ซักฟอก'นายกฯ อิ๊งค์' สอบตกแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
GH News April 01, 2025 08:07 PM

ในเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  ฝ่ายค้านซักฟอก ผลงานนายกฯ “อุ๊งอิ๊ง”  2 วัน  แน่นอนว่า ไม่ได้มีแค่เรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุน ยังมีผลงานการแก้ปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แม้นายกฯ จะได้รับความไว้วางใจท่วมท้ม  319 เสียง ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไป แต่ในแวดวงนักวิชาการและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมผ่านหรือไม่ผ่าน

 มีมุมมองจาก นายภานุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ซึ่งเกาะติดศึกอภิปรายดีลแลกประเทศครั้งนี้ว่า ฝ่ายค้านนำเสนอปัญหาสิ่งแวดล้อมในการอภิปรายไม่ไว้วางใจและเชื่อมโยงถึงการขาดความรู้ความสามารถของ ผู้นำประเทศ ซึ่งผิดหวังกับการตอบของนายกฯ  เพราะตอบไม่ชัดเจน ตอบไม่ตรงคำถาม  แสดงให้เห็นว่านายกฯ ไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ตลอดช่วงปี 2567 ต่อเนื่องปี 2568 สถานการณ์สิ่งแวดล้อมรุนแรงและกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย แต่มาตรการแก้ปัญหาของรัฐบาลชุดนี้ยังผิวเผินและไม่แตกต่างจากรัฐบาลที่ผ่านมา เน้นไปในเรื่องการหาเงินมาชดเชยเยียวยา ตามมีตามเกิด จนเราสูญเสียงบประมาณประเทศกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแต่ละปีเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาล แต่ผลที่ได้เป็นเพียงการแก้ปัญหาแบบลิงแก้แห แก้อย่างหนึ่งแล้วไปเกิดปัญหาใหม่ขึ้นมาแทน และผ่านมายังไม่เคยเห็นรัฐบาลเอาจริงเอาจริงกับสิ่งที่สมควรลงมือทำ เพราะมีปัญหาใหญ่เรื่องโครงสร้างทางการเมือง ไปผูกกับ ‘กลุ่มทุน’ ผู้ก่อมลพิษ หรือผู้ใช้ทรัพยากรรายใหญ่ตัวจริง

ประธานมูลนิธิสืบฯ กล่าวว่า ไม่น่าแปลกใจที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงไม่ค่อยถูกพูดถึงในสภา หรือพูดง่ายๆ ว่าผลงานด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ยังสอบไม่ผ่าน หรือในบางเรื่องอาจยังไม่เคยเริ่มทำข้อสอบเลยเสียด้วยซ้ำ นายกฯ ไม่กล้าให้ข้อมูลในสภาฯ อาจเพราะไม่ทำการบ้าน ไม่เข้าใจปัญหาจึงไม่กล้าแตะเรื่องนั้น  ประกอบด้วยหลายเรื่อง ทั้งการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ เปลี่ยนมาเป็นแปลงเกษตรหรือรีสอร์ต ที่ดินจัดสรรขาย ล่าสุดคือแปลงทุเรียนบุกรุกพื้นที่ป่าทางภาคตะวันออก สะท้อนความล้มเหลวของการแก้ปัญหาที่ดินของรัฐบาล และเป็นเหตุสำคัญทำให้ผืนป่าลดลง เพราะที่ดินที่จัดสรรส่วนใหญ่ดำเนินงานโดยหน่วยงานหลัก คือ สคทช. และสปก. เข้ามาเอาที่ดินที่ยังมีสถานะเป็นป่าสงวนแห่งชาติมาจัดสรรให้ราษฎร แต่กลับพบว่าที่ดินหลายแห่งยังคงมีสภาพป่าอยู่ ผู้มีรายชื่อเป็นผู้ถูกสวมสิทธิ์มาโดยเจ้าตัวไม่รู้เรื่องและที่ดินถูกเปลี่ยนมือในเวลาต่อมา   ที่ดินถูกฟอกและขายให้กับทุนต่างชาติ โดยกลุ่มผู้ได้ประโยชน์มีทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐเอง ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ และนักการเมือง 

จากข้อมูลของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร พบว่าในช่วงปี พ.ศ. 2565 – 2566 ที่ผ่านมา พื้นที่ป่าของไทยลดลงกว่า 3 แสนไร่ จากการเปลี่ยนสภาพเป็นพื้นที่เกษตร เรื่องนี้คาบเกี่ยวกับประเด็นการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินนิคมสร้างตนเองลำตะคอง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ที่ธีรัจชัย พันธุมาศ พรรคประชาชนได้อภิปรายในครั้งนี้ด้วย

นายภานุเดช กล่าวว่า  จากเรื่องบุกรุกป่าส่งผลมาถึงวิกฤติน้ำท่วมและดินโคลนถล่ม ที่วันนี้งบประมาณความช่วยเหลือในหลายพื้นที่ยังไม่ได้รับ ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบภาวะวิกฤตินี้ทั่วประเทศ นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นจนไม่สามารถคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยได้จากกรณี ‘Rain Bomb’ หรือฝนตกหนักเฉพาะจุด สิ่งที่สะท้อนออกมาชัดเจน คือ รัฐบาลขาดการวางแผนและการบริหารจัดการทั้งช่วงก่อนเกิดเหตุ ระหว่างการเกิดเหตุ และการจัดการหลังเกิดเหตุ หลายๆ พื้นที่ถูกปล่อยไปตามมีตามเกิด แก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไป บทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหากลายเป็นภาคเอกชนที่เข้าถึงพื้นที่อย่างรวดเร็ว เชื่อว่า ในปี พ.ศ. 2568 นี้ เหตุการณ์ในปีก่อนๆ จะวนกลับมาเกิดซ้ำอีกครั้ง

ส่วนปัญหาฝุ่นควันและ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 วิกฤติของคนในประเทศ จากการแจกแจงในศึกซักฟอก รัฐบาลอยากโชว์ผลงาน แต่ไม่มีวิสัยทัศน์การแก้ปัญหาในระยะยาวที่ชัดเจน จริงจัง และคำนึงถึงบริบทของปัญหาในทุกมิติ ปัจจุบันมีเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น ลดการเผาป่า เผาพื้นที่เกษตร เรื่องนี้มีการอภิปรายโดยภัทรพงศ์ ลีลาภัทร รองโฆษกพรรคประชาชน แต่ผลงานที่นายกรัฐมนตรีตอบมีเพียงเรื่องพื้นฐานที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ของบกลางมาเสริม และมีกระทรวงมหาดไทยแข็งขันในการสั่งการ แต่ยังขาดวิธีบูรณาการ และการปรับโครงสร้างการทำงาน 

“ สิ่งที่รัฐบาลต้องทำเพื่อแก้ฝุ่นพิษ ต้องเน้นการบริหารจัดการไม่ใช้เฉพาะไฟป่า รัฐบาลสอบตกการจัดการไฟภาคเกษตร โดยเฉพาะภาคกลางสถานการณ์ฝุ่นหนักมาก  คาดว่าเดือนเมษายนนี้ ผลกระทบจะรุนแรงยิ่งขึ้น ปัจจุบัน ประชาชนมีอากาศดีๆ ให้พอหายใจปีละไม่ถึงสามเดือน มลพิษฝุ่นจากการเผาซังข้าววิกฤติมาตั้งแต่ธันวาคมปีที่แล้วจนวันนี้ยังไม่มีทีท่าลดลง ส่งผลเสียหายต่อสุขภาพประชาชนคนไทยโดยตรง และกระทบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจจากมลพิษที่เกิด ทั้งความเจ็บไข้ได้ป่วย และเสียงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เช่น การของบกลางเพื่อชดเชยรายได้จากมาตรการรถไฟฟ้าและรถโดยสารสาธารณะองค์การขนส่งมวลชนฟรี สะท้อนการแก้ปัญหาวันต่อวัน

กรณีปลาหมอคางดำ หนึ่งในประเด็นอภิปรายไม่ไว้วางใจ  ประธานมูลนิธิสืบฯ กล่าวว่า สะท้อนความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล เพราะการตอบคำถามพยายามชี้แจงไปอีกเรื่อง จนกรมประมงเองออกมาให้ข่าวว่า ไม่พบแหล่งต้นกำเนิดการระบาด และเสนอมาตราการแก้ปัญหาที่ไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่ เท่ากับการโยนภาระไปให้ประชาชนต้องเผชิญกับปัญหาและหาวิธีการแก้ไขกันเอง สะท้อนภาพผู้นำที่ขาดความรับผิดชอบ และขาดภาวะความเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาต่อประชาชนผู้เดือดร้อนจาก 19 จังหวัด  

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2568 ผู้ได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำได้มาขอพบนายกรัฐมนตรีที่หน้าสภา พร้อมเทปลาหมอคางดำ 5 ตัน กันที่หน้าทำเนียบ เพราะนายกฯ ไม่ยอมออกมาพบกับประชาชน ทั้งที่ควรออกมารับฟังปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน และร่วมหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน แต่นายกฯ เลือกไม่ยุ่ง ปฏิเสธ การแก้ปัญหา

“ การละเลยและขาดความต่อเนื่องในการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำระบาด  ทำให้ขณะนี้การระบาดรวดเร็วและรุนแรงมากขึ้น  ถ้าไม่มีแนวทางปัญหาอย่างจริงจัง ปลาหมอคางดำจะกระจายทุกพื้นที่ กระทบภาพรวมเกษตรและการประมง รัฐบาลต้องหาต้นตอปัญหา และนำภาคเอกชนที่เป็นต้นเหตุมารับผิดชอบชดใช้เยียวยา เพราะนำปลาหมอคางดำเข้ามาในประเทศไทย จนเกิดผลกระทบ  กรณีปลาหมอคางดำ สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างทุกมิติ กระทบระบบนิเวศ  ไร้มาตรการแก้ปัญหาชัดเจน และผู้นำประเทศขาดความรู้ความเข้าใจ  “ นายภาณุเดช ย้ำนายกฯ สอบตก

นอกจากนี้ ในเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่ได้พูดถึงวิกฤติสิ่งแวดล้อมทางทะเล ประธานมูลนิธิสืบฯ กล่าวว่า วิกฤตทะเลถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก เมื่อทะเลไทยมีปัญหา คนไทยจะได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งจากมลพิษที่ลงสู่ทะเล และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อระะบบนิเวศทางทะเล ทำให้หญ้าทะเลตาย ปะการังฟอกขาว จากน้ำที่อุณหภูมิร้อนขึ้น มีสัตว์ทะเลตาย เช่น พะยูนที่ตายไปเกือบร้อยตัวในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาพื้นที่ และการท่องเที่ยวที่ไม่เป็นมิตรกับทะเล รวมถึงการปรับปรุง พ.ร.บ. ประมงใหม่ ที่เปิดโอกาสให้เกิดการทำประมงแบบล้างผลาญ สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเลย แถมยังพร้อมประเคนทรัพยากรให้กับกลุ่มทุนอย่างไม่เห็นหัวประมงพื้นบ้านและระบบนิเวศสัตว์เล็กสัตว์น้อยเลยด้วยซ้ำ

แม้ปิดฉากซักฟอกไปแล้ว ใครจะโหวตให้นายกฯ ผ่านหรือไม่  แต่สถานการณ์สิ่งแวดล้อมยังปะทุต่อเนื่อง  รัฐบาลอุ๊งอิ๊งจะมีการแก้ปัญหาและลดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นรูปธรรมอย่างไร ต้องติดตามต่อไป

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.