เมื่อวันที่ 28 มีนาคม น.ส.นันธกานต์ วงษา ประชาชนจากเคหสถานเจริญชัยนิมิตใหม่ ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ที่ได้ใช้บริการ “ตู้ห่วงใย” นวัตกรรมบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดำเนินการโดย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับ บริษัท ทัช เทคโนโลยี จำกัด กล่าวถึงประสบการณ์รับบริการตู้ห่วงใย ว่า ในตอนแรกยังไม่เชื่อมั่นว่าจะตู้นี้จะใช้งานได้จริงหรือไม่ แต่เมื่อมาลองรับบริการจริงก็พบใช้งานได้ดี ได้พบคุณหมอผ่านระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และช่วยประหยัดเวลารวมถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้มาก
น.ส.นันธกานต์ กล่าวว่า ตนเองมีโรคประจำตัวที่ต้องพบหมอทุก 3 เดือนอยู่แล้ว การไปโรงพยาบาลแต่ละครั้งต้องออกบ้านตั้งแต่ตี 5 กว่าจะกลับถึงบ้านก็ประมาณบ่าย 3-4 โมงเย็น เสียเวลามาก แต่ถ้าพบคุณหมอผ่านตู้ห่วงใยนี้ จะใช้เวลารวดเร็ว เพียงนำบัตรประชาชนมาใบเดียว เสียบตรงหน้าตู้ แล้วก็จะมีเสียงจากตู้แนะนำขั้นตอนว่าต้องทำอะไรบ้าง อย่างแรกก็อนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลในบัตร จากนั้นก็ยินยอมรับการรักษาผ่านตู้นี้ ประตูตู้ก็จะเปิดอัตโนมัติ ต่อมาเมื่อเข้าไปแล้วก็นั่งเก้าอี้เพื่อสแกนหน้า วัดส่วนสูงชั่งน้ำหนัก วัดความดัน วัดออกซิเจนในเลือด ที่เป็นมาตรฐาน และทำการกรอกข้อมูลในระบบว่ามีอาการป่วยอย่างไร
น.ส.นันธกานต์ กล่าวต่อว่า หลังจากนั้นระบบก็จะเชื่อมต่อสู่ Telemedicine ซึ่งจะได้พบคุณหมอผ่านหน้าจอ โดยคุณหมอเองก็ดูข้อมูลสุขภาพ ทำการตรวจและวินิจฉัย ตัวอย่างเช่น ตอนนั้นตนเองมีอาการเจ็บที่ตา หมอก็ให้ขยับลูกตามาใกล้ๆ กล้อง เป็นต้น สะท้อนว่าคุณหมอใส่ใจที่จะรักษาดูแลผู้ป่วยจริงๆ แม้ว่าจะเป็นการให้บริการผ่านทางระบบออนไลน์ก็ตาม
“ถือว่าดีมากๆ อย่างค่าเดินทางไปโรงพยาบาลแต่ละครั้งประมาณ 100 บาท ค่าอาหารจานหนึ่งก็ไม่ต่ำกว่า 50 บาท ค่าใช่จ่ายเหล่านี้สามารถเก็บมาเป็นค่าใช้จ่ายในบ้านได้ ช่วยประหยัดได้เยอะมาก หรือถ้าเจ็บป่วยแต่ไม่สะดวกไปโรงพยาบาล หรือจะไปได้อีก 2-3 วันให้หลัง อย่างน้อยตู้นี้ช่วยรักษาเบื้องต้นก่อน และไม่เฉพาะแค่ตู้ห่วงใย ตอนนี้บัตรทองก็ไปรับบริการที่คลินิกเอกชนได้โดยใช้บัตรประชาชนใบเดียวเหมือนกัน เป็นการดูแลประชาชนให้มีสุขภาพที่ดี เจ็บป่วยก็ไม่ต้องทนเก็บอาการ เพราะเมื่อไปรักษาก็ให้หาย เก็บแรงไปทำงานหาเลี้ยงครอบครัว” น.ส.นันธกานต์ กล่าว
น.ส.นันธกานต์ กล่าวว่า อยากฝาก สปสช. เรื่องใบส่งตัว เพราะตนเป็นคนที่ต้องไปรับบริการที่โรงพยาบาลเป็นประจำ อยากให้มีระบบที่ใช้ใบส่งตัวที่ออกแค่ครั้งเดียวแล้วรักษาโรคนั้นไปจนหาย ไม่ต้องกลับมาเอาใบส่งแต่ละครั้งที่ต้องไปหาหมอ ซึ่งเสียเวลาและค่าเดินทางโดยใช่เหตุ
ด้าน นางสมพร มีสมพร อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ชุมชนเคหะสถานเจริญไชย กล่าวว่า ส่วนมากคนในชุมชนจะทำอาชีพหาเช้ากินค่ำ การไปหาหมอแต่ละครั้งต้องเสียเวลาหาเงินไป 1 วัน เสียค่าเดินทาง อย่างน้อยๅนั่งมอเตอร์ไซค์ก็ 70 บาท และประชาชนที่นี่กว่าร้อยละ 50 ใช้สิทธิบัตรทอง ตู้ห่วงใยจึงน่าจะมีประโยชน์ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อีกทั้งไม่จำกัดว่าต้องมารับบริการในเวลาราชการ ถือว่าดีกับชุมชนเราและชุมชนรอบข้าง
“ด้วยความที่เป็น อสส. เวลามีคนไม่สบายเขาก็มาหาเรา มาขอยาประเภทยาสามัญประจำบ้าน พอมีตู้ห่วงใย ได้พบคุณหมอผ่านทางวิดีโอ ก็ช่วยในเรื่องการวินิจฉัยได้ดีขึ้น ส่วน อสส. ก็ช่วยสนับสนุนให้ผู้ป่วยปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์” นางสมพร กล่าว
นางสมพร กล่าวว่า การจะทำให้ตู้ห่วงใยมีการใช้งานอย่างยั่งยืน อย่างแรกต้องงมีการประชาสัมพันธ์ให้คนในชุมชนเข้าใจถึงประโยชน์ที่จะได้รับ และหากทำให้ทุกสิทธิสามารถใช้บริการได้จะยิ่งทำให้ประชาชนทุกคนใช้บริการได้เรื่อยๆ และทำให้ตู้ห่วงใยมีความยั่งยืนมากกว่าให้เฉพาะสิทธิบัตรทองเพียงกลุ่มเดียว