สั่งบัญชีกลาง ศึกษาแนวทางอดีต หามาตรการเยียวยาเหตุแผ่นดินไหว ให้คปภ.บี้ บ.ประกันเร่งจ่ายสินไหม เชื่อไม่กระทบเป้า GDP 3%
เมื่อเวลา 12.20 น. วันที่ 1 เมษายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์หลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า นายกฯ ได้สั่งการในช่วงต้น โดยมอบหมายหลายกระทรวง ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อกระจายงานสั่งงานและมอบหมาย เพื่อดำเนินการรับมือภัยพิบัติในอนาคต ส่วนเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา นายกฯ ได้มีข้อสั่งการให้ไปตรวจสอบตึก สตง. ว่ามีเหตุผิดพลาดอะไร และใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งทุกหน่วยงานก็รับข้อสั่งการเพื่อไปดำเนินการต่อโดยเร็ว เพราะต้องการสร้างความกระจ่างให้กับประชาชน
เมื่อถามว่า นายกฯ ได้สั่งการเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจบ้างหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เบื้องต้นเป็นเรื่องสภาพจิตใจของประชาชนมากกว่า โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากแผ่นดินไหว แม้ว่าอาฟเตอร์ช็อกจะอยู่ในระดับที่ต่ำมาก จนไม่รับรู้แรงสั่นสะเทือน แต่ก็มีเหตุการณ์ที่ผู้คนอพยพออกมาจากตึก เราต้องมีการสื่อสารเพื่อให้เกิดความมั่นใจ รวมถึงดำเนินการตามที่นายกฯสั่งการนั่นคือ Full Investigation ว่าสาเหตุของการตึกถล่มเกิดขึ้นเพราะอะไร ต้องหาต้นตอว่าคืออะไร
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ เราต้องมาดูเรื่องมาตรการเยียวยา เช่น ในส่วนของกระทรวงการคลังได้ออกมาตรการโดยให้กรมบัญชีกลาง อนุมัติเงินทดลองให้กรมป้องกันและบรรเทาสาสาธารณภัย (ปภ.) เป็น 200 ล้านบาท และมีมาตรการทางการเงินของสถาบันการเงินของรัฐ ช่วยในเรื่องของสินเชื่อลดต้นลดดอกจำนวนมาก
นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้สั่งการไป 2 ส่วนคือ 1.อาคารหรือชีวิตของประชาชนที่มีการทำประกันไว้ ให้บริษัทประกันภัยที่อยู่ในกำกับทั้งหมดดำเนินการอย่าล่าช้า 2.การประกันภัยในส่วนของตึกสตง. ที่มีอยู่ 4 บริษัท ซึ่งได้มีการเบี่ยงเบนความเสี่ยงไปยังต่างประเทศ ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง และเราก็มีอำนาจหน้าที่กำกับให้กระบวนการเป็นไปอย่างรวดเร็ว
นายจุลพันธ์ ยังกล่าวอีกว่า กระทรวงการคลังได้ให้กรมบัญชีกลางไปดูรายละเอียดในการช่วยเหลือ และการเยียวยาประชาชนเนื่องจากเราไม่เคยเจอเหตุการณ์รุนแรงเช่นนี้จึงยังไม่เคยดำเนินการ ดังนั้นต้องไปดูประวัติการเยียวยาในอดีตทั้งหมดว่ากลไกเยียวยาช่วยเหลือจะเป็นอย่างไร โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ อาคารบ้านพัก และชีวิตประชาชน ซึ่งจะต้องดำเนินการให้ ครม. มีมติอนุมัติ ซึ่งหน่วยงานที่เป็นต้นเรื่องจะต้องส่งเรื่องเข้า ครม.
เมื่อถามว่า จะใช้เกณฑ์อะไรในการเยียวยา นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ต้องไปดูเกณฑ์เก่า เช่น ตอนเกิดเหตุการณ์สึนามิที่ จ.ภูเก็ต หรือตอนเหตุการณ์น้ำท่วมว่ามีการช่วยเหลืออย่างไร และมาดูความเหมาะสม
เมื่อถามว่า ได้ประเมินตัวเลขความเสียหายแล้วหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ยังไม่มีตัวเลขออกมา แต่มีการประเมินผลกระทบภาคใหญ่แล้ว แต่โดยภาพรวมระยะกลาง และระยะยาวไม่มีผลกระทบ ส่วนจะกระทบเป้าจีดีพี 3% หรือไม่นั้น ก็อาจจะมีปฏิเสธไม่ได้ แต่สุดท้ายเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจก็ต้องลงไปเชื่อว่าอย่างน้อยต้องไม่ต่ำกว่า 3%