นำร่อง AI พัฒนาการเรียนการสอน กระตุ้นความคิด ดึงศักยภาพนักศึกษา
GH News February 24, 2025 08:09 PM

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) โดยศูนย์ความเป็นเลิศเทคโนโลยีธุรกิจ เปิดตัวและทดลองใช้ AI Platform DPU ในการเรียนการสอน เพื่อเสริมศักยภาพนักศึกษาและปรับรูปแบบการเรียนรู้ให้ทันสมัย รองรับความเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจในยุคดิจิทัล ภายใต้โครงการ Embed AI เพื่อการเรียนการสอน โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริเดช คำสุพรหม รองอธิการบดีสายงานภาคีสัมพันธ์เป็นประธาน เริ่มนำร่องในหลายหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับบริหารธุรกิจ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2568 เป็นต้นมา

โดยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา นักศึกษาชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี สาขาการตลาดและการสร้างแบรนด์ในยุคดิจิทัล ได้เข้าร่วมเวิร์กชอป "AI for Marketing" ที่เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัล โดยนักศึกษาสามารถใช้ AI Platform DPU ในการสร้างสรรค์ชิ้นงานทางการตลาดโดยบูรณาการความรู้จากศาสตร์การตลาดและข้อมูลที่ได้จาก AI ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของแพลตฟอร์มในการพัฒนา ทักษะการคิดเชิงกลยุทธ์อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ผลักดันการพัฒนา AI Literacy ส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับนักศึกษา แบบ Active Learning ได้อย่างแท้จริง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธิติพงศ์ ตันประเสริฐ ผู้พัฒนาและรองประธานคณะกรรมการขับเคลื่อน Embed AI ในการเรียนการสอน กล่าวว่า AI เป็นโค้ชความคิด พร้อมแลกเปลี่ยน Use-case สำหรับว่าที่นักธุรกิจรุ่นใหม่ ซึ่งการใช้ AI ในโครงการนี้ไม่ใช่เพียงแค่การให้ข้อมูลที่สำเร็จรูปจาก AI แก่ผู้เรียน แต่ยังสนับสนุนให้นักศึกษาได้ใช้ AI เสริมพลังการคิดวิเคราะห์ และใช้ทักษะในการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ โดย AI ที่ใช้ไม่ใช่แค่แชทบอททั่วไป แต่เป็นเครื่องมือที่กระตุ้นการคิดเชิงกลยุทธ์ และช่วยให้นักศึกษาตั้งคำถามและหาคำตอบด้วยตัวเองแทนที่จะรับคำตอบแบบสำเร็จรูป

"การใช้ AI เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในยุคปัจจุบัน แต่ปัญหาคือคนส่วนใหญ่ไม่รู้วิธีการใช้งานอย่างถูกต้อง ต้องบอกก่อนว่า AI ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือที่ให้คำตอบ แต่มันคือคอมพิวเตอร์ที่ต้องมีการตั้งค่าโปรแกรมให้ดีเพื่อให้ทำงานตามที่เราต้องการ ดังนั้นการออกแบบ Customized AI Chatbot ของ DPU จึงไม่ใช่ให้ AI ไปทำงานแทนแต่ให้ AI ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยสอนที่คอยกระตุ้นและชี้แนะ ทำให้มนุษย์ใช้ศักยภาพของตัวเองได้มากกว่าเดิม"

จุดเด่นของโครงการ Embed AI ซึ่งต่างจากการใช้แพลตฟอร์ม AI ทั่วไปอย่าง ChatGPT หรือ Gemini คือการปรับแต่ง AI ที่มีความสามารถยืดหยุ่นสูงและตอบสนองความต้องการของผู้สอนโดยอาจารย์สามารถกำหนดได้ ทั้งบทบาท บุคลิก ทักษะ ลักษณะการตอบคำถาม รวมถึงขอบเขตของเนื้อหาให้สอดคล้องกับแนวทางการสอนของแต่ละท่าน และเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของนักศึกษาในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งทำให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ และนักศึกษาสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในธุรกิจได้จริง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธิติพงศ์ ยังได้ยกตัวอย่างการประยุกต์ใช้ AI ในการเรียนการสอนด้านการวางแผนการตลาด โดยมีการนำ AI มาใช้ โดยยกตัวอย่างเช่นน 1.การให้ AI รับบทเป็น นักท่องเที่ยว เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกทักษะด้านการวางแผนการท่องเที่ยว โดย AI จะตอบสนองในบุคลิกภาพช่างถามของนักท่องเที่ยวเชิงสมมุติ ทำให้นักศึกษาได้ฝึกการวางแผนโดยคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกัน

2.การให้ AI ทำหน้าที่เป็น TA (Teaching Assistant) คอยให้คำแนะนำและช่วยนักศึกษาร้อยเรียงความคิดของตนเอง โดย AI จะไม่ให้คำตอบสำเร็จรูป แต่จะช่วยตั้งคำถามนำทาง ให้นักศึกษาคิดวิเคราะห์เป็นขั้นตอน เช่น ช่วยแนะนำว่าในการแก้ปัญหา ควรมองประเด็นใดก่อนหลัง

อย่างไรก็ตาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธิติพงศ์ ระบุว่า ความท้าทายที่สำคัญคือ การช่วยให้อาจารย์ผู้สอนเข้าใจแนวทางการใช้งาน AI และนำไปปรับใช้ในรายวิชาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

"ความท้าทายที่สำคัญคือ การทำให้อาจารย์เข้าใจและใช้งาน AI อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาจารย์ไม่ได้มีบทบาทเพียงแค่ควบคุม AI แต่ต้องเป็นผู้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning โดยใช้ AI เป็นเครื่องมือสนับสนุนให้นักศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่เป็นผู้ให้คำตอบทั้งหมด แต่ต้องกระตุ้นให้นักศึกษาได้มีกระบวนการคิด วิเคราะห์ และแก้ปัญหาด้วยตนเอง เพื่อเชื่อมโยงทฤษฎีกับปฏิบัติ และนำไปสู่การพัฒนาทักษะที่สามารถนำไปใช้ในสถานการณ์จริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมหาวิทยาลัยของเรามีการเรียนการสอนในรูปแบบนี้อยู่แล้ว สำหรับการเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาในยุค AI"

อาจารย์สิรภพ รุจรัตนพล อาจารย์ประจำหลักสูตรการตลาดและการสร้างแบรนด์ในยุคดิจิทัล วิทยาลัยนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และหนึ่งในคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนโครงการAI ในการเรียนการสอน กล่าวถึงการทดลองใช้ AI เป็นเครื่องมือช่วยให้นักศึกษาฝึกคิดวิเคราะห์ในการเรียนว่า “แชทบอททั่วไปมักให้คำตอบในลักษณะกว้าง ซึ่งทำให้นักศึกษาไม่ได้ฝึกกระบวนการคิด แต่ AI ที่เราพัฒนาขึ้นจะให้ข้อมูลและย้อนถามกลับ เพื่อให้นักศึกษาต้องคิดต่อยอด นำไปสู่ทักษะที่สำคัญของการคิดอย่างเป็นระบบ และถูกต้องตามศาสตร์ของแต่ละรายวิชาได้”

ยกตัวอย่างเช่น นักศึกษาได้สวมบทบาทนักการตลาด เพื่อร่วมเฉลิมฉลองการสมรสเท่าเทียม โดยมี AI เป็นคู่คิด พวกเขาต้องออกแบบผลิตภัณฑ์และราคาที่ดีที่สุดในการขายสินค้าสำหรับปี 2025 โดย AI จะตั้งคำถามเริ่มต้นถึงประเภทสินค้า จากนั้นจะถามเกี่ยวกับราคาและกลุ่มเป้าหมาย พร้อมให้ข้อมูลที่เป็นตรรกะทางการตลาด เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกฝนการตัดสินใจทางธุรกิจได้อย่างถูกต้อง

"AI จะไม่ตอบเกินสามประโยค เนื่องจากอาจารย์ได้ออกแบบคุณลักษณะ Customized AI เอาไว้ เพื่อให้นักศึกษาต้องนำข้อมูลที่ได้ไปคิดต่อและเรียนรู้การตัดสินใจทางธุรกิจ ไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือหาข้อมูล แต่ช่วยให้นักศึกษาคิดเป็นระบบ ตัดสินใจได้ดีขึ้น และกระตุ้นให้พวกเขามองหาแนวทางใหม่ ๆ ในการวางแผนกลยุทธ์" อาจารย์สิรภพ อธิบาย

ดังนั้นการออกแบบ Workshop และการออกแบบคุณลักษณะเฉพาะของ Customized AI มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยต้องกำหนดว่า AI ควรตอบอะไรและไม่ควรตอบอะไร ตัวอย่างเช่น AI อาจถูกตั้งค่าให้ตอบเฉพาะภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษเชิงเทคนิกเท่านั้น และให้ข้อมูลที่สอดคล้องกับแนวโน้มตลาดในปี 2025 ถ้ามีคำถามที่ไม่เกี่ยวข้องกับขอบเขตของ AI ก็จะไม่ตอบ เพื่อให้นักศึกษาอยู่ในกรอบของการเรียนรู้ที่ถูกต้อง

สำหรับผลจากการทำเวิร์กชอป AI for Marketing ไม่เพียงนักศึกษาได้ใช้ AI สร้างชิ้นงานการตลาดโดยการวิเคราะห์ผู้บริโภคและวางกลยุทธ์ในสถานการณ์จริง โดยออกแบบคุณลักษณะ Customized AI ให้เหมาะสมกับโจทย์ เช่น การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย การตั้งราคา และการเลือกสื่อการตลาด ฯลฯ นักศึกษายังได้รับทักษะอื่น ๆ อีก อาทิ ทักษะ AI Literacy ซึ่งพัฒนาความสามารถในการแยกแยะ เข้าใจ และใช้ AI อย่างถูกต้อง โดยนำข้อมูลจาก AI มาวิเคราะห์และตัดสินใจเอง ทักษะกระบวนการคิดเชิงระบบ: AI ถามคำถามย้อนกลับ ซึ่งกระตุ้นให้นักศึกษาให้ใช้กระบวนการคิดที่เป็นระบบ เชื่อมโยงทฤษฎีสู่การปฏิบัติจริง ทักษะความกล้าแสดงออก ซึ่งทำให้นักศึกษากล้าถามและแสดงความเห็นมากขึ้น โต้ตอบกับ AI อย่างอิสระในบรรยากาศที่ท้าทายและสนุกสนาน ทักษะการประยุกต์ใช้ความรู้ ซึ่งนำข้อมูลจาก AI Platform DPU มาบูรณาการและต่อยอดความรู้ เพื่อสร้างชิ้นงานได้สำเร็จ

นายคุณานนต์ หมีใจ หรือ น้องอั้ม นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาการตลาดและการสร้างแบรนด์ในยุคดิจิทัล มองว่า AI ไม่ได้ทำให้การเรียนการตลาดเป็นแค่การท่องจำสูตร แต่เป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายและกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาด ซึ่ง AI ทำให้สามารถประมวลผลข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและช่วยสร้างแผนการตลาดที่ชัดเจนมากขึ้น

“AI Platform DPU ใช้งานง่าย ไม่ต่างจากระบบ Intelligence ของแบรนด์ใหญ่ ๆ ในตลาด แต่ความโดดเด่นอยู่ที่การออกแบบมาเพื่อการตลาดโดยเฉพาะ ทำให้มีประโยชน์ทั้งในชั้นเรียนและการใช้งานจริง นอกจากช่วยวิเคราะห์เชิงลึกและวางแผนการตลาดแล้ว AI ยังช่วยลดเวลาในการทำงาน บริหารจัดการข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเติมเต็มจุดที่อาจมองข้ามไป โดยที่ไม่เปลี่ยนวิธีการเรียนรู้เดิม แต่ช่วยขยายกรอบความคิดให้กว้างขึ้น เห็นภาพรวมของการตลาดได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังคงความสนุกในการเรียนรู้ร่วมกัน”

ด้าน นายเจ้าเมือง พาณิชย์กิจพีระ หรือ น้องแมมมอธ นักศึกษาอีกท่านเสริมว่า รู้สึกตื่นเต้นที่ได้ใช้ AI ในการสร้างงานด้านการวางแผนการตลาดได้ในคาบเรียนเดียว นอกจากนี้ข้อดีการใช้ AI ในห้องเรียนคือ นักศึกษาสามารถพัฒนาชิ้นงานให้เสร็จภายในระยะเวลาอันสั้น ไม่ต้องนำกลับไปทำเป็นการบ้านหรือติดตามผลในภายหลัง ซึ่งช่วยให้การเรียนรู้เกิดขึ้นแบบเรียลไทม์และทันต่อสถานการณ์

“มหาวิทยาลัยไม่ได้ปิดกั้นการใช้ AI และสนับสนุนให้นักศึกษาได้รับความรู้ใหม่ ๆ ตลอดเวลา แพลตฟอร์ม AI DPU ใช้งานไม่ยาก และช่วยให้การคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ง่ายขึ้น ที่สำคัญคือ เราไม่ต้องเสียเวลาในการค้นหาข้อมูลจากแหล่งอื่น แต่สามารถใช้เวลาในการวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลแบบ Real-time ทันสมัย วันนี้ก็เลยสนุกสนาน มีความสุขกันทั้งห้องในการแชร์ไอเดียร่วมกัน เพราะไม่ยากและได้ฝึกกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ” นักศึกษาหนุ่มกล่าว

อาจารย์สิรภพ กล่าวเสริมว่า การเรียนรู้จาก AI Platform DPU นี้ ทำให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้และประยุกต์ใช้ทักษะการตลาดในแบบของตัวเอง ซึ่งจะทำให้พวกเขามีความมั่นใจในการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ได้ดีขึ้น” พร้อมกันนั้นยังบอกถึงการพัฒนา AIPlatform DPU ในอนาคตว่า จะสามารถนำไปใช้ในการเรียนรู้ด้านการออกแบบได้เช่นกัน เช่น การออกแบบสินค้า หรือการพัฒนาแคมเปญการตลาดที่สร้างสรรค์ และตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธิติพงศ์ กล่าวถึงผลจากการทดลองใช้ AI Platform DPU พบว่า อาจารย์ผู้สอนส่วนใหญ่มีทัศนคติเชิงบวกต่อเทคโนโลยีนี้ และนักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้ตามอัตราความเร็วของตนเอง นอกจากนี้นักศึกษายังได้พัฒนาทักษะการใช้ AI เพื่อการแก้ไขปัญหาและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างมีระบบ

ซึ่ง AI ช่วยให้นักศึกษาแต่ละคนเรียนรู้ได้ในแบบของตัวเอง และก้าวไปข้างหน้าพร้อมกันโดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง นอกจากนี้ในอนาคตมหาวิทยาลัยมีแผนที่จะขยายการใช้งาน AI Platform DPU ไปยังหลักสูตรอื่น ๆ และสร้างคลังข้อมูล (Library) ของแชทบอทเฉพาะทาง เพื่อให้อาจารย์สามารถนำไปปรับใช้ได้ง่ายและเหมาะสมกับลักษณะของรายวิชาได้มากขึ้น

“เป้าหมายของ AI ไม่ใช่การแทนที่ทักษะของนักศึกษา แต่เป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพให้ดียิ่งขึ้น เราเชื่อว่า AI Platform DPU จะมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการศึกษาของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และส่งเสริมให้นักศึกษามีความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างแท้จริง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธิติพงศ์ กล่าว

​​​​​​​

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.