กฤษฎีกาและเครือข่ายนโยบายด้านกฎระเบียบที่ดี ASEAN-OECD GRPN
ข่าวสด February 25, 2025 11:21 AM

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและเครือข่ายนโยบายด้านกฎระเบียบที่ดี ASEAN-OECD GRPN

ในปี ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา คณะมนตรีแห่งองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบต่อการเปิดเจรจาเพื่อการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นหน่วยงานที่ร่วมดำเนินการขับเคลื่อนวาระดังกล่าวทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง นับเป็นก้าวสำคัญก้าวหนึ่งที่เกิดขึ้นได้มิใช่เพียงเพราะวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นของฝ่ายไทยเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นพัฒนาการที่ต่อยอดมาจากความสัมพันธ์ที่ OECD มีกับไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ผ่านโครงการ Southeast Asia Regional Programme หรือ SEARP ซึ่งถือกำเนิดมาแล้วครบ ๑๐ ปีในปีที่ผ่านมา

SEARP เป็นโครงการที่ OECD ริเริ่มขึ้นเพื่อเสริมสร้างการรวมตัว (integration) และความเชื่อมโยง (connectivity) ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น รวมทั้งให้การสนับสนุนการปฏิรูปของประเทศสมาชิกอาเซียนและยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และ OECD โดยไทยไม่เพียงแต่เป็นสมาชิกก่อตั้งของโครงการดังกล่าว แต่ยังได้ทำหน้าที่เป็นประธานร่วมโครงการ (Co-chair) ร่วมกับสาธารณรัฐเกาหลีระหว่างปี ๒๕๖๑ ถึงปี ๒๕๖๓ อีกด้วย

SEARP กำหนดกรอบการทำงานบนประเด็นเนื้อหา ๑๓ ด้าน ซึ่งประกอบไปด้วยการสร้างเครือข่ายนโยบายระดับภูมิภาค (Regional Policy Networks – RPN) ๖ เครือข่าย ประเด็นเฉพาะทางนโยบาย (Initiatives) ๖ ประเด็น และการจัดทำรายงาน ๑ ชิ้นเพื่อวิเคราะห์แนวโน้มทางเศรษฐกิจและการรวมตัวของภูมิภาคอาเซียน จีน และอินเดีย

เครือข่ายนโยบายระดับภูมิภาค (RPN) ที่มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและมีผลการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมที่สุดด้านหนึ่ง ได้แก่ เครือข่ายด้านการจัดทำกฎระเบียบที่ดี หรือ ASEAN-OECD Good Regulatory Practices Network (GRPN) ซึ่งได้จัดให้มีการประชุมทุกปีนับตั้งแต่ที่ SEARP ถือกำเนิดขึ้น โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เข้าร่วมประชุม GRPN เรื่อยมา รวมทั้งได้รับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม GRPN มาแล้วถึงสองครั้ง ได้แก่ การประชุมครั้งที่ ๕ ในปี ๒๕๖๒ ที่จังหวัดเชียงใหม่ และการประชุมครั้งที่ ๘ ในปี ๒๕๖๖ ที่กรุงเทพมหานคร โดยในปี ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา กระทรวงประสานงานด้านเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย (Coordinating Ministry for Economic Affairs, Republic of Indonesia) รับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม GRPN ครั้งที่ ๙ ณ กรุงจาการ์ตา ภายใต้หัวข้อ “Shaping the future: Building better regulations for tomorrow”

ในการประชุม GRPN ครั้งที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมและนำเสนอความคืบหน้าเกี่ยวกับการนำเครื่องมือต่าง ๆ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายมาใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพในการจัดทำกฎระเบียบของประเทศไทยใน ๕ ปีที่ผ่านมา โดยผู้แทนสำนักงานฯ ได้นำเสนอข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นและตรวจสอบคุณภาพของรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบของกฎหมาย รายงานการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย และการรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงาน พบว่าประชาชนและหน่วยงานมีความตระหนักรู้และให้ความสนใจหลักกฎระเบียบที่ดีมากยิ่งขึ้น โดยหน่วยงานเริ่มให้ความสนใจกับปัญหาที่เกิดจากการบังคับใช้กฎระเบียบ และมีการจัดทำข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว อย่างไรก็ดี ยังมีส่วนที่ควรได้รับการปรับปรุงอีกมาก ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายฯ กำลังดำเนินการประเมินผลสัมฤทธิ์พระราชบัญญัติดังกล่าว โดยสำนักงานฯ ตั้งใจที่จะใช้เกณฑ์ที่เป็นสากลในการวัดผลการดำเนินการ ทั้งนี้ เพื่อที่สำนักงานฯ จะได้เห็นปัญหาและอุปสรรคของการใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมา และสามารถออกแบบมาตรการเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวได้ อันเป็นความมุ่งหมายของสำนักงานฯ ที่จะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงใจและเป็นมืออาชีพ

ในโอกาสนี้ ผู้เข้าร่วมงานจากหลายประเทศโดยเฉพาะจากประเทศในกลุ่มอาเซียนได้แสดงความสนใจเกี่ยวกับแนวทางที่ประเทศไทยใช้ โดยมีการตั้งคำถามต่อเนื่องจากการบรรยายในหลายประเด็น เช่น สอบถามว่าประเทศไทยใช้แนวทางใดเพื่อจูงใจให้หน่วยงานต่าง ๆ นำเครื่องมือการจัดทำกฎระเบียบที่ดีมาใช้ ซึ่งผู้แทนฯ ได้ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยได้มีการกำหนดหลัก Better Regulation ไว้ในกฎหมายระดับรัฐธรรมนูญ รวมทั้งได้มีการตรากฎหมายเพื่อกำหนดรายละเอียดของการดำเนินการในเรื่องนี้ให้มีความชัดเจน จึงทำให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถดำเนินการตามที่กำหนดไว้ได้ นอกจากนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นของหน่วยงาน พบว่าส่วนใหญ่ตระหนักถึงประโยชน์ของการปฏิบัติตามหลัก Better Regulation อีกด้วย

เป็นอีกครั้งหนึ่งที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพการจัดทำกฎระเบียบเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทย โดยการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมของ GRPN เรื่อยมา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งต่องานพัฒนากฎหมายของไทย และยังเป็นรากฐานที่สำคัญด้านหนึ่งที่จะช่วยหนุนให้ไทยก้าวต่อไปในกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ได้อย่างมั่นคง

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.