อ่างเก็บน้ำลำตะคองยังวิกฤต พายุฤดูร้อนเติมน้ำลงอ่างฯ น้อย เหลือน้ำใช้การเพียง 11% เท่านั้น
นครราชสีมา – วันที่ 2 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นอ่างเก็บขนาดใหญ่ เส้นเลือดใหญ่ส่งน้ำดิบไปให้ 5 อำเภอได้ใช้ผลิตประปาอุปโภค-บริโภค ได้แก่ อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ อ.เมืองนครราชสีมา และ อ.เฉลิมพระเกียรติ
ล่าสุด โครงการชลประทานจังหวัดนครราชสีมา ได้รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำลำตะคอง วันนี้ มีปริมาตรน้ำเหลืออยู่เพียง 56.13 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 17.85 % ของความจุกักเก็บทั้งหมด 314.49 ล้านลูกบาศก์เมตร และเป็นปริมาตรน้ำใช้การได้เหลืออยู่เพียง 33.41 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 11.45 % ของความจุ
ในขณะที่พายุฤดูร้อนที่ก่อตัวในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีฝนตกลงเหนืออ่างเก็บน้ำ และทำให้มีน้ำไหลลงในอ่างเก็บน้ำลำตะคอง เพียง 15,000 ลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ซึ่งถือว่าเหลือน้อยมาก แต่ทางอ่างฯ ยังมีภาระต้องส่งจ่ายน้ำในกิจกรรมหลักๆ ทุกวัน ทั้งการส่งจ่ายน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค , รักษาระบบนิเวศ , ส่งจ่ายให้ภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม
ในขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของจังหวัด อีก 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย จากความจุทั้งหมด 155 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันเหลือน้ำ 70.06 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 45.20 % และเป็นน้ำใช้การได้ 69.34 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 44.94 % ในขณะที่อ่างเก็บน้ำมูลบน อ.ครบุรี จากความจุทั้งหมด 141 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันเหลือน้ำ 57.47 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 40.76 % และเป็นน้ำใช้การได้ 50.47 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 37.67 % และอ่างเก็บน้ำลำแชะ อ.ครบุรี จากความจุทั้งหมด 275 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันเหลือน้ำ 119.79 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 43.56 % และเป็นน้ำใช้การได้ 112.79 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 42.09 % ซึ่งจะเห็นว่า อ่างเก็บน้ำลำตะคอง 1 ใน 4 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จะเหลือน้ำน้อยสุด
ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง อีก 23 แห่ง ปริมาตรความจุที่ระดับเก็บกักรวม อยู่ที่ 335.33 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปัจจุบันมีน้ำเก็บกักคงเหลือรวมอยู่ที่ 146.01 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 43.54 % และเป็นน้ำใช้การได้ 120.64 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 38.92% เท่านั้น ทางโครงการชลประทานนครราชสีมา ต้องบริหารจัดการน้ำอย่างรัดกุมเพื่อให้มีน้ำเพียงพอส่งจ่ายให้กับกิจกรรมการใช้น้ำหลักๆ จึงขอความร่วมมือประชาชนและเกษตรกรได้เห็นประโยชน์ในภาพรวม ช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้เหลือน้ำไว้ใช้ให้รอดพ้นวิกฤติภัยแล้งไปจนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝน.