นายกฯ อิ๊งค์ ปาฐกถาพิเศษ Global Soft Power Talk : The New Rules of Soft Power พลิกโฉมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ด้วยไอเดียระดับโลก ลั่น ไทยพร้อมเป็นผู้นำซอฟต์พาวเวอร์ ชวน ต่างชาติลงทุน อนาคตมั่นคง ไม่ใช่แค่ผลตอบแทนระยะสั้น
เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่สตูดิโอ 4 อาคารศูนย์ปฏิบัติการแพร่ภาพออกอากาศฯ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวปิดงานเสวนา Global Soft Power Talk : The New Rules of Soft Power โดยความร่วมมือ THACCA (ทักก้า)Thailand Creative Content Agency โดยมี นพ.สุรพงษ์ สืบวงลี รองประธานคณะที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ รัฐมนตรี เข้าร่วมรับฟัง
น.ส.แพทองธาร กล่าวปิดงานเสวนา Global Soft Power Talk : The New Rules of Soft Power ว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้กล่าวในงาน Global Soft Power Talk ที่จัดเป็นครั้งแรก เพราะเวทีนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของหนทางที่ประเทศไทยจะกำหนดบทบาทของตนเองบนเวทีโลกผ่าน ความคิดสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และนวัตกรรม
ขอแสดงความขอบคุณจากใจจริงต่อ THACCA และ Melco Resorts & Entertainment ที่ได้ร่วมกันจัดงานสำคัญนี้ขึ้น รวมถึงขอขอบคุณวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านทั้ง Alain Ducasse, Mathieu Lehanneur, Viviana Muscettola, Giuliano Peparini, Richard Christiansen และไมค์ ไวท์ ที่ได้มาร่วมแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ และวิสัยทัศน์ที่มีคุณค่าแก่พวกเรา
นายกฯ กล่าวว่า Soft Power ไม่ใช่แค่ทฤษฎี แต่เป็นพลังที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และโลกอย่างแท้จริง ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีประเพณี ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม มายาวนาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นผ่านทั้งงานศิลปะ อาหาร การต้อนรับ และวิถีชีวิตของเรา ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก แต่วันนี้เรากำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนที่สำคัญ
แม้ว่าประเพณีและวัฒนธรรมจะเป็นตัวกำหนดอัตลักษณ์ของเรา แต่ไม่ควรเป็นข้อจำกัดของอนาคตเรา ในอดีตโลกอาจรู้จักประเทศไทยเพียงแค่ดินแดนแห่งรอยยิ้ม หรือจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่งดงาม แต่วันนี้เรากำลังเดินหน้าสู่การเป็นผู้นำระดับโลกด้านความคิดสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และนวัตกรรม หลายทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเติบโตจากภาคการผลิต เกษตรกรรม และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่ปัจจุบันสิ่งเหล่านั้นไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ประเทศที่ลงทุนในด้านความคิดสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และศักยภาพของประชาชนจะเป็นประเทศที่มีอนาคต
น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ซอฟต์พาวเวอร์ ไม่ใช่เพียงแค่เครื่องมือสร้างอิทธิพลทางวัฒนธรรมหรือการเมือง แต่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ประเทศที่สามารถใช้ซอฟต์พาวเวอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เพียงแต่ขยายอิทธิพลในเวทีโลก แต่ยังสร้างงาน ดึงดูดการลงทุน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของตนไปข้างหน้าและนี่คือสิ่งที่ประเทศไทยกำลังมุ่งมั่นทำให้เกิดขึ้น
รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ แห่งชาติ และได้กำหนด 13 อุตสาหกรรมหลัก ที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อน ได้แก่ การท่องเที่ยว อาหาร ภาพยนตร์ แฟชั่น เทศกาล กีฬา ดนตรี ศิลปะ การออกแบบ เกม หนังสือ สุขภาพ และศิลปะการแสดง เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมเหล่านี้ ไม่สามารถเติบโตได้หากปราศจากบุคลากรที่มีศักยภาพ ซอฟต์พาวเวอร์ คือเรื่องของคน เราต้องสร้างโอกาสให้กับประชาชน ให้มีเครื่องมือ ทักษะ และความรู้ ในการเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ให้กลายเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจนี่จึงเป็นเหตุผลที่รัฐบาลได้เปิดตัวโครงการ One Family One Soft Power (OFOS) หนึ่งครอบครัวหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ เป็นโครงการระดับชาติที่มุ่งพัฒนาทักษะใหม่ให้กับประชาชนกว่า 20 ล้านคนภายในปี 2570 โดยมีหลักสูตรฝึกอบรมฟรีกว่า 100 หลักสูตร ครอบคลุมทั้งด้านการโรงแรม อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สื่อดิจิทัล การออกแบบ สุขภาพ และอื่น ๆ เราเชื่อว่าการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์จะช่วยให้รากฐานของการพัฒนายั่งยืน และสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก
ประเทศไทยได้รับการขนานนามว่าเป็น ครัวของโลก อาหารไทยเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนทั่วโลก ไม่เพียงแค่รสชาติที่อร่อย แต่ยังดีต่อสุขภาพ และเต็มไปด้วยมิติทางวัฒนธรรม แต่เราต้องก้าวไปให้ไกลกว่าการเป็นเพียงประเทศผู้ส่งออกอาหาร เราต้องยกระดับอาหารไทย ให้กลายเป็นแบรนด์ระดับโลกที่สะท้อนถึงศาสตร์แห่งโภชนาการ ความยั่งยืน และสุขภาพ อาหารไทยไม่ได้แค่อร่อย แต่ยังดีต่อสุขภาพ อาหารไทยไม่ใช่แค่มื้ออาหาร แต่มันคือประสบการณ์ทางวัฒนธรรม ด้วยเทคโนโลยีทางการเกษตรที่ก้าวหน้า ห่วงโซ่อุปทานที่ขับเคลื่อนด้วย AI และความโปร่งใสจากบล็อกเชน เราจะทำให้โลกจดจำอาหารไทยในฐานะนวัตกรรมที่มีคุณภาพ
ขณะเดียวกันประเทศไทยกำลังก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางแห่งสุขภาพระดับโลก เราเป็นผู้นำด้านการแพทย์และสุขภาพแบบองค์รวม ทั้ง นวดแผนไทย การแพทย์สมัยใหม่ และนวัตกรรมทางการแพทย์ ในราคาที่เข้าถึงได้ เรามุ่งหวังให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของสุขภาพ ไม่ใช่แค่สถานที่รักษาโรค แต่เป็นศูนย์กลางของการมีสุขภาพดี
โลกคือเวทีของเรา และประเทศไทยพร้อมที่จะแสดงศักยภาพของตน อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ศิลปะการแสดง และดนตรีของไทยกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วอุตสาหกรรมเกมของไทยกำลังก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดโลก อย่างไรก็ตามการมีแต่ความคิดสร้างสรรค์เพียงอย่างเดียวไม่พอ เราต้องรู้จัก การตลาด การประชาสัมพันธ์ และการนำสิ่งเหล่านี้ไปสู่ระดับโลกนี่คือเหตุผลที่ THACCA จึงมีบทบาทสำคัญ
THACCA เป็นสะพานเชื่อมระหว่างภาครัฐ เอกชน และนักลงทุนทั่วโลก เพื่อให้ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยเติบโตไปอย่างมั่นคง ซอฟต์พาวเวอร์ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงลำพัง แต่มันต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งรัฐบาลต่อรัฐบาล ธุรกิจต่อธุรกิจ รวมไปถึงนักสร้างสรรค์ และนักลงทุน
นายกฯ กล่าวว่า ขอบอกกล่าวไปยังพันธมิตรต่างประเทศว่า ประเทศไทยพร้อมเปิดรับโอกาสทางธุรกิจ โดยมาร่วมกันกำหนดอนาคตของซอฟต์พาวเวอร์มาลงทุนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย และเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ประเทศไทยไม่ได้เสนอผลตอบแทนระยะสั้น แต่เรานำเสนออนาคตที่มั่นคงและยั่งยืนไปด้วยกัน ซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ไม่ใช่เพียงแค่สิ่งที่เรามี แต่เป็นสิ่งที่เราสามารถเป็นได้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีทั้งวัฒนธรรม ที่อยู่เคียงคู่การเปลี่ยนแปลง ความสร้างสรรค์ และโอกาสทางเศรษฐกิจซึ่งเวลานั้นมาถึงแล้ว
ขอให้เราได้ทำงานร่วมกัน สร้างสิ่งใหม่ๆ ร่วมกัน และเติบโตไปด้วยกัน เพื่อให้ประเทศไทยได้มีที่ยืนในฐานะเป็นผู้นำของโลกด้านซอฟต์พาวเวอร์และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ขอบคุณ Lawrence ที่ให้การสนับสนุน THACCA ในการจัดงาน Global Soft Power Talk เราได้ฟังเคล็ดลับจากวิทยากร ได้เรียนรู้แนวคิดใหม่ๆ ซึ่งเป็นโอกาสดีสำหรับเราทุกคนในที่นี้ และผู้ที่รับชมอยู่บนออนไลน์ และขอบคุณ THACCA ที่ร่วมกันจัดงานนี้