เลือกตั้งเยอรมัน 2025 พลังเงียบที่สุดขั้ว
GH News February 24, 2025 11:20 PM

เลือกตั้งเยอรมัน 2025 พลังเงียบที่สุดขั้ว

ผลการเลือกตั้งเยอรมนีที่เพิ่งผ่านพ้นไป แสดงให้เห็น “พลังเงียบ” ที่ออกจากบ้านมาเลือกพรรคขวาจัด และอนุรักษ์นิยม  ทำให้ฝ่ายนิยมซ้าย รวมพลังไปเลือกพรรคฝ่ายซ้าย ผลการเลือกตั้งจึงออกมาอย่างแบ่งขั้ว เอื้อต่อชัยชนะของพรรคกลางขวา “ซีดียู//ซีเอสยู” CDU : Christian Democratic Union of Germany  และพรรคแนวร่วม CSU : Christian Social Union in Bavaria )ที่คว้า 208 ที่นั่ง การเติบโตของพรรคขวาจัด “เอเอฟดี (AFD : Alternative for Germany)ที่คว้า 152  ที่นั่ง  การฟื้นคืนชีพในโค้งสุดท้ายของพรรคฝ่ายซ้าย (The Left) ที่คว้า 64  ที่นั่ง

สวนทางฝันร้ายของ พรรคซ้าย-กลาง “เอสพีดี” (SPD :The Social Democratic Party of Germany) เหลือ 120 ที่นั่ง พรรคกรีน (Germany’s Green party)ที่คว้า 85   ที่นั่ง   การหมดสภาพของพรรคซ้ายจัดประชานิยม “บีเอสดับบริว” ( BSW :Sahra Wagenknecht Alliance) และพรรคเสรีนิยม  (FDP : The Free Democratic Party )ที่ต่างวืด ไม่ได้ที่นั่งเลย

ชาวเยอรมันกาบัตรอย่างไร

ใครที่ติดตามผลการเลือกตั้งเยอรมันจะสังเกตเห็นว่า จะมีการรายงาน 2 ตัวเลข คือ ตัวเลขจำนวนที่นั่งสส. และ “เปอร์เซนต์”ที่ได้รับเลือก ซึ่งตัวเลขที่สองจะเป็นตัวกำหนด ตัวเลขที่นั่งสส.ทั้งหมด

เมื่อชาวเยอรมันไปยังหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งตั้งอยู่ในโรงเรียนและอาคารสาธารณะอื่นๆ  พวกเขามีสิทธิ์ลงคะแนนสองครั้งครั้งแรกสำหรับผู้สมัครที่จะเป็นตัวแทนเขตเลือกตั้ง และครั้งที่สองสำหรับรายชื่อผู้สมัครของพรรคในระดับรัฐ

การลงคะแนนครั้งแรก สำหรับผู้สมัครโดยตรงที่ลงแข่งขันในเขตเลือกตั้งนั้นๆ จะกำหนดองค์ประกอบครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด เพื่อให้แน่ใจว่าแต่ละเขตมีตัวแทน การลงคะแนนครั้งที่สอง จะกำหนดความเข้มแข็งของพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร (บุนเดสทาก)

ภายใต้กฎหมายการเลือกตั้งของเยอรมนี พรรคการเมืองต้องได้รับคะแนนเสียงพรรค (คะแนนเสียงที่สอง) อย่างน้อย 5% จึงจะได้ที่นั่งในสภา บทบัญญัตินี้ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในปี 1953 โดยมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้พรรคเล็กๆ เข้าสู่รัฐสภาและทำให้เกิดความแตกแยก ซึ่งเคยเป็นปัญหาในสมัยสาธารณรัฐไวมาร์ ทำให้ยากที่จะสร้างเสียงข้างมากที่มีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้นสำหรับพรรคที่ชนะการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งอย่างน้อย 3 เขต: การชนะ 3 ที่นั่งแบบเขตจะทำให้พรรคนั้นได้รับการยกเว้นเกณฑ์ 5% ตัวอย่างเช่น ในปี 2021 พรรคฝ่ายซ้ายได้คะแนนเสียงที่สองเพียง 4.9% เนื่องจากผู้สมัครของพวกเขาชนะใน 3 เขตเลือกตั้ง

ข้อยกเว้นที่สองคือสำหรับผู้สมัครที่เป็นตัวแทนของชนกลุ่มน้อยที่ได้รับการยอมรับในเยอรมนี เช่น ชาวเดนมาร์กในชเลสวิก-โฮลสไตน์ หรือชาวซอร์บในแซกโซนี ต้องใช้คะแนนเสียงประมาณ 35,000 ถึง 38,000 คะแนนเพื่อชนะในเขตเลือกตั้ง ซึ่งเป็นจำนวนคะแนนที่ผู้แทนพรรคชนกลุ่มน้อยต้องได้รับเพื่อให้ได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเยอรมัน

ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็น พรรคบีเอสดับบริว  ที่ได้คะแนนถึง 2.4 ล้านเสียง และ พรรคเอฟดีพี   ที่ได้คะแนน 2.1 ล้านเสียง ไม่ได้ที่นั่งในสภาเลย เพราะในการโหวตรอบที่สอง ได้สัดส่วนเพียง 4.97 % และ 4.33 %   ไม่ผ่านเกณฑ์ 5 % ในขณะที่พรรคชื่อไม่คุ้นอย่าง เอสเอสดับบริว  (สมาคมผู้มีสิทธิเลือกตั้งชเลสวิกใต้) ที่ได้คะแนนเพียง 76,126 เสียงกลับได้ 1 ที่นั่ง เนื่องจาก เป็นตัวแทนของชนกลุ่มน้อยชาวเดนมาร์กและฟรีเซียน

การย้ายฐานเสียง: ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเปลี่ยนไปเลือกพรรคอื่นอย่างไร?

การเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงการสนับสนุนพรรคการเมืองของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดคือการย้ายออกจากพรรค เอสพีดี  ฝ่ายกลาง-ซ้าย ไปยังพรรคอนุรักษ์นิยม ซีดียู/ซีเอสยู ซึ่งดึงคะแนนเสียงประมาณ 2 ล้านคะแนนจากพรรคสังคมประชาธิปไตย (เอสพีดี)  ซีดียู/ซีเอสยู ยังได้ 1 ล้านเสียงจากพรรคเสรีนิยม และ 900,000 เสียงจากคนที่ไม่ได้ออกมาโหวตในการเลือกตั้งครั้งก่อน

พรรคฝ่ายซ้ายได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานเสียงทั้งจากพรรค เอสพีดี   และพรรคกรีน โดยได้รับคะแนนเพิ่ม 560,000 และ 700,000 คะแนนตามลำดับ

พรรคขวาจัด “เอเอฟดี”  เติบโตเท่าตัวรอบนี้ด้วย 2 ล้านเสียงจากคนที่ไม่ได้ออกมาโหวตในการเลือกตั้งครั้งก่อน  1 ล้านเสียง จากพรรคอนุรักษ์นิยม ซีดียู/ซีเอสยู   890,000 เสียงจากพรรคเสรีนิยม ได้แม้กระทั่งจาก จากพรรคซ้าย-กลาง “เอสพีดี”ถึง720,000 เสียง คือเป็นการสวิงจาก ซ้าย-กลาง มาขวาจัดก็เกิดขึ้นแล้ว

วัยรุ่นเลือกสุดขั้ว

คนหนุ่มสาวที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 24 ปี มีแนวโน้มที่จะเลือกพรรคสุดขั้วมากขึ้น โดยลงคะแนนให้กับพรรคเอเอฟดี  ฝ่ายขวาจัด21 %และพรรคฝ่ายซ้ายสัดส่วน 25 %  พรรคดั้งเดิมอย่าง พรรคเอสพีดี   (12 %) และ พรรคซีดียู//ซีเอสยู (13 %) ได้รับคะแนนเสียงต่ำที่สุดจากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่อายุน้อย

พรรคกรีน ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มคนหนุ่มสาวมาอย่างยาวนาน กลับได้รับคะแนนเสียงในเปอร์เซ็นต์ที่ต่ำที่สุดในกลุ่มอายุนี้ คือสัดส่วนเพียง 11 %  ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มีแนวโน้มที่จะเลือกพรรคเอสพีดี   และ พรรคซีดียู/ซีเอสยู มากกว่า

ผู้หญิงเลือกซ้าย ผู้ชายเลือกขวา

ผู้ชายมีแนวโน้มที่จะลงคะแนนเสียงแบบอนุรักษ์นิยมมากกว่าผู้หญิง โดยลงคะแนนให้กับพรรคซีดียู//ซีเอสยู และพรรคเอเอฟดีในสัดส่วนที่มากกว่า ในขณะที่ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะลงคะแนนให้กับพรรคเอสพีดี   พรรคกรีน และพรรคฝ่ายซ้ายมากกว่า โดยเมื่อนำพรรคแต่ละปีกมารวมกันแล้ว ผู้ชายจะเลือกพรรคปีกขวา (พรรคซีดียู//ซีเอสยู +พรรคเอเอฟดี) ในสัดส่วน 45 % เลือกปีกซ้าย (พรรคเอสพีดี   +พรรคกรีน+พรรคฝ่ายซ้าย+บีเอสดับบริว) 37 % ในขณะที่ผู้หญิง สัดส่วนจะเป็น 44 : 47

ความแตกต่างของคะแนนเสียงตามเพศมีเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ยกเว้นในกรณีของการลงคะแนนให้กับพรรคเอเอฟดีช่องว่างระหว่างเพศ อยู่ที่ 7% โดยผู้ชายเลือกในสัดส่วน 24 % ผู้หญิงเลือก 17 %   โดยในขณะที่ความแตกต่างระหว่างเพศสำหรับพรรคอื่นๆ อยู่ที่เพียง 2-3% เท่านั้น

ยิ่งเรียนสูง ยิ่งเลือกซ้าย

ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่วุฒิการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีมีแนวโน้มที่จะลงคะแนนเสียงแบบอนุรักษ์นิยมมากกว่า โดยพรรคซีดียู//ซีเอสยู และพรรคเอเอฟดี เป็นพรรคที่พวกเขาชื่นชอบ ตามมาด้วยพรรคเอสพีดี  และมีแนวโน้มที่จะเลือกพรรคเอเอฟดีมากกว่าผู้ที่มีการศึกษาสูงกว่าถึงสองเท่า ในขณะที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งชาวเยอรมันที่มีวุฒิการศึกษาสูงกว่ามีแนวโน้มที่จะเลือกพรรคกรีนและพรรคฝ่ายซ้ายมากกว่าผู้ที่มีการศึกษาระดับพื้นฐานมากกว่าสองเท่า

ทั้งหมดนี้คือ ที่มาของผลการเลือกตั้งครั้งสำคัญซึ่งจะกำหนดบทบาทของเยอรมันบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศที่ทวีความตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.