ต้อกระจก อายุเยอะเสี่ยง อายุน้อยก็เป็นได้ หมอเผยปัจจัยเสี่ยง
ข่าวสด February 25, 2025 10:21 PM

ต้อกระจก ไม่เกี่ยงอายุ น้อย-มากก็เป็นได้ หมอแนะสังเกตอาการ ชี้ปัจจัยกระตุ้น

ในกลุ่มโรคต้อที่เกิดกับดวงตา “โรคต้อกระจก” ถือว่าพบได้บ่อยที่สุด และโรคนี้ไม่ได้พบแค่ในผู้สูงอายุเท่านั้น คนอายุน้อยก็เป็นโรคนี้ได้จากปัจจัยเสี่ยงใกล้ตัวที่เราอาจไม่รู้มาก่อน เช่น รังสี UV, การสูบบุหรี่ หรือการใช้ยาบางประเภท

ต้อกระจกทำให้เลนส์ตาขุ่นมัว ส่งผลกระทบต่อการมองเห็น หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษาอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่ทำให้สูญเสียการมองเห็นได้

พญ.จิรนันท์ ทรัพย์ทวีผลบุญ จักษุแพทย์ แพทย์ผู้ชำนาญการโรคต้อหิน ศูนย์จักษุ รพ.วิมุต เผยปัจจัยกระตุ้นต้อกระจกในคนอายุยังน้อย พร้อมสัญญาณเตือนของโรคและแนวทางป้องกัน

ปัจจัยการเกิดโรค

ต้อกระจก (Cataracts) คือโรคต้อตาชนิดหนึ่งที่เกิดจากความเสื่อมของเลนส์ดวงตา ทำให้เลนส์ตาที่ปกติมีความใส เกิดความขุ่นมัว ส่งผลให้ประสาทตารับแสงได้ไม่เต็มที่จนเกิดอาการมองไม่ชัด หรือตาพร่ามัว

ต้อกระจกเกิดได้กับทุกคน แต่จะเกิดความเสื่อมช้าเร็วไม่เท่ากัน โดยปกติต้อกระจกเกิดจากอายุที่มากขึ้น พบบ่อยในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป และจะเริ่มรบกวนการมองเห็นมากขึ้นเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป ส่วนคนที่อายุยังน้อยก็เป็นโรคนี้ได้จากปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น สูบบุหรี่จัด เคยผ่าตัดตา การใช้ยาสเตียรอยด์ มีโรคประจำตัวที่กระทบสุขภาพดวงตา หรือการประสบอุบัติเหตุบริเวณดวงตา

พญ.จิรนันท์ กล่าวว่า อีกหนึ่งความเสี่ยงที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้คือการอยู่กลางแดดบ่อยๆ เพราะจริงๆ แล้วรังสี UV โดยเฉพาะรังสี UVA ส่งผลต่อการเสื่อมของเลนส์ตาโดยตรง เพราะจะไปกระตุ้นให้เกิดสารอนุมูลอิสระที่ทำให้โปรตีนในเลนส์ตาเสื่อมสภาพและจับตัวเป็นก้อน หรือที่เราเห็นเป็นความขุ่นในดวงตา ดังนั้นใครที่อยู่กลางแดดเป็นประจำควรสวมแว่นกันแดดอยู่เสมอ และต้องเป็นแว่นกันแดดที่ได้มาตรฐาน มีการฉาบสารป้องกันรังสี UV

สัญญาณโรค มองไม่ชัด-ค่าสายตาเปลี่ยน

การเปลี่ยนแปลงของสายตาจากต้อกระจกมักสังเกตได้ยาก เนื่องจากอาการจะเกิดแบบค่อยเป็นค่อยไป อาการที่พบบ่อยคือ ตาพร่ามัว และค่าสายตาเปลี่ยนหลังจากที่คงที่มานาน

“คนที่มีความขุ่นของตาเยอะประมาณหนึ่ง ถ้านำไฟฉายส่องจะพบเงาของม่านตาตกลงบนเลนส์แก้วตาที่อยู่กึ่งกลางตาดำ ส่วนคนที่มีสุขภาพเลนส์ตาปกติ แสงจะผ่านได้ดีและไม่ปรากฏเงา ซึ่งคนที่มีแนวโน้มเป็นต้อกระจกให้รีบมาตรวจกับจักษุแพทย์เพื่อประเมินอย่างละเอียด” พญ.จิรนันท์ ทรัพย์ทวีผลบุญ กล่าว

ผ่าตัดรักษาง่าย ปลอดภัยสูง

ปกติจักษุแพทย์จะเป็นผู้ตรวจวินิจฉัยโรคต้อกระจก ซึ่งวินิจฉัยได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องส่งตรวจเพิ่มเติม ในอนาคตอาจมีการพัฒนาซอฟต์แวร์ AI เข้ามาช่วยวินิจฉัยเบื้องต้นจากภาพถ่ายดวงตา ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับคนไข้ที่ไม่สะดวกมาโรงพยาบาล

นอกจากนี้ยังมีการนำ AI มาใช้ในการคำนวณค่าเลนส์แก้วตาเทียมที่จะใส่ให้ผู้ป่วย ช่วยเพิ่มความแม่นยำจากการคำนวณแบบดั้งเดิม และช่วยแจ้งเตือนจุดอันตราย (Danger Zone) ระหว่างการผ่าตัด

พญ.จิรนันท์ อธิบายว่า การรักษาโรคต้อกระจกจะพิจารณาจากความรุนแรงของอาการ ถ้าเป็นน้อยและยังไม่รบกวนการมองเห็น สามารถติดตามอาการไปก่อนได้ แต่ถ้าเริ่มกระทบการมองเห็นก็มีวิธีรักษาหลายแบบ

อย่างแรกคือการใช้ยาหยอดตากลุ่มต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งช่วยชะลอการเกิดต้อกระจกได้ แต่ไม่ได้ช่วยให้หายขาด อีกวิธีคือการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียม ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะปัจจุบันมีเลนส์ระดับพรีเมียมที่ช่วยให้มองเห็นได้หลายระยะและลดแสงรบกวน แม้จะยังไม่สามารถทดแทนเลนส์ธรรมชาติได้สมบูรณ์

นอกจากนี้ ยังมีการใช้เลเซอร์ช่วยผ่าตัด ซึ่งส่วนมากใช้เฉพาะในผู้ป่วยที่มีถุงหุ้มเลนส์อ่อนแอ หรือผู้ที่เลนส์แก้วตาแข็งมากเกินกว่าจะสลายด้วยคลื่นความถี่สูงตามปกติได้

การผ่าตัดต้อกระจกมีอัตราความสำเร็จสูงถึง 97-99% โดยแพทย์จะประเมินก่อนว่าคนไข้มีสุขภาพตาที่เหมาะกับการผ่าตัดหรือไม่ ผู้ที่ไม่เหมาะกับการผ่าตัดคือคนที่สูญเสียการมองเห็น จอตาเสียจากปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่ต้อกระจก กระจกตาเสื่อม หรือดวงตาได้รับความเสียหายมาก เพราะอาจไม่เกิดประโยชน์หรือทำให้อาการแย่ลง หรือบางรายจำเป็นต้องผ่าตัด แพทย์อาจพิจารณาเปลี่ยนกระจกตาพร้อมกับรักษาต้อกระจกในการผ่าตัดครั้งเดียว

การดูแลหลังผ่าตัด

ผลข้างเคียงหลังการผ่าตัดคืออาการตาอักเสบและตาแห้ง ซึ่งมักหายได้เองภายในไม่กี่สัปดาห์ และในช่วงหนึ่งเดือนหลังผ่าตัด ผู้ป่วยต้องระวังไม่ให้น้ำเข้าตา งดล้างหน้า และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีการกระทบกระแทกดวงตา เพื่อให้แผลปิดสนิทและป้องกันการติดเชื้อ หากดวงตาติดเชื้อจะมีความยุ่งยากกว่าเดิม เพราะอาจต้องผ่าตัดนำเลนส์เทียมออก

“โรคต้อกระจกเกิดได้กับทุกวัย ดั้งนั้น ต้องเริ่มดูแลสุขภาพตาตั้งแต่วันนี้ เริ่มจากการตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกข้างนอกก็สวมแว่นกันแดดที่เคลือบสารกัน UV และไม่ซื้อยาหยอดตาที่มีสเตียรอยด์มาใช้เอง เพราะถ้าใช้นานๆ อาจทำให้เกิดต้อกระจกได้

ที่สำคัญคือต้องสังเกตการมองเห็นของตัวเองอยู่เสมอ ถ้ามีอาการผิดปกติ มองไม่ชัด ตาพร่ามัว ก็อยากให้เข้ามาพบแพทย์ทันที ดวงตาของเรามีคู่เดียว อยากให้ดูแลให้ดี จะได้มองเห็นชัดเจนไปนานๆ” พญ.จิรนันท์ ทรัพย์ทวีผลบุญ กล่าวทิ้งท้าย

ผู้ที่สนใจปรึกษาแพทย์โรงพยาบาลวิมุต สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่ ศูนย์จักษุ ชั้น 5 โรงพยาบาลวิมุต เวลาทำการ 08:00 – 20:00 น. โทร. 0-2079-0058 หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือใช้บริการปรึกษาหมอออนไลน์

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.