แผ่นดินไหวเมียนมาแรงสุดอันดับ 2 รอบ 113 ปี WHO คาดอาคารเสียหายทะลุหมื่น
พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง ลาย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา กล่าวว่า แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ถือเป็นแผ่นดินไหวที่รุนแรงอันดับ 2 ของเมียนมา หลังแผ่นดินไหวรุนแรงที่สุด 8 ริกเตอร์ ที่มัณฑะเลย์ในปี 1912 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ถึง 113 ปี
คาดว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 3,000 ราย โดยแผ่นดินไหวครั้งนี้ส่งผลกระทบกับพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ทำให้หลายพื้นที่ไม่มีไฟฟ้า โทรศัพท์ หรือสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ขณะที่ถนนและสะพานยังได้รับความเสียหาย ทำให้ยากต่อการประเมินความเสียหายในภาพรวมทั้งหมด
จากรายงานสถานการณ์ในพื้นที่ส่วนใหญ่ที่มาถึงในขณะนี้ มาจากเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเมียนมา ที่อยู่ใกล้กับจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว และจากกรุงเนปยีดอ ที่เป็นเมืองหลวงของเมียนมา
จูเลีย รีส ผู้ช่วยผู้แทนองค์การยูนิเซฟประจำเมียนมา กล่าวว่า ความต้องการความช่วยเหลือนั้นมากมาย และมันเพิ่มขึ้นทุกชั่วโมง
หน่วยงานดับเพลิงของเมียนมารายงานว่าสามารถช่วยเหลือคนในมัณฑะเลย์ได้ 403 คน และพบศพแล้ว 259 ราย โดยในเหตุการณ์หนึ่ง พระสงฆ์ 50 รูปซึ่งกำลังเข้าสอบศาสนาในวัด ก่อนจะเสียชีวิตเมื่ออาคารถล่ม และคาดว่ายังมีพระสงฆ์อีก 150 รูปที่ถูกฝังอยู่ใต้ซากปรักหักพัง
องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า มีอาคารมากกว่า 10,000 หลังพังถล่มหรือได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงจากแผ่นดินไหวครั้งนี้
ขณะที่หลายประเทศได้ให้คำมั่นว่าจะให้ความช่วยเหลือเป็นมูลค่าล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อช่วยเหลือเมียนมา แต่ยังมีภารกิจในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมาก็หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว ตามข้อมูลของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ตั้งแต่ก่อนเกิดแผ่นดินไหว ชาวเมียนมามากกว่า 3 ล้านคนต้องพลัดถิ่นจากสงครามกลางเมืองอันโหดร้าย และเกือบ 20 ล้านคนต้องการความช่วยเหลือเพื่อการดำรงชีวิต
สำนักงานประสานงานกิจการมนุษยธรรมของยูเอ็นเตือนว่า ชาวเมียนมาจำนวนมากขาดการดูแลทางการแพทย์ขั้นพื้นฐานและการฉีดวัคซีนตามมาตรฐานอยู่แล้ว ขณะที่การโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำและสุขอนามัยที่ถูกแผ่นดินไหวทำลาย และการย้ายผู้คนไปยังที่พักพิงที่แออัดทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคระบาดเพิ่มขึ้น ไม่ว่าความเสี่ยงจากการติดเชื้อโรคทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง โรคที่แพร่กระจายโดยแมลง เช่น ไข้เลือดออก และโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน เช่น โรคหัด กำลังเพิ่มสูงขึ้น