ดีเอสไอลุยสืบสวน คดีตึก สตง.ถล่ม ปมนอมินี-ฮั้วประมูล-มอก. เฉพาะเหล็กไม่ได้มาตรฐาน
ข่าวสด April 01, 2025 04:00 PM

ดีเอสไอลุยสืบสวน คดีตึก สตง.ถล่ม ปมนอมินี-ฮั้วประมูล-มอก. เฉพาะเหล็กไม่ได้มาตรฐาน จะเร่งรัดดำเนินการให้รวดเร็วที่สุด

เมื่อวันที่ 1 เม.ย.68 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค ในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยถึงกรณี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เผยถึงประเด็นการช่วยเหลือเยียวยาผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเหตุแผ่นดินไหวและตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ที่กำลังก่อสร้างถล่มว่า

การประชุมเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นประธานการประชุมสรุปสถานการณ์ กรณีอาคาร สตง.ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างพังเสียหาย โดยมี ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.ท.อมร หงษ์สีทอง ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานดังกล่าว เข้าร่วมประชุม ที่ประชุมมีการรายงานข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวในมิติที่กรมสอบสวนคดีพิเศษเกี่ยวข้อง อีกทั้งรัฐบาลและกระทรวงยุติธรรมยังให้ความสำคัญ เพราะเป็นตึกเดียวที่ถล่ม รวมถึงประเด็นข้อสงสัยเรื่องวัสดุได้มาตรฐานหรือไม่ และประเด็นของผู้ประกอบการ รับจ้างก่อสร้างเป็นกิจการร่วมค้า ซึ่งเกิดคำถามกับสังคมหลายประการ

พ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า ที่ประชุมเล็งเห็นการพิจารณากฎหมาย 3 ส่วน ประกอบด้วย 1.พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (หรือการฮั้วประมูล) เน้นไปที่ผู้ที่ทำการก่อสร้าง 2.บริษัทเป็นกิจการร่วมค้า จึงทำให้ส่วนหนึ่งเป็นบริษัทต่างชาติ จึงมีประเด็นข้อกฎหมายเรื่อง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 และ 3.เรื่องเหล็กได้มาตรฐานหรือไม่ ซึ่งสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้รับผิดชอบก็จริง แต่ในคดีอาญา ดีเอสไอจะรับผิดชอบดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย

พ.ต.ต.วรณัน กล่าวอีกว่า สำหรับการตรวจสอบตามกฎหมายฮั้วประมูลของดีเอสไอ กฎหมายกำหนดไว้ว่า จะต้องมีมูลน่าเชื่อว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาเพื่อให้เป็นผู้มีสิทธิ์ทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีวงเงินหรือมูลค่าตั้งแต่ 30 ล้านบาทขึ้นไป หรือ 30 ล้านบาทก็ได้ ส่วนกฎหมายผลิตภัณฑ์มาตรฐานอุตสาหกรรม ค่อนข้างมีความซับซ้อนเล็กน้อย เนื่องจากหากเป็นกรณีที่มีมูลเชื่อว่า มีมูลค่าผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป หรือกรณีมีผู้เสียหายตั้งแต่ 100 รายขึ้นไป หรือมีจำนวนผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับความปลอดภัย หรือเป็นอันตรายต่อประชาชน 50,000 หน่วยขึ้นไปตามชนิดผลิตภัณฑ์

ส่วนกฎหมายเรื่องนอมินี ต้องดูประเด็นเรื่องการกล่าวหานิติบุคคล หรือคนต่างด้าว ซึ่งมีสินทรัพย์ตามงบแสดงสถานะการเงิน รวมกันตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งทั้ง 3 ข้อกฎหมายนี้ จะต้องไปดูรายละเอียดปลีกย่อยว่าอยู่ในเงื่อนไขที่ดีเอสไอจะรับเป็นคดีพิเศษได้หรือไม่

พ.ต.ต.วรณัน กล่าวต่อว่า ตามขั้นตอนแล้วหากเริ่มการสืบสวนจะต้องมีการเชิญสอบปากคำพยานกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากกิจการร่วมค้า เรื่องของนิติบุคคลตั้งแต่สองขึ้นไป เพื่อมาทำกิจการ จึงจำเป็นต้องสอบสวนผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ตามกฎหมายเบื้องต้นเราจะไปดูประเด็นหลัก เรื่องของการได้มาซึ่งสัญญาการก่อสร้างก่อน โดยตนขอย้ำว่า ในการสืบสวนเป็นเพียงการไปหาข้อเท็จจริงว่ามีประเด็นตามข้อกฎหมายที่ดีเอสไอจะรับไว้เป็นคดีพิเศษหรือไม่ แต่ไม่ได้หมายความว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดหรือไม่ จะยังไม่ได้ลงไปถึงเนื้อหาว่าใครเป็นผู้กระทำความผิด

พ.ต.ต.วรณัน กล่าวด้วยว่า กฎหมายดีเอสไอมีลักษณะสำคัญหนึ่งประการ คือ ถ้าคดีใดเป็นคดีพิเศษแล้ว และหลังจากนั้นพบว่ามีความผิดที่ต่อเนื่อง หรือความผิดที่เกี่ยวพันกัน หรือแม้แต่การกระทำเดียวกันแต่ผิดกฎหมายหลายบท กฎหมายก็บอกว่าให้เรื่องดังกล่าวเป็นคดีพิเศษด้วย ดังนั้น แม้จะรับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นคดีพิเศษก็ตาม เรื่องนอกเหนือจากนั้นจะเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันกันกับคดีพิเศษด้วย

พ.ต.ต.วรณัน กล่าวอีกว่า เรื่องคุณภาพของเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้าง ถือเป็นเรื่องที่สังคมตั้งคำถาม และเป็นเรื่องที่กระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน ทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงต้องลงรายละเอียดให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ส่วนกรณีที่ก่อนหน้านี้ได้มีพนักงานของบริษัทดังกล่าวได้พยายามทยอยขนแฟ้มเอกสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างออกไปจากสถานที่เกิดเหตุนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ในทางสืบสวน จะต้องมีการลงรายละเอียดปฏิบัติการอยู่แล้ว

ทั้งนี้ หากมีพฤติการณ์ พยานหลักฐานที่เข้าเงื่อนไขตามประกาศ กคพ. (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2565 เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ก็จะสามารถรับไว้ดำเนินการเป็นคดีพิเศษได้ โดยไม่ต้องชงเรื่องเสนอบอร์ดคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.)

พ.ต.ต.วรณัน กล่าวอีกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ กรอบระยะเวลาการสืบสวน เราจะเร่งรัดดำเนินการให้รวดเร็วที่สุด หากมีความคืบหน้าอย่างไรจะได้รายงานให้สาธารณชนรับทราบด้วย ส่วนกรณีที่ดีเอสไอจะเรียกความเชื่อมั่นจากสังคมเพื่อลุยตรวจสอบคดีนี้นั้น ต้องเรียนว่าที่ผ่านมา ดีเอสไอทำงานอย่างมืออาชีพ จะเห็นได้ว่าทำงานในลักษณะสหวิทยาการ ส่วนเรื่องของแรงกดดันและความกังวลใจ เราไม่มีแน่นอน เพราะภารกิจที่ดีเอสไอรับผิดชอบตามกฎหมายนั้น ก็เป็นเรื่องที่มีผลกระทบรุนแรงอยู่แล้ว ดีเอสไอจึงถูกออกแบบมาเพื่อสอบสวนคดีในลักษณะนี้

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.