นักวิชาการธรรมศาสตร์ กังวล ‘ทักษิณ’ ขีดเส้นจบปัญหาไฟใต้ปีหน้า ชี้จบเมื่อไหร่ไม่สำคัญเท่าจบอย่างไร
GH News February 24, 2025 08:09 PM

นักวิชาการธรรมศาสตร์ ชี้ “ทักษิณ” ขออภัยประชาชนชายแดนใต้เป็นเรื่องดี แต่ที่สำคัญกว่าคือจะทำอะไรต่อ ยอมรับกังวลไทม์ไลน์จะจบปัญหาภายในปี 2569 เหตุมีการตั้งเป้าจำกัดตัวเองด้วยเวลา ระบุจบเมื่อไหร่ไม่สำคัญเท่าจบอย่างไร เสนอนายกฯ ตั้งคณะพูดคุยสันติสุขฯ ชุดใหม่ เปิดโต๊ะเจรจาหลังกระบวนการสะดุดลงทุกครั้งที่เปลี่ยนแปลงรัฐบาล

 
จากกรณีที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาประธานอาเซียน เดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2568 และได้กล่าวขออภัยในความผิดพลาดในอดีต พร้อมทั้งกำหนดไทม์ไลน์ที่จะยุติสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ภาคใต้ให้จบภายในปี 2569 

ดร.ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า แม้ว่าการเดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้และการกล่าวคำขออภัยต่อประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ของนายทักษิณจะถือเป็นเรื่องดี แต่คำถามที่สำคัญคือหลังจากที่กล่าวขออภัยแล้ว รัฐบาลและนายทักษิณในฐานะที่ปรึกษาประธานอาเซียน จะดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างไรต่อไป ทั้งการจัดสรรทรัพยากร การจัดการกับกฎหมายพิเศษที่ยังบังคับใช้อยู่ในพื้นที่ เรื่องคดีความทางการเมืองต่างๆ ไปจนถึงมิติการพัฒนา ซึ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเรื่องใหญ่ทั้งสิ้น

สำหรับการเน้นย้ำของนายทักษิณว่าภายในปี พ.ศ. 2568 จะเห็นสัญญาณเชิงบวก และปัญหาชายแดนใต้จะต้องจบ ภายในปี พ.ศ. 2569 ดร.ชญานิษฐ์ กล่าวว่า ท่าทีดังกล่าวถือว่ามีความน่ากังวล เพราะจากคำว่าจะจบปัญหาภายในปีหน้าของอดีตนายกฯ ทักษิณ นั้น ทำให้มีคำถามตามมาว่า “จะจบอย่างไร”

“คงไม่มีใครไม่อยากให้ปัญหาชายแดนใต้จบโดยเร็ว เพียงแต่การจบเร็ว อาจจะสำคัญน้อยกว่าจบอย่างไร ส่วนตัวในฐานะที่เป็นผู้สอนวิชาความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรงทางการเมืองมองว่า ปัญหาควรจะต้องจบด้วยวิธีการทางการเมือง ด้วยการไม่ใช้ความรุนแรง และเป็นทางออกที่ยั่งยืน ความน่ากังวลก็คือถ้าเราไปตั้งเป้าและจำกัดตัวเองไว้ด้วยเงื่อนเวลาว่าจะจบปีหน้า คำถามคือจะจบอย่างไร เพราะเราคงไม่อยากให้มันจบด้วยการปราบปราม เพราะเราก็รู้ว่าการปราบปรามอาจทำให้เงียบสงบได้แต่ไม่ได้ทำให้ปัญหาจบลง” ดร.ชญานิษฐ์ กล่าว

ดร.ชญานิษฐ์ กล่าวอีกว่า ในความเห็นส่วนตัว ความรุนแรงในชายแดนใต้เกิดขึ้นเพราะตั้งแต่อดีตรัฐพยายามกดไม่ให้ผู้คนในพื้นที่ได้พูดในสิ่งที่อยากพูด ได้ฝันอย่างที่อยากจะฝัน และได้เป็นอย่างที่จะเป็น ดังนั้นเมื่อเกิดการใช้อาวุธในการปราบปรามประชาชน จึงทำให้กำเนิดขบวนการติดอาวุธขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ในช่วงทศวรรษ 1960 นั่นก็เพราะเขาเหล่านั้นรู้สึกว่าไม่สามารถที่จะพูดคุยเจรจากับรัฐไทยด้วยวิธีการทางการเมืองได้

ทั้งนี้ ส่วนตัวเสนอว่ารัฐบาลควรจะเร่งดำเนินการแต่งตั้ง “คณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้” ขึ้นมาอีกครั้ง ภายหลังจากคณะพูดคุยสันติสุขฯ ชุดเก่าสิ้นสุดลงไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลของ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี

“ส่วนหนึ่งที่ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้คาราคาซัง เป็นเพราะว่าประเทศของเราก็ไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองอย่างต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่านมา คณะพูดคุยสันติสุขฯ ซึ่งมีตัวแทนทั้งฝั่งรัฐบาลไทย ฝั่งขบวนการติดอาวุธ ที่ได้พูดคุยกันก็ต้องสะดุดลงในทุกครั้งที่มีการรัฐประหารหรือเปลี่ยนรัฐบาล ฉะนั้นรัฐบาลของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ก็ควรจะเร่งแต่งตั้งคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ขึ้นมา เพื่อให้กระบวนการพูดคุยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งที่สำคัญและละเลยไม่ได้ คือ พื้นที่ของการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันและกัน นอกจากนี้ ควรจะให้ความสำคัญกับภาคประชาสังคมในพื้นที่ชายแดนใต้ รวมถึงประชาชนทั่วไป ซึ่งอาจจะอยู่วงนอกของโต๊ะเจรจา หรือคณะพูดคุยสันติสุขฯ ด้วย” นักวิชาการธรรมศาสตร์ กล่าว

เมื่อถามถึงข้อเสนอการยกเลิกประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ดร.ชญานิษฐ์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับว่าจะถามคำถามนี้กับใคร เพราะหากถามประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่เป็นชาวมุสลิม ก็ย่อมต้องอยากให้มีการยกเลิกและนำทหารออกไป หากถามผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ ย่อมต้องตอบว่าการมีทหารอยู่ในพื้นที่ ย่อมสร้างความรู้สึกอุ่นใจให้มากกว่า

อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เป็นนักวิชาการมองว่าสังคมไทยประสบกับปัญหานี้มากว่า 20 ปี เราควรจะนำข้อมูลมาดูกันอย่างจริงจัง และนำมาศึกษาเปรียบเทียบดูว่าพื้นที่ที่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีเจ้าหน้าที่ หรือมีกฎหมายพิเศษอื่นๆ บังคับใช้อย่างเข้มข้น ช่วยทำให้ความรุนแรงลดลงได้หรือไม่ และสัมพันธ์หรือแตกต่างกันอย่างไรกับพื้นที่ที่ไม่ได้บังคับใช้กฎหมายพิเศษอย่างเข้มข้น รวมไปถึงตัวเลขการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีความแตกต่างกันอย่างไรในเชิงการเปรียบเทียบของพื้นที่ เราควรต้องถอดบทเรียน เพราะเรื่องนี้สำคัญไม่เพียงแค่ชาวบ้านในพื้นที่ แต่รวมถึงคนไทยทุกภูมิภาคที่ต้องไปเสียชีวิตที่นั่น บวกกับงบประมาณประเทศซึ่งสูญเสียไปกว่า 5 แสนล้านบาท นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 – ปัจจุบัน

 

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.