อ.ธงทอง ไขที่มา อั้งยี่ ในกฎหมายไทย ลักษณะแบบไหนเข้าเกณฑ์กระทำผิด
GH News February 25, 2025 01:11 AM

อ.ธงทอง ไขที่มา อั้งยี่ ในกฎหมายไทย ลักษณะแบบไหนเข้าเกณฑ์กระทำผิด

อั้งยี่ – สืบเนื่องจาก สมาชิกวุฒิสภาส่วนหนึ่ง ได้เดินหน้าตอบโต้กรณีที่มีการยื่นให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ ดีเอสไอ รับคดีฮั้วเลือกตั้งสว.ปี 2567 เป็นคดีพิเศษว่า​ จะให้ฝ่ายกฎหมาย รวบรวมข้อมูลเพื่อดำเนินการแจ้งความผู้ที่กล่าวหาทั้งภาครัฐและเอกชน​ ฐานทำให้วุฒิสภาเสียหาย ถูกเข้าใจผิด และในส่วนของกรรมาธิการวุฒิสภาจะเชิญ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงถึงอำนาจหน้าที่ และที่มาที่ไป ของการมากล่าวหาวุฒิสภาร้ายแรง “เรื่องอั้งยี่ซ่องโจร” อาชญากรรมและภัยต่อความมั่นคง ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

ในขณะที่การดำเนินการดำเนินไป คำว่า “อั้งยี่ซ่องโจร” ก็ได้กลายเป็นที่สนใจถึงที่มาที่ไป และความหมายว่าเป็นมาอย่างไรกันแน่

กับเรื่องนี้ ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษานายกฯ อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม และ ศาสตราภิชานประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊กกล่าวถึงเรื่องดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ ความว่า

“คำว่า อั้งยี่ ถึงแม้ว่า แรกทีเดียว คำนี้จะมาจากภาษาจีนและหมายถึงการก่อตั้งสมาคมลับเพื่อทำบางสิ่งบางอย่างที่ผิดกฎหมาย แต่ต่อมาประมวลกฎหมายอาญาของไทยเรา ได้นำคำนี้มาใช้เป็นฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 และมีความหมายกว้างขวางขึ้นกว่าเดิม ฟังดูชื่อฐานความผิดแล้วเหมือนหนังจีนหรือหนังกำลังภายในอย่างไรก็ไม่รู้

ข้อมูลต่อไปนี้ผมนำมามาจากเฟซบุ๊กของ ไอลอว์ อ่านดูแล้วเห็นว่าเข้าท่าจึงขออนุญาตนำมาแบ่งปันครับ
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 บัญญัติไว้ว่า

“มาตรา ๒๐๙ ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า ผู้จัดการหรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในคณะบุคคลนั้น ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท”

โดยมาตราดังกล่าว มีองค์ประกอบความผิดดังนี้
ตามวรรคหนึ่ง
(1) ผู้ใด
(2) เป็นสมาชิกของคณะบุคคล
(3) ซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย และต้องมีเจตนาที่จะเข้าร่วม และรู้ว่าเป็นการเข้าร่วมกับคณะบุคคลที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย

คำว่า คณะบุคคล นั้นทางกฎหมายให้ความหมายไว้ว่า การรวมตัวของบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป โดยมีความมุ่งหมายอย่างเดียวกันและการรวมตัวกันนั้นจะต้องรวมตัวกันในลักษณะถาวร

ปกปิดวิธีดำเนินการ หมายถึง รู้กันในหมู่สมาชิกไม่เปิดเผยแก่บุคคลอื่น เช่น ใช้นิ้วแสดงเป็นเครื่องหมายลับ (คำพิพากษาฎีกาที่ 124/2457) หรือแสดงเครื่องหมายสมาคม (คำพิพากษาฎีกาที่ 301-303/2470) โดยรู้กันในหมู่สมาชิกเท่านั้น

มีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่จำกัดไว้ว่าต้องเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาเท่านั้น อาจเป็นละเมิดกฎหมาย หรือความผิดทางแพ่งก็ได้ (ความเห็น ศ.จิตติ ติงศภัทิย์) ซึ่งตีความได้กว้างขวางมาก และมาตรานี้ มุ่งหมายเอาผิดการ “เข้าเป็นสมาชิก” เท่านั้น

ดังนั้นเพียงเข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลเท่านั้นก็เป็นความผิดสำเร็จทันทีโดยยังไม่จำต้องทำอะไรที่ฝ่าฝืนกฎหมาย หรือคณะบุคคลนั้นยังไม่ต้องลงมือทำอะไร ก็เป็นความผิดตามมาตรานี้แล้ว

ในวรรคสองนั้น เป็นเหตุเพิ่มโทษ หากผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นตำแหน่งตามกฎหมายระบุไว้ก็จะได้รับโทษเพิ่ม”

โดยภายหลักจากที่โพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ก็ได้มีสมาชิกสังคมออนไลน์เข้าไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ศิลปวัฒนธรรม ได้กล่าวถึง “อั้งยี่” ในบทความเรื่อง ก่อนยุคอั้งยี่ มีจีน “ตั้วเหี่ย” วิวาท-ปล้นชิง ก่อเรื่องวุ่นวายใหญ่โตสมัยรัชกาลที่ 3 ไว้ใจความว่า “ชาวจีนในไทยก็มีการรวมกลุ่มกันตามชาติพันธุ์และภาษาอันบ่งบอกถึงถิ่นฐานที่จากมาทั้ง จีนกวางตุ้ง และไหหลำ และแต้จิ๋ว โดยมีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือระหว่างกันในหมู่แรงงานเป็นหลัก และมักมีการตั้งหัวหน้าที่ได้รับความนับถือกันในกลุ่มเรียกว่า “ตั้วเหี่ย” ในภาษาแต้จิ๋ว หรือ “ตั้วก่อ” ในภาษาฮกเกี้ยน แปลว่า “พี่ใหญ่” ซึ่งคำนี้ใช้กันในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นคำ “อั้งยี่” ในสมัยรัชกาลที่ 5”

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.