เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา ในฐานะที่ปรึกษาหน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อการพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า บุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นภัยเงียบ และระบาดไปยังกลุ่มเด็กและเยาวชนรุนแรงและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ครูและผู้ปกครองมีความรู้ความเข้าใจน้อย ยังไม่รู้จักและเห็นภัยของเรื่องดังกล่าวมากเท่าที่ควร บุหรี่ไฟฟ้าส่งผลกระทบต่อด้านร่างกาย จิตใจ และสร้างผลกระทบระยะยาวต่อเด็ก ซึ่งจะทำให้อนาคตของเด็กและเยาวชนมืดมน
ที่ผ่านมาหน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อการพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน ได้รวบรวมข้อมูลจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย และจากที่ตนเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ พบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนน่าตกใจ และกระทบต่อคุณภาพของเด็ก เยาวชนอย่างมาก
1.เกิดนักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มเด็กและเยาวชน ในอายุ 13-18 ปี จำนวนมาก ในปี 2558 มีจำนวนนักสูบ 3.5% แต่ในปี 2567 นักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้นมาเป็น 18.6% ดังนั้น จะเห็นว่า 9 ปีที่ผ่านมามีนักสูบเพิ่มขึ้นถึง 6.5 เท่า ถือเป็นจำนวนที่ก้าวกระโดดแบบน่าตกใจ และนักสูบหน้าใหม่มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ต่ำสุดที่พบข้อมูลคือ 10 ปีเท่านั้น นอกจากนี้พบนักสูบหน้าใหม่ที่เป็นเด็กผู้หญิงเพิ่มมากขึ้น เพราะเด็กเหล่านี้มีค่านิยมว่าการสูบนั้นโก้เก๋ และเท่าเทียมกับเด็กผู้ชาย
2.พัฒนาการของเด็กล่าช้า โดยเฉพาะเรื่องสมอง มีภาวะซึมเศร้า แยกตัวเอง ถ้าติดหนัก จะมีอาการอยากจะฆ่าตัวตาย เกิดภาวะปอดหาย หายใจไม่เต็มอิ่ม ไอเป็นเลือด ในบุหรี่ไฟฟ้ามีสารอันตรายจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นดีบุก ตะกั่ว สารหนู เป็นต้น ซึ่งครูและผู้ปกครอง ต้องตระหนักในเรื่องพัฒนาและภาวะโรคที่เกิดขึ้นกับเด็กให้มากขึ้น
3.เด็กนำเงินที่พ่อแม่ให้ไปโรงเรียน มาลงขันซื้อพอต ซื้อน้ำยามาสูบ เฉลี่ยเดือนละ 2,245 บาทต่อคน
4.โรงเรียนเป็นสถานที่ไม่ปลอดภัย ในรัศมี 500 เมตรของโรงเรียนมีร้านบุหรี่ไฟฟ้าขาย อีกทั้งมีการจ่ายส่วยให้กับเจ้าหน้าที่ด้วย ทำให้เด็กมีโอกาสเข้าถึงได้ง่ายโดยเฉพาะหลังเลิกเรียน
5.การตลาดมุ่งเข้าสู่เด็กมากขึ้น เด็กเยาวชนสั่งซื้อได้ง่ายและสะดวกผ่านทางออนไลน์ อีกทั้งพอตที่ใช้มีรูปลักษณ์ที่น่ารัก ทำให้เด็กคุ้นเคยมองเป็นของเล่นที่อยากได้ ปัจจุบันพบกลิ่นปรุงแต่งมากกว่า 1 หมื่นกลิ่น ทำให้ดึงดูดเด็กมากสูบมากขึ้น
6.ครูขาดข้อมูล เนื้อหา องค์ความรู้ สร้างความเข้าใจเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าให้กับนักเรียน ทำให้ไม่สามารถสอน หรือสร้างภูมิต้านทาน ค่านิยมที่ถูกต้องมากเท่าที่ควร
7.ผู้ปกครอง 96% กังวลว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะเป็นภัยกับลูกหลาน แต่ไม่รู้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอย่างไร เมื่อเด็กนำพอตเข้าบ้านก็คิดว่าเป็นของเล่น เป็นอุปกรณ์การเรียน และการสูบก็ไม่มีกลิ่นคล้ายบุหรี่มือสอง และไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้ลูกตัวเองรอดจากภัยนี้
8.บุหรี่ไฟฟ้า นำไปสู่การสูบบุหรี่มวน ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่สูบทั้ง 2 อย่าง เป็นเหมือนกับการเปิดประตูเข้าสู่ถนนสีเทา วงจรสีเทา นอกจากนี้ยังพบใช้บุหรี่ไฟฟ้าร่วมกับน้ำกระท่อม กัญชา ยาบ้า ทำให้สถานการณ์ที่เด็กอาจจะกลายเป็นยุวอาชญากรเพิ่มมากขึ้นเกือบ 2 เท่า
“บุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นภัยและอันตรายเงียบ พบว่าบริษัทบุหรี่ไฟฟ้านอกประเทศ กำลังมุ่งสร้างค่านิยมในเด็กรุ่นใหม่ในไทย และพยายามวิ่งเต้น ผลักดันผ่านนักการเมือง รัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรี ส.ส. หรือกรรมาธิการ ให้ล็อบบี้ ผลักดันให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย โดยอ้างว่านำสิ่งผิดกฎหมาย ควบคุมไม่ได้ให้ถูกกฎหมาย เพื่อให้รัฐสามารถจัดเก็บภาษีเพิ่ม แต่ในข้อเท็จจริง แม้จะได้เก็บภาษีเพิ่มขึ้น แต่เราต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้ที่ป่วย และนักสูบหน้าใหม่แพงกว่าการเก็บภาษีถึง 3 เท่า ซึ่งไม่คุ้มกับภาษีที่เก็บได้” นายสมพงษ์กล่าว
นายสมพงษ์กล่าวต่อว่า ขณะนี้บุหรี่ไฟฟ้าสามารถนำเข้าได้ง่าย ทำให้ทะลักเข้ามามาก เพราะมีช่องว่างของศุลกากร เอกซเรย์ไม่ได้ ตรวจจับไม่เจอ เพราะเราไม่สามารถเปิดตู้คอนเทนเนอร์เพื่อสุ่มตรวจได้ ดังนั้นการบังคับใช้กฎหมายของเราถือเป็นจุดอ่อนอีกอย่างหนึ่งที่ต้องระมัดระวังให้ดี ทั้งนี้หาก กมธ.บุหรี่ไฟฟ้า พิจารณาให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย มองว่าจำนวนนักสูบหน้าใหม่จะเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม ไม่ใช่แค่ 6.5 เท่า แต่จะเพิ่มเป็น 10 เท่า อนาคตของเด็ก เยาวชน จะหนักและมืดมน จึงขอให้รัฐสภาพิจารณาการศึกษาของ กมธ.บุหรี่ไฟฟ้าชุดนี้ให้ดี