ผลวิจัยล่าสุดเผย พื้นที่ที่มีระดับไมโครพลาสติกสูงจะมีอัตราการเกิดโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไม่ติดต่ออื่นๆ เพิ่มสูงขึ้น
ทุกวันนี้อนุภาคพลาสติกขนาดเล็กที่เรียกว่า 'ไมโครพลาสติก' กำลังแพร่กระจายปนเปื้อนอยู่ในทั้งในสิ่งแวดล้อมและในร่างกายมนุษย์ ซึ่งงานวิจัยใหม่ที่นำเสนอในการประชุมวิชาการประจำปี ของวิทยาลัยแพทย์โรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า หากมนุษย์มีการสัมผัสกับอนุภาคเหล่านี้ในปริมาณที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะโดยการกินหรือสูดดมเข้าไป ก็จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เพิ่มมากขึ้น
ผลการวิจัยดังกล่าวนับว่ามีส่วนสนับสนุนให้มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า มลพิษจากไมโครพลาสติกอาจเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของมนุษย์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองในระดับที่เทียบได้กับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ในขณะที่ดูเหมือนมะเร็งจะไม่มีความเกี่ยวข้องกับมลพิษจากไมโครพลาสติก
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยกล่าวว่าหลักฐานจากงานวิจัยนั้นไม่ได้หมายความว่าไมโครพลาสติกจะก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพเหล่านี้เสมอไป ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาว่ามีความสัมพันธ์เชิงสาเหตุหรือไม่ หรือเกิดขึ้นพร้อมกับปัจจัยอื่นที่นำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพหรือไม่ นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องทำการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อระบุปริมาณการสัมผัสหรือระยะเวลาที่อาจต้องใช้ในการสัมผัสกับไมโครพลาสติกที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
นักวิจัยเผยว่า จากหลักฐานที่มีอยู่ เชื่อได้ว่าไมโครพลาสติกอาจมีบทบาทบางอย่างต่อสุขภาพ และเราต้องดำเนินการเพื่อลดการสัมผัส แม้ว่าจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการสูดดมไมโครพลาสติกได้อย่างสมบูรณ์เมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อม เนื่องจากไมโครพลาสติกมีอยู่ทั่วไปและมีขนาดเล็กมาก แต่ผู้วิจัยกล่าวว่าวิธีที่ดีที่สุดในการลดการสัมผัสกับไมโครพลาสติกคือการลดปริมาณการผลิตและการใช้พลาสติก และกำจัดให้ถูกต้อง
ไมโครพลาสติก หมายถึงเศษพลาสติกที่มีขนาดระหว่าง 1 นาโนเมตรถึง 5 มิลลิเมตร จะถูกปล่อยออกมาเมื่อมีชิ้นส่วนพลาสติกขนาดใหญ่สลายตัว ไมโครพลาสติกมีที่มาจากหลายแหล่ง เช่น บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค และวัสดุก่อสร้าง โดยผู้คนอาจสัมผัสกับไมโครพลาสติกในน้ำที่ดื่ม อาหารที่พวกเขากิน และอากาศที่หายใจ