บาทอ่อนค่า จับตาแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐ
jit April 01, 2025 09:21 AM

บาทอ่อนค่า จับตาแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐ ขณะที่นักลงทุนกังวลการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ โกลด์แมน แซคส์คาดเฟดจะลดดอกเบี้ยลง 3 ครั้งในปีนี้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 31 มีนาคม 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (31/03) ที่ระดับ 33.97/99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (18/3) ที่ระดับ 33.85/86 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยในวันศุกร์ (28/3) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.5% ในเดือน ก.พ.เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 2.5% ในเดือน ม.ค. ขณะที่ถ้าเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือน ก.พ. สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 0.3% ในเดือน ม.ค.

ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญปรับตัวขึ้น 2.8% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 2.7% จากระดับ 2.7% ในเดือน ม.ค. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือน ก.พ. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.3% จากระดับ 0.3% ในเดือน ม.ค.

ทั้งนี้ในวันเดียวกัน ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหัฐร่วงลงสู่ระดับ 57.0 ในเดือน มี.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2565 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 57.9 จากระดับ 64.7 ในเดือน ก.พ. โดยได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 5.0% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเดือน ก.พ.ที่ระดับ 4.3%

นอกจากนี้ ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 4.1% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเดือน ก.พ.ที่ระดับ 3.5% อีกทั้งกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือน ก.พ. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.5% หลังจากลดลง 0.3% ในเดือน ม.ค. นอกจากนี้ รายได้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือน ก.พ. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.4% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือน ม.ค.

วันนี้ (31/03) โกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 3 ครั้งในปีนี้ ในการประชุมเดือนกรกฎาคม กันยายน และพฤศจิกายน เนื่องจากมาตรการภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

นอกจากนี้คาดการณ์ว่ามาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ซึ่งรัฐบาลทรัมป์จะประกาศในวันพุธที่ 2 เม.ย. จะส่งผลให้เงินเฟ้อของสหรัฐปรับตัวสูงขึ้น โดยคาดว่าภายในสิ้นปี 2568 ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE) จะอยู่ที่ระดับ 3.5% และคาดว่าอัตราว่างงานจะปรับตัวขึ้นแตะระดับ 4.5% อีกทั้งได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาส 4/2568 ของสหรัฐลงมาอยู่ที่ระดับ 1% จาก 1.5% และได้ปับเพิ่มโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วง 12 เดือนข้างหน้าเป็น 35% จากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 20%

ด้านปัจจัยภายในประเทศ ในวันเสาร์ (29/03) รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยถึงสถานการณ์การท่องเที่ยวภายหลังเกิดหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.4 แมกนิจูด ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา และรับรู้ได้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า จากการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ไม่พบความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว รวมถึงไม่มีรายงานนักท่องเที่ยวได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว

สำหรับภาพรวมการท่องเที่ยวไทย ยังไม่ได้รับผลกระทบ ยังไม่มีการยกเลิกการเดินทาง การจอง หรือยกเลิกการบินของสายการบิน ทั้งนี้ กระทรวงจะเร่งให้ความเชื่อมั่นโดยเดินหน้าจัดกิจกรรมต่าง ๆ ตามที่จัดโปรแกรมไว้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรองระหว่าง 33.83-34.01บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ 33.91/92 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (31/03) ที่ระดับ 1.0835/38 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (28/03) ที่ระดับ 1.0819/22 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยในวันนี้ (31/03) โกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 3 ครั้งในปีนี้ เนื่องจากมาตรการภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

โดยคาดว่า ECB จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน เมษายน มิถุนายน และกรกฎาคม เนื่องจากคาดว่าการอัตราเติบโตของเศรษฐกิจในสหภาพยุโรป (EU) มีแนวโน้มอ่อนแอลง นอกจากนี้ โกลด์แมน แซคส์ ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของ GDP ตลอดปี 2568 และปรับเพิ่มคาดการ์เงินเฟ้อของ EU โดยพิจารณาบนพื้นฐานของการคาดการณ์ว่า EU อาจจะใช้มาตรการภาษีตอบโต้สหรัฐ

ทั้งนี้ คาดว่า GDP ของ EU จะขยายตัวเพียง 0.1%, 0.0%, และ 0.2% ในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ตามลำดับ พร้อมกับปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของ EU ขึ้นสู่ระดับ 2.1% ในไตรมาส 4 เทียบกับตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 2% ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวกรอบระหว่าง 1.0804-1.0849 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0827/28 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (31/03) ที่ระดับ 149.08/09 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (28/03) ที่ระดับ 150.01/03 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยในวันศุกร์ (28/03) ทางการญี่ปุ่นเปิดเผยว่าเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ในกรุงโตเกียวเดือน มี.ค. เพิ่มขึ้นเป็น 2.4% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าเร่งตัวขึ้นจาก 2.2% ในเดือน ก.พ. และยังคงสูงกว่าเป้าหมาย 2% ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)

โดยตัวเลขดังกล่าวที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 2.2% และยิ่งตอกย้ำว่า BOJ อาจพิจารณาขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในเร็ว ๆ นี้ เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ โดยสาเหตุหลักที่เงินเฟ้อสูงขึ้นยังคงมาจากราคาอาหารที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่บริษัทต่าง ๆ ผลักภาระต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นมาให้ผู้บริโภค

ทั้งนี้ในวันนี้ (31/03) ข้อมูลจากรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า การเติบโตของยอดค้าปลีกญี่ปุ่นชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญในเดือน ก.พ. โดยเพิ่มขึ้น 1.4% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 2.0% และส่งสัญญาณถึงแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นต่อเศรษฐกิจท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงภายนอก

โดยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) รายงานว่า การเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบเป็นรายปีดังกล่าวถือเป็นการชะลอตัวลงอย่างรวดเร็วจากอัตราการเติบโตที่ 4.4% ในเดือน ม.ค. อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ยอดค้าปลีกในเดือน ก.พ.เพิ่มขึ้น 0.5% ซึ่งดีกว่าที่คาดการณ์ไว้เล็กน้อย

การชะลอตัวนี้ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่การบริโภคภายในประเทศจะอ่อนแอลง และเกิดขึ้นในขณะที่บริษัทญี่ปุ่นมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้าที่อาจเกิดขึ้นจากสหรัฐ เช่น การขึ้นภาษีนำเข้าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวถึง ซึ่งอาจส่งผลต่อการเติบโตและการค้าโลก ทั้งนี้ความกังวลมีสูงเป็นพิเศษเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ของสหรัฐ ซึ่งเป็นภาคการส่งออกที่สำคัญยิ่งของญี่ปุ่น

โดยบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ต่างเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นต่อการลงทุนและความเชื่อมั่นทางธุรกิจ โดยตัวเลขการบริโภคที่ค่อนข้างซบเซานี้ยิ่งเพิ่มความกังวลว่า ปีนี้อาจเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ของโลก ขณะที่ต้องเผชิญกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจจากภายนอก ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 148.68-149.79 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ 149.13/16 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

lj;oตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคชาวเยอรมัน (31/03), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเขตชิคาโกของสหรัฐ (31/03), รายงานดัชนีภาคการผลิตขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นจาก Tankan (01/04), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมการผลิตของยูโรโซน (01/04), ดัชนีราคาผู้บริโภคของยูโรโซน (01/04), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐ (01/04) จำนวนตำแหน่งเปิดรับสมัครงานของสหรัฐ (04/03), จำนวนการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐ (02/04),

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของยูโรโซน (03/04), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของสหรัฐ (03/04), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานรายสัปดาห์ (03/04), ตัวเลขที่แสดงการเปลี่ยนแปลงของจำนวนการจ้างงานในสหรัฐอเมริกา (04/04), อัตราการว่างงานของสหรัฐ (04/04), รายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมงของสหรัฐ (04/04)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.1/-6.9 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -5.0/-4.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.