หนังสือ … ‘ผีเขมร’
ผู้เขียน … สัจภูมิ ละออ
จัดพิมพ์โดย … สำนักพิมพ์แสงดาว ราคา … 370 บาท
เปิดตำนานลี้ลับแห่งดินแดนขอม! หลายคนเคยขนลุกกับเรื่องผีไทยกันมาแล้ว แต่คุณรู้จัก “ผีเขมร” แค่ไหน?
เรื่องเล่าที่ทั้งหลอนและน่าค้นหาจากกัมพูชา ถูกถ่ายทอดใน “ผีเขมร” หนังสือที่จะพาคุณดำดิ่งสู่โลกของภูตผีปีศาจจากตำนานปราสาทขอม ผ่านเรื่องราวที่ถูกเล่าขานมาหลายชั่วอายุคน รวมถึงพิธีกรรมเกี่ยวกับวิญญาณที่ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
เปิดกรุเรื่องเล่าสุดสะพรึงจากความเชื่อเขมร อาทิ เมร็ญก็วงเวียล-ผีเด็กลึกลับผู้คอยปกปักรักษาสัตว์ป่า, จุมเนียงเผตียะฮ์-ผีเรือนที่สถิตอยู่ในบ้าน คอยดูแลผู้อยู่อาศัย, งูเก็งกอง-งูปีศาจแห่งป่าลึก แฝงเร้นในความมืดเพื่อรอเล่นงานผู้คน, ผีหัวขาด-วิญญาณเฮี้ยนของผู้เสียชีวิตอย่างโหดร้ายที่ยังคงวนเวียน, เปรตและปอบเขมร-วิญญาณเร่ร่อนและปีศาจกระหายเลือด เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวลี้ลับที่คุณอาจไม่เคยรู้! ทำไมชาวเขมรต้องทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษทุกปี? ผีบางตนทำไมไม่สามารถไปผุดไปเกิดได้? ความเชื่อเรื่องวิญญาณสะท้อนวิถีชีวิตและศาสนาอย่างไร?
นี่ไม่ใช่แค่หนังสือเรื่องผีแต่มันคือหน้าต่างสู่จิตวิญญาณของชาวเขมร!
หนังสือเล่มนี้รวบรวมเรื่องเล่าพื้นบ้าน ความเชื่อ และวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับภูตผีของกัมพูชา พร้อมการวิเคราะห์ที่ช่วยให้เข้าใจว่าผีไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องน่ากลัว แต่ยังสะท้อนถึงประวัติศาสตร์ ความเชื่อ และแนวคิดของสังคม
••‘ศาสนาผี’คติความเชื่อคนไทยที่ผสมผสานอย่างลงตัว••
••ความเชื่อแบบไทยๆ‘ภารตะ-สยาม-ผี-พราหมณ์-พุทธ’••
“… การทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น ถึงจะมาก ก็ไม่ควรให้เป็นเหตุทำลายประโยชน์ที่เป็นจุดหมายของตน…” คติธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตโต) วัดญาณเวศกวัน
…• เริ่มต้นคอลัมน์ในสัปดาห์นี้ ขอแนะนำหนังสือดีจากสำนักพิมพ์มติชน นำเสนอ “ศาสนาผี” ผู้เขียน : สุจิตต์ วงษ์เทศ … ศาสนาผี ความเชื่อเก่าแก่ในอุษาคเนย์และอาจจะของโลก มีมาก่อนศาสนาใดๆ ไม่ว่าพุทธหรือพราหมณ์ ปรากฏพบเห็นเป็นมรดกทางประเพณีวัฒนธรรม หรือหลักฐานทางโบราณคดีของมนุษย์ยุคโบราณ ความเชื่อเรื่องผีปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะผสมกับความเชื่อทางพุทธและพราหมณ์ ผีจึงกลายเป็นตัวแทนความหวาดกลัว สยดสยอง ปองร้าย มากกว่าเป็นพลังอำนาจควรค่าเคารพบูชา อย่างไรก็ดี ความยิ่งใหญ่ของผีก็ยังหลงเหลืออยู่ในสำนึกของคนไทย ตกทอดเป็นความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรมของชนบางกลุ่มบางวัฒนธรรมในประเทศไทย ซึ่งสามารถสืบย้อนหารากเหง้าได้จากหลายเรื่อง เป็นต้นว่า เรื่องของ “ขวัญ” พลังชีวิตของมนุษย์, การเข้าทรง, ความตายและงานศพ ฯลฯ ทั้งหมดล้วนมีที่มาหรือมีคติผีตกทอดสอดแทรกอยู่ เรื่องศาสนาผีจึงเป็นกุญแจไขความเข้าใจคติ ความเชื่อ และศาสนาของคนไทยที่ผสมผสานหลากหลายอย่างลงตัว
…• “ภารตะ-สยาม ศาสนาต้อง (ไม่) ห้ามเรื่องการเมือง?” ผู้เขียน : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง … รวมบทความชวนตั้งคำถามชวนถกเถียงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับเมือง ซึ่งมักเป็นประเด็นที่ถูกมองว่าไม่เกี่ยวข้องกันเสมอมา ทั้งที่ในความเป็นจริง หากนิยามว่าการเมืองคือ “อำนาจนานาชนิดในการจัดสรรแบ่งปันทรัพยากร” แล้ว ศาสนาเองก็ไม่อาจปลอดพ้นไปจากการเมืองได้ ลำดับชั้นวรรณะและอำนาจต่างๆ ที่แฝงฝังซ่อนเร้นอยู่ในวงการศาสนา ต่างก็เป็นสิ่งยืนยันความเป็นการเมืองในศาสนาเอง ยิ่งศาสนาในสังคมไทย เป็นการเมืองเสียยิ่งกว่าการเมือง อีนุงตุงนังกับชีวิตใกล้ตัวเราอย่างแยกไม่ออก ไม่การเมืองไปยุ่งกับศาสนา ศาสนาก็มายุ่งกับการเมือง หนังสือเล่มนี้จะเปิดมุมมองใหม่ในเรื่องศาสนากับการเมืองให้แก่ผู้อ่าน ทั้งในมิติที่เกี่ยวข้องกับพุทธ พราหมณ์ ไสยศาสตร์ รวมถึงข้อเสนอปฏิรูปศาสนาไปพร้อมกับการเมือง ด้วยความมุ่งหวังที่ต้องการเห็นศาสนาดำรงอยู่ต่อไปในโลกสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวัน
…• อีกเล่มผลงานของนักเขียนคนเดียวกัน “ภารตะ-สยาม? ผี พราหมณ์ พุทธ?” ผู้เขียน : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง … รวมบทความชวนคิดชวนถกเถียงที่มาของ “ความเชื่อแบบไทยๆ” ว่าเราเป็นแบบไหน เป็นสังคมเชื่อผี? สังคมนับถือพราหมณ์? หรือสังคมเมืองพุทธ? (อย่างที่ชอบเคลมกัน) และขุดรากที่มาของประเพณีหรือขนบบางอย่างที่บางทียังไม่เคยรู้เลยด้วยซ้ำว่า นี่ไม่ใช่ของไทยอย่างที่เราเข้าใจ ผู้เขียนจะพาเราไปสำรวจหารากทางวัฒนธรรมที่แท้จริงของสิ่งที่เราเป็น รวมถึงตั้งคำถามว่า หรือแท้จริงแล้วรากที่ว่านั้นก็คือการหลอมรวมของความเชื่อและวัฒนธรรมประเพณีที่ผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนาน โดยที่ไม่เคยมีสิ่งใดอยู่อย่างโดดเดี่ยวเป็นเอกเทศ โดยไม่ยึดโยงกับอะไรเลย
…• หนังสือพิมพ์ “มติสวรรค์” ฉบับเดือนมีนาคม 2568 พาดหัวข่าวใหญ่น่าสนใจ … สมเด็จพระสังฆราช ประทานคติธรรมวันมาฆบูชา ให้ประพฤติแห่งตนและไม่พูดร้ายอันก่อโทษประทุษร้ายหยาบกระด้าง ซึ่งนับเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการพัฒนาตนตามหลักพระพุทธศาสนา, พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้าคุณโสภณ เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร เป็นพระพรหมวชิราทร และตั้งเจ้าคุณวราห์ เจ้าอาวาสวัดโพธิทอง เป็นพระเทพวชิรวิทยานุสิฐ, โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ หวั่นพระสงฆ์เสี่ยงไขมันพุ่งเปิดหอรับอาพาธ ซึ่งกรุงเทพมหานคร เร่งให้ความรู้ด้านปัญหาสุขภาพจิตใจย่ำแย่ ป้องกันโรคร้าย และส่งเสริมให้วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน, นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี แนะพระทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ให้เข้าไปสอนธรรมะ ศาสนา ศีลธรรม ในโรงเรียน ติงกระทรวงศึกษาธิการไม่ได้ดำเนินการให้เข้าไปสอนแล้ว อาจต้องเข้าไปดำเนินการเอง สนใจหาซื้อได้ตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป
…• พบกับหนังสือดีในเครือมติชนที่ขนมาจำหน่ายในราคาสุดพิเศษ!! ที่สำนักพิมพ์มติชน บูธ J02 พบกันได้ง่ายๆ เพียงเข้าประตู Hall 6 งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 53 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 23 วันที่ 27 มีนาคม-7 เมษายน 2568 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งแต่เวลา 10.00-21.00 น.
…• แล้วพบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า
คนข่าวธรรมะ
chatchyros@hotmail.com