นักวิทย์ เผยสาเหตุชัด ภาวะสมองหยุดชะงัก ทำไมคนมักชอบลืม-คิดไม่ออก ‘ยืนงงหน้าประตู’ เกิดจากอะไร
หลายคนคงเคยประสบเหตุการณ์ เมื่อเดินถึงหน้าประตูไม่ว่าจะเป็นประตูห้องหรือประตูบ้าน แต่จู่ๆ กลับยืนงงอยู่หน้าประตู นึกไม่ออก ลืมความตั้งใจแรกเริ่มว่า มาทำอะไร// ต้องทำอะไรต่อ
ตามรายงานเผยว่า คริสเตียน จาร์เร็ตต์ นักประสาทวิทยาการรับรู้และนักเขียนคอลัมน์ด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งเผยแพร่บทความผ่าน บีบีซี ไซแอนซ์ โฟกัส เรียกภาวะที่สมองหยุดชะงักกะทันหัน เมื่อเดินมาถึงประตูห้องหรือประตูบ้านนี้ว่า “ปรากฏการณ์ปากประตู” ชี้ถือเป็นเรื่องปกติ เกิดขึ้นได้กับทุกคน
ภาพประกอบ
สำหรับ ‘ปรากฏการณ์ปากประตู’ หมายถึง สภาวะคนที่ลืมจุดประสงค์ดั้งเดิมของตนเอง เมื่อเดินผ่านประตูเข้าไปในอีกห้องหนึ่ง หรือเมื่อเดินมาถึงหน้าประตูบ้าน โดยสภาวะดังกล่าวจะเกิดขึ้น เนื่องจากสมองของเราต้องการแบ่งกิจกรรม และข้อมูลตามบริบทของสภาพแวดล้อม
เมื่อคนเราย้ายจากห้องหนึ่งไปยังอีกห้องหนึ่ง ประตูทางเข้าจะทำหน้าที่เปรียบเสมือนตัวแบ่งขอบเขต โดยในจังหวะที่เราก้าวเท้าผ่านประตู สมองของเราจะเริ่มทำการรีเซ็ตหรืออัปเดตความเข้าใจสภาพแวดล้อมใหม่ ณ เวลานั้นเอง สมองของเราจะเกิดภาวะสมองว่างเปล่าชั่วคราว
ด้านทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์แห่งออสเตรเลีย ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า การเดินผ่านประตูที่เชื่อมห้องจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความจำ
แต่ทางนักวิจัยได้ข้อสังเกตว่า หากระหว่างเดินผ่านประตูและถูกให้ทำอะไร 2 อย่างพร้อมกัน ในส่วนนี้อาจส่งผลกระทบต่อความทรงจำได้
ภาพประกอบ
สิ่งนี้สอดคล้องกับประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน กล่าวคือ ส่วนใหญ่แล้ว เมื่อเราเสียสมาธิและหันไปโฟกัสอีกสิ่งชั่วขณะ มีแนวโน้มว่า เมื่อเดินผ่านประตูเข้าไปแล้ว เราจะลืมว่ามาที่นี่เพื่ออะไร
อย่างไรก็ตาม การวิจัยนี้ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า เอฟเฟกต์การยืนงงหน้าประตูมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่เห็นความแตกต่างกันอย่างมาก เช่น หากคุณเดินออกจากห้องนั่งเล่นไปยังสวน
ควรทำอย่างไรหากไม่อยากให้เกิดสภาวะดังกล่าว? ทางจาร์เร็ตต์ได้แนะนำว่า จากการวิจัยชี้ให้เห็นวิธีแก้ไขที่เป็นไปได้ คือ พยายามจดจ่อกับจุดมุ่งหมายของตนเอง เมื่อคุณเดินผ่านประตู เพื่อไปทำธุระ หรือไม่ก็ใช้วิธีจดบันทึกสิ่งที่ตนเองต้องทำก็จะช่วยให้ไม่เกิดสภาวะดังกล่าวได้