามารถนำน้ำมาทำนาได้
ทั้งนี้ อยากเสนอแนวทางให้ภาครัฐเข้ามาแก้ไขปัญหาน้ำเค็ม เพื่อสร้างอาชีพให้กับเกษตรกรประชาชนบริเวณทะเลสาบสงขลาได้อย่างยั่งยืน ใน 2 แนวทาง ได้แก่ 1.สร้างเขื่อนกั้นน้ำเค็มจากทะเลฝั่งอ่าวไทย เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเค็มเข้ามายังทะเลสาบสงขลา 2.ขุดลอกทะเลสาบสงขลาให้ลึกเพื่อสร้างเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ และ 3.เอาที่ดินจากที่ดูดและขุดลอกจากทะเลสาบ มากองเป็นเกาะกลางทะเลสาบสงขลา ทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติกลางทะเลสาบได้