ยลเสน่ห์หัตถกรรม ‘สานกระจูด’ วิถีริมฝั่งทะเลน้อย
GH News March 29, 2025 02:09 PM

ท่ามกลางผืนน้ำอันกว้างใหญ่ที่ทอดตัวระหว่าง ทะเลน้อย และ ทะเลสาบสงขลา ชุมชนบ้านทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เปรียบเสมือนขุมทรัพย์แห่งวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและกลมกลืนกับธรรมชาติ ชุมชนแห่งนี้มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ย้อนกลับไปถึงยุค สุโขทัย เคยเป็นดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ไปด้วย ต้นตะเคียนสูงตระหง่าน ก่อนจะถูกโค่นเพื่อนำไปสร้างเรือศึก จนทำให้ชุมชนดั้งเดิมล่มสลายไปตามกาลเวลา

 แต่ธรรมชาติไม่เคยทอดทิ้งทะเลน้อย เมื่อกาลเวลาผ่านไป ความอุดมสมบูรณ์ได้ฟื้นคืน ผู้คนจึงอพยพกลับมาตั้งรกรากใหม่ สืบสานอาชีพ เกษตรกรรม ประมงพื้นบ้าน และงานหัตถกรรม เอกลักษณ์ของบ้านทะเลน้อยสะท้อนผ่าน หัตถกรรมกระจูด ที่ประณีตและสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น นักท่องเที่ยวยังสามารถสัมผัสวิถีชีวิตของชุมชนผ่าน การล่องเรือชมบัวแดง ดูควายน้ำแหวกว่ายกลางผืนน้ำ และเรียนรู้การยกยอจับปลา ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ยังคงมีให้เห็นมาจนถึงปัจจุบัน

ชุมชนบ้านทะเลน้อย ตากกระจูดเตรียมนำไปรีด

จากรากฐานแห่งวัฒนธรรมอันแข็งแกร่ง บ้านทะเลน้อยได้พัฒนา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวิถีชีวิตของชาวชุมชนอย่างใกล้ชิด สร้างอาชีพและรายได้ให้กับชาวบ้าน เกิดเป็นเศรษฐกิจวัฒนธรรม ที่มั่นคงและยั่งยืน จึงเป็นเหตุให้ กระทรวงวัฒนธรรม ได้คัดเลือกให้ชุมชนบ้านทะเลน้อย เป็น 1 ใน 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบเที่ยวชุมชนยลวิถี ประจำปี 2567

วิสาหกิจชุมชนกระจูดวรรณี

ในทริปนี้จุดหมายปลายของเราจึงได้มาเยือนที่ชุมชนบ้านทะเลน้อย  มาถึงบ้าน 2 ชั้น ที่บริเวณบ้านถูกตกแต่งด้วยผ้าดิบผืนสีขาวที่ถูกแต่งแต้มด้วยสีสันต่างๆ อีกฝั่งคือผ้าสีขาวหมดจดที่ถูกตากไว้เหมือนกำลังรอการนำไปลงสี บรรยากาศอันร่มรื่นด้วยแมกไม้ที่ปลูกปกคลุมให้ร่มเงา บ้านหลังนี้คือ เรินตาอ้น ซึ่งในภาษากลางแปลว่า เรือนตาอ้น

 ที่นี่เป็นศูนย์การเรียนรู้ผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติและเทคนิค Eco-print อย่างเรียบง่าย ก่อตั้งโดย โฉมสอางค์ เฮ่ประโคน เจ้าของบ้านผู้มีแนวคิดอยากกลับมาทำงานที่บ้าน สำหรับการทำมัดย้อมและเทคนิค Eco-print ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นใบไม้หรือดอกไม้ทุกชนิดที่ปลูกในรั้วบ้าน นอกจากจะช่วยส่งเสริมการใช้ทรัพยากรที่หาได้ง่ายแล้ว ลวดลายที่เกิดขึ้นบนผ้ายังมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่มีชิ้นไหนเหมือนกันเลย เรียกได้ว่า แต่ละผืนมีเพียงชิ้นเดียวในโลก


กระจูดจากการปักเย็บเป็นรูปสัตว์น่ารักๆ

ไปต่อที่แหล่งสร้างสรรค์งานหัตถกรรมจากกระจูด ที่วิสาหกิจชุมชนกระจูดวรรณี โดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาต่อยอด จากเดิมที่กระจูดถูกใช้เพียงในการทอเสื่อ ถูกพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่าและเติบโตเป็นวิสาหกิจชุมชน โดยยังคงเอกลักษณ์ของลวดลายดั้งเดิม แต่ผสมผสานกับความร่วมสมัยให้มีความโดดเด่นและทันสมัยมากขึ้น ลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ ได้แก่ ลายพระราชทานตัวขอ ลายตัวขอประยุกต์ ลายลูกแก้วประยุกต์ ลายลูกแก้วโบราณ รวมถึงลายโนรา ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสีสันของลูกปัดในเครื่องแต่งกายโนรา ถูกนำมาตีความใหม่ให้กลายเป็นลายกราฟิกที่มีเสน่ห์

กระเป๋าจากกระจูด  ลายโนรา

เพิ่มความโดดเด่นด้วยสีสันของการเย็บปักเป็นลวดลายใบหน้าสัตว์และดอกไม้ เพิ่มความน่ารักและความแปลกใหม่ให้กับผลิตภัณฑ์ งานหัตถกรรมจากกระจูดที่สร้างสรรค์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋า เฟอร์นิเจอร์ หรือของใช้ในบ้าน ล้วนถูกออกแบบให้มีดีไซน์ร่วมสมัย เข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น ทำให้ได้รับความนิยมทั้งในไทยและต่างประเทศ อีกทั้งยังช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงกว่า 200 ครัวเรือน และส่งเสริมการอนุรักษ์การสานกระจูดให้คงอยู่

ยายหงวน ผู้ซึ่งยึดอาชีพสานกระจูดมายาวนาน

อีกหนึ่งแห่งที่มีวิถีสานกระจูดมายาวนาน หมู่บ้านหัตถกรรม ประมงเก่าแก่ ชุมชนบ้านทะเลน้อย เมื่อก่อนด้วยสภาพพื้นที่ที่เป็นป่าดิบชื้นทำให้มีพันธุ์ไม้นานาชนิดรวมถึงต้นกระจูดจำนวนมาก ชาวบ้านหลังจากว่างเว้นจากทำประมง ก็จะนำกระจูดมาสานเป็นเสื่อไว้ใช้มนครัวเรือน ปัจจุบันด้วยสภาพของระบบนิเวศที่เปลี่ยนไปทำให้กระจูดอาจจะหาได้ยากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันชาวบ้านในพื้นที่แห่งนี้ก็ได้เริ่มนำกระจูดมาสานเป็นกระเป๋าหรือตะกร้า ทำให้เกิดรายได้เสริมมากยิ่งขึ้น

โรงรีดกระจูดในชุมชนบ้านทะเลน้อย

ที่นี่บ้านเรือนแทบทุกหลังตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลน้อย ทำให้สะดวกต่อการออกเรือไปทำประมง ตรอกเล็กๆ ที่ปูพื้นด้วยปูนสามารถเดินได้เพียง 2-3 คน เราเดินลัดเลาะไปเรื่อยๆ ระหว่างทางจะเห็นบ้านหลายหลังนำกระจูดมาตากแห้ง ทั้งแบบย้อมสีและสีธรรมชาติ บริเวณชานบ้านถูกใช้เป็นพื้นที่นั่งสานกระจูดอย่างเรียบง่าย อีกทั้งภายในขุมชนยังมีโรงรีดกระจูดแบบดั้งเดิมของส่วนร่วม ซึ่งต้องอาศัยแรงคนในการกลิ้งปูนขนาดใหญ่เพื่อให้กระจูดเรียบและง่ายต่อการสาน เราแวะเยี่ยมบ้านของยายหงวน หมื่นหนู ซึ่งกำลังนั่งสานกระจูดร่วมกับลูกสาวอีกสามคน แม้จะอายุ 95 ปีแล้ว แต่ฝีมือของยายหงวนยังคงคล่องแคล่วและประณีต

ตากกระจูดรับแสงแดด

สุดา หมื่นหนู ลูกสาวคนโต เล่าให้ฟังว่า แม่ของเธอสานกระจูดมาตั้งแต่สาวๆ เพื่อหารายได้จุนเจือครอบครัว แม้ในปัจจุบันจะสานไม่ไหว แต่ก็มีบ้างที่แม่จะยังคงมานั่งสานกระจูดช่วย เธอจึงได้เรียนรู้และซึมซับภูมิปัญญานี้มาตั้งแต่เด็ก และยึดเป็นอาชีพเลี้ยงชีพเรื่อยมา สำหรับชุมชนแห่งนี้กระจูดจึงไม่ใช่เพียงแค่งานหัตถกรรม แต่ยังสะท้อนถึงวิถีชีวิตและเป็นแหล่งรายได้ที่หล่อเลี้ยงหลายครอบครัวมาอย่างยาวนานอีกด้วย

ก่อนกลับเมืองกรุง ก็แวะเข้าเมืองมาชมวังเจ้าเมืองพัทลุง ซึ่งพื้นที่ของวังแบ่งออกเป็นสองส่วน ได้แก่ วังเก่าและวังใหม่ โดยวังเก่าตั้งอยู่ด้านหน้า สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ใช้เป็นทั้งสถานที่ว่าราชการและที่พักของพระยาอภัยบริรักษ์ (น้อย จันทโรจวงศ์) เจ้าเมืองพัทลุง ระหว่างปี 2412-2431 ต่อมาวังตกทอดสู่หลวงศรีวรวัตร (พิณ จันทโรจวงศ์) และเมื่อการปกครองระบบเจ้าเมืองสิ้นสุดลง ตระกูลจันทโรจวงศ์ได้มอบวังให้กรมศิลปากรดูแล

ผืนน้ำทะเลน้อย

วังเก่าได้รับการบูรณะจากสภาพทรุดโทรม แต่ยังคงโครงสร้างเดิม ตัวเรือนเป็นเรือนไทยไม้ทั้งหลัง ลักษณะแฝดสามหลัง ยกใต้ถุนสูงและตั้งขวางตะวัน เรือนหลังที่ 1 และ 2 ใช้เป็นห้องนอน ตกแต่งให้มีบรรยากาศใกล้เคียงกับอดีต ผนังบ้านติดรูปถ่ายของพระยาอภัยบริรักษ์และภาพวังเก่าในสมัยก่อน ขณะที่ชานบ้านด้านนอกเคยใช้เป็นสถานที่ว่าราชการ และเชื่อมต่อไปยังเรือนครัว

จุดลงเรือท่องเที่ยวชมบัวแดงและควายน้ำ

ส่วนด้านหลังวังเก่าเป็นที่ตั้งของวังใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ติดคลองลำปำ วังแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นภายหลัง โดยหลวงจักรานุชิต (เนตร จันทโรจวงศ์) บุตรชายของพระยาอภัยบริรักษ์ หลังจากได้รับตำแหน่งเจ้าเมืองพัทลุงและต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นจางวางที่ปรึกษาราชการเมือง วังใหม่ยังคงสไตล์เรือนไทยแต่สร้างด้วยอิฐและปูน ยกพื้นสูง มีลานทรายตรงกลางที่ล้อมด้วยกำแพงอิฐ วังใหม่ประกอบด้วยอาคาร 5 หลัง เรือนแฝด 2 หลังเป็นที่พักของเจ้าเมือง ภรรยาเอก และบุตร ภายในมีห้องนอนหลายห้อง ล้อมรอบด้วยเรือนขนาดเล็กอีก 3 หลัง ซึ่งเป็นที่พำนักของอนุภรรยาและบุตร ดูงดงามมากๆ

วิถีประมงพื้นบ้านของชาวทะเลน้อย

 บริเวณริมคลองมีสวนร่มรื่นและศาลาริมน้ำ อีกทั้งยังมีเรือพัทลุงเก่าจอดอยู่ ซึ่งปัจจุบันมีความทรุดโทรมไปมาก เชื่อกันว่าเรือลำนี้เคยใช้เป็นพาหนะสำหรับส่งเอกสารและติดต่อราชการ ลักษณะของเรือเป็นท้องแบน มีเก๋งสองชั้น ชั้นบนเป็นดาดฟ้า ส่วนชั้นล่างใช้เป็นที่พัก เมื่อเดินชมจนทั่วก็ได้เวลาโบกมือลา แต่เต็มไปด้วยความประทับใจที่เมืองพัทลุงแห่งนี้ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่น่ามาเยือนอีกหลายๆรอบเลย  

วังเก่า อันทรงคุณค่า
วังใหม่สุดงดงาม
เรือโบราณบริเวณริมคลองลำปำ
ภาพเก่าของวังเจ้าเมืองพัทลุง
เฟอร์นิเจอร์การกระจูด แบรนด์กระจูดวรรณี 

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.