จับตาประชุมบอร์ดกกพ. วันนี้ (2เม.ษ.68) พิจารณามติครม. สั่งการหาทางออกลดค่าไฟไม่เกิน 3.99 บาทต่อหน่วยงวดหน้า (พ.ค.-ส.ค.68)
ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า เบื้องต้นทางกกพ.ได้รับทราบมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีมติกำหนดราคาเป้าหมายสำหรับค่าไฟงวดเดือนพ.ค.-ส.ค.2568 ไม่เกิน 3.99 บาท/หน่วยแล้ว โดยวันนี้ (2 เมษายน 2568) จะมีการนำมติดังกล่าวเข้าหารือ
ร่วมกับคณะกรรมการ (บอร์ด) กกพ. ซึ่งจะต้องพิจารณาในส่วนของรายละเอียดของมติและข้อสั่งการว่ากกพ.จะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง ซึ่งที่ผ่านมากกพ.ได้เสนอแนวทางการทบทวนและปรับปรุง เงื่อนไขการสนับสนุนทั้งในรูปแบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) – Feed in Tariff (FiT) จะสามารถทำให้ค่าไฟลดลงได้ 17 สตางค์ หรือ ประมาณ 3.98 บาทต่อหน่วยไปแล้ว แต่หลังจากเสนอแนวทางไปแล้วก็ยังไม่ได้มีการพูดคุยหารือกันเพิ่มเติม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงกันยายน 2566 ที่ผ่านมา ครม.เคยมีมติเห็นชอบเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าที่ 3.99 บาทต่อหน่วย จากเดิมหน่วยละ 4.45 บาท โดยให้มีผลตั้งแต่ กันยายน – ธันวาคม 2566 ทำให้มีส่วนต่างหน่วยละ 46 สตางค์ จำเป็นต้องให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ ปตท. แบกรับภาระไปก่อน
ซึ่งราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ย (Pool Gas ) สำหรับเดือน ก.ย.-ธ.ค.2566 ของ กกพ.เดิมอยู่ที่ 323 บาทต่อล้านบีทียู แต่ ราคาที่ กกพ.จะเจรจากับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อยู่ที่ 304 บาทต่อล้านบีทียู หากวันที่ถึงกำหนดจ่ายค่าก๊าซธรรมชาติแล้ว ราคา Pool Gas เฉลี่ยสูงเกิน 304 บาทต่อล้านบีทียู ก็จะให้ ปตท.เป็นผู้รับภาระไว้ก่อน แล้วจึงให้ กฟผ.ทยอยจ่ายคืนส่วนต่างค่าเชื้อเพลิงให้ ปตท.เป็นงวดๆ
ทั้งนี้ เมื่อวานนี้ (1 เมษายน 2568) ที่ประชุม ครม.ได้กำหนดปรับอัตราเป้าหมายค่าไฟเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2568 ไว้ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย โดยมอบให้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกำกับดูแลให้คณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ร่วมกันดูแล กฟผ.ให้ปรับลดค่าไฟตามเป้าหมาย
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังมีมติให้ กฟผ. และ กกพ.ร่วมกันหา 1) แนวทางแก้ไขสัญญารับซื้อในรูปแบบสัญญารับซื้อไฟฟ้า (Adder-FiT) และเงื่อนไขที่กำหนดให้สัญญาดังกล่าวมีอายุต่อเนื่องโดยมีวันกำหนดสัญญา 2) หาแนวทางแก้ไขปัญหาค่าความพร้อมจ่าย (AP) และค่าพลังงาน (VP) รวมทั้งสัญญารับซื้อไฟฟ้าเงื่อนไขอื่นจากโรงรับซื้อไฟฟ้าเอกชน (IPP) ตามสัญญารับซื้อไฟฟ้าระยะยาว (PPA) ให้สัญญาที่มีเงื่อนไขที่ทำให้รัฐหรือ กฟผ.เสียเปรียบ ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงเกินสมควร 3) หาแนวทางแก้ไขปัญหาในสัญญารับซื้อไฟฟ้าต่าง ๆ ที่ทำให้ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าไม่สามารถบริหารการจัดการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.ให้ลดลงได้
นอกจากนี้ ยังมีมติให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ศึกษาและเสนอแนวทางปรับโครงสร้าง pool gas เพื่อให้ราคาแก๊สธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้ามีราคาต่ำลง โดยกำหนดให้ทันการประกาศราคาไฟฟ้าในรอบกันยายน-ธันวาคม 2568
โดยทั้งหมดนี้ให้ดำเนินการพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป