แผ่นดินไหวจากรอยเลื่อยสะกาย บทเรียนไทยรับมืออนาคต
GH News April 02, 2025 01:08 PM

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่28 มีนาคม 2568 ไม่เพียงสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชน แต่ยังเป็นบททดสอบครั้งสำคัญต่อโครงสร้างพื้นฐานและระบบการจัดการภัยพิบัติของกรุงเทพฯ เพราะแรงสั่นสะเทือนที่ส่งผลกระทบต่ออาคารสูงและระบบสาธารณูปโภค ทำให้เกิดคำถามใหญ่เกี่ยวกับความพร้อมของไทย ในการรับมือกับภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต

เพื่อสร้างแนวทางความเข้าใจและรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว ทาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงจัดงานเสวนา Chula the Impact ครั้งที่ 32 ภายใต้หัวข้อ “จุฬาฯ ระดมคิด ฝ่าวิกฤตแผ่นดินไหว: เราจะรับมือและฟื้นตัวได้อย่างไร?” โดยรวบรวมผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา เพื่อร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และหาแนวทางเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับเมืองหลวงของไทยในระยะยาว


ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเปิดงานว่า คำว่า “Impact” หรือ “ผลกระทบ” สะท้อนถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยที่ไม่เพียงให้ความรู้และการศึกษา แต่ยังมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ตลอดระยะเวลา 108 ปี ของจุฬาฯ มีโครงการมากมายที่ช่วยเสริมสร้างความก้าวหน้าของสังคม และวันนี้มหาวิทยาลัยมีบทบาทสำคัญในการรับมือกับวิกฤตการณ์แผ่นดินไหว เมื่อภัยธรรมชาติเกิดขึ้น เราต้องถามตัวเองว่าเราจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ งานเสวนาครั้งนี้เป็นการผนึกกำลังจากหลากหลายศาสตร์ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งศึกษาและสอนด้านการจัดการแผ่นดินไหวมากว่า 30 ปี พร้อมด้วย คณะวิทยาศาสตร์ ที่เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา และคณะอื่น ๆ เช่น คณะนิติศาสตร์ และ คณะนิเทศศาสตร์ ที่ช่วยเสริมมิติด้านกฎหมายและการสื่อสารในช่วงวิกฤต

ศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ


ศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า แผ่นดินไหวเป็นปรากฏการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และมีโอกาสเกิดขึ้นอีกแน่นอน แต่ไม่มีใครสามารถระบุได้แน่ชัดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใดหรือบริเวณใดของรอยเลื่อน อย่าง รอยเลื่อนสะกาย ซึ่งตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลางระหว่างประเทศไทยและเมียนมา และแตกย่อยออกเป็น 5 หน่วยย่อย เนื่องจากเป็นรอยเลื่อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวซ้ำได้สูง อย่างรอยเลื่อนที่อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งขนานกับรอยเลื่อนสะกาย ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 1.7 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2568 และขนาด 2.2 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2568 เหตุการณ์นี้ไม่ใช่อาฟเตอร์ช็อก แต่เป็นแผ่นดินไหวแบบโดมิโน ซึ่งมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับรอยเลื่อนสะกาย

ศ.ดร.ปัญญา กล่าวต่อ สำหรับในไทยพบรอยเลื่อน 4 แบบ ประกอบด้วย 1.รอยเลื่อนมีพลัง ส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากแรงสั่นสะเทือนก่อนหน้า ปัจจุบันประเทศไทยมี รอยเลื่อนมีพลัง 16 รอย ซึ่งกระจุกตัวอยู่บริเวณภาคเหนือ และบางส่วนในภาคกลางและภาคใต้ ตัวอย่างเช่น รอยเลื่อนแม่จัน ในอ.แม่จัน จ.เชียงราย ซึ่งเป็นหนึ่งใน 16 รอยเลื่อนสำคัญ ในอดีตเมื่อปี 1558 การเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนนี้ส่งผลให้เวียงโยนกนครล่มสลาย กลายเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ที่เรียกว่า เวียงหนองล่ม ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์ เชื่อว่าเกิดจากอิทธิพลของการแยกตัวของรอยเลื่อนแม่จัน ประชาชนสามารถตรวจสอบตำแหน่งของรอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทยได้ที่เว็บไซต์ของกรมทรัพยากรธรณี เพื่อเตรียมความพร้อมและเฝ้าระวังแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

2.รอยเลื่อนซ่อนเร้น เป็นรอยเลื่อนที่ตรวจพบในบางพื้นที่ เช่น อ.ถลาง จ.ภูเก็ต, อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา และจ.ศรีสะเกษ แม้ว่าพื้นที่เหล่านี้จะไม่มีรอยเลื่อนพลังหลัก อย่างไรก็ตาม ลักษณะภูมิประเทศไม่ได้แสดงหลักฐานที่ชัดเจนถึงรอยเลื่อนดังกล่าว 3.รอยเลื่อนตาบอด ซึ่งหมายถึงรอยเลื่อนที่ซ่อนอยู่ใต้พื้นดินและไม่สามารถมองเห็นได้จากสภาพภูมิประเทศ อีกทั้งยังไม่ได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มรอยเลื่อน ทำให้เป็น ภัยเงียบใต้พื้นดิน เรียกว่า รอยเลื่อนแห่งใหม่ ที่เคยเกิดขึ้นใน ต.ไผ่ล้อม อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก ซึ่งเกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.5 ที่ความลึก 5 กิโลเมตร เมื่อปี 2566 ส่งผลให้สิ่งก่อสร้างบางส่วนได้รับความเสียหายเล็กน้อย

และ 4. รอยเลื่อนนอกสายตา ซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่ไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในฐานข้อมูลของกรมทรัพยากรธรณี โดยหนึ่งในรอยเลื่อนเหล่านี้อยู่ใกล้กรุงเทพมหานครในระดับเดียวกับรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ หากเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ทำให้ต้องมีการสำรวจมาตรฐานโครงสร้างอาคารในพื้นที่อย่างเข้มข้น

ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้

อาฟเตอร์ช็อคกับการเฝ้าระวัง ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า เมื่อไหร่ก็ตามหากมีการแจ้งเตือนล่วงหน้าว่าแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นในเวลาที่แน่นอน ข้อมูลนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะในทางวิทยาศาสตร์ ปัจจุบันยังไม่สามารถพยากรณ์เวลาที่แน่นอนได้ อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์สามารถประเมินพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดแผ่นดินไหวได้

ศ.ดร.สันติ กล่าวต่อว่า อีกสิ่งหนึ่งที่ควรทำความเข้าใจคือ อาฟเตอร์ช็อก ซึ่งเป็นแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นหลังจากแผ่นดินไหวหลัก โดยธรรมชาติแล้ว อาฟเตอร์ช็อกจะมีขนาดเล็กกว่าแผ่นดินไหวหลักเสมอ ตัวอย่างเช่น หากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูด อาฟเตอร์ช็อกที่ตามมาอาจมีขนาดประมาณ 6.7 แมกนิจูด และจะค่อยๆ ลดลงทั้งในด้านขนาดและความถี่ เช่นเดียวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ อินโดนีเซียในปี 2017 ซึ่งเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูด และมีอาฟเตอร์ช็อกมากกว่า 500 ครั้ง แต่ไม่มีผลกระทบร้ายแรงต่อมนุษย์

ศ.ดร.สันติ แสดงความเห็นอีกว่า ในเรื่องของระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหว มาตราเมอร์คัลลี (Mercalli Intensity Scale – MMI) เป็นมาตราวัดที่ใช้พิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งแต่ละประเทศสามารถกำหนดเกณฑ์ความรุนแรงของตนเองได้ เพราะระดับความรู้สึกของประชาชนในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน สำหรับประเทศไทย ใช้ มาตราเมอร์คัลลีดัดแปลง (MMI) ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งแบ่งออกเป็น 12 ระดับ ตัวอย่างเช่น ในเหตุการณ์อาฟเตอร์ช็อกที่เกิดขึ้นในกรึฃเทพณ มีระดับความรุนแรงอยู่ที่ ระดับ 7-8 ซึ่งหมายถึง อาคารได้รับความเสียหาย มีรอยร้าว หรือบางส่วนพังถล่ม

ส่วนความกังวลที่จะเกิดสึนามิ ศ.ดร.สันติ กล่าวว่า สึนามิเป็นผลมาจากการเลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกในแนวดิ่งอย่างทันที ประเทศไทยมีทะเล 2 ฝั่ง คือ อ่าวไทยและอันดามัน ซึ่งฝั่งอ่าวไทยไม่มีโอกาสเกิดสึนามิ แต่ฝั่งอันดามัน มีโอกาสที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากเคยเกิดสึนามิมาแล้วในปี 2547 อย่างไรก็ตามในอดีตที่เกิดความเสียจากสึนามิ เพราะไม่มีใครรู้จัก ในอนาคตหากเกิดขึ้นอีกครั้งจะมีการรับมือได้อย่างแน่นอน และการเกิดน้ำกระเชาะในห้วย หนอง คลอง บึงต่างๆ ไม่ใช่รูปแบบของสึนามิ เพียงแต่เป็นคลื่นน้ำจากการเกิดแผ่นดินไหวเท่านั้น

รอยเลื่อนมีพลัง 16 รอย

“การเอาตัวรอดจากแผ่นดินไหวขึ้นอยู่กับสถานการณ์และตำแหน่งที่อยู่ในขณะเกิดเหตุ เพราะไม่ใช่ทุกคนจะอยู่ภายในอาคารเสมอ หากอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้งหรือบริเวณที่สูงชัน ควรหลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยงต่อดินถล่ม ส่วนผู้ที่อาศัยอยู่แนวชายฝั่งต้องติดตามรายงานข่าวสารอย่างใกล้ชิด เนื่องจากแผ่นดินไหวในทะเลอาจทำให้เกิดสึนามิ ควรเตรียมพร้อมอพยพขึ้นที่สูงโดยเร็ว ขณะที่ผู้ที่อยู่ภายในอาคาร หากมั่นใจว่าอาคารมีโครงสร้างแข็งแรงสามารถหลบใต้โต๊ะหรือเฟอร์นิเจอร์ที่มั่นคงเพื่อลดความเสี่ยงจากวัตถุตกหล่นได้ แต่หากไม่มั่นใจในมาตรฐานของอาคาร ควรรีบออกจากอาคารทันที สิ่งสำคัญคือการซ้อมหนีภัยแผ่นดินไหว เช่นเดียวกับการซ้อมหนีไฟ เพราะจะช่วยให้ทุกคนรู้วิธีเอาตัวรอดเบื้องต้น และสามารถปฏิบัติตามแผนรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อเกิดเหตุจริง” ศ.ดร.สันติ กล่าว

รอยเลื่อนซ่อนเร้น

โครงสร้างอาคารกับการรับมือแผ่นดินไหว รศ.ดร.ฉัตรพันธ์ จินตนาภักดี ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ประเทศไทยมีการศึกษาวิจัยเรื่องแผ่นดินไหวมาเป็นเวลานาน จนนำไปสู่การผลักดันกฎหมายควบคุมมาตรฐานอาคารให้สามารถต้านทานแผ่นดินไหวได้ โดยเริ่มใช้มาตรการบังคับตั้งแต่ปี 2550 ในพื้นที่เสี่ยง เช่น ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง ปัจจุบันมี กฎกระทรวง พ.ศ. 2564 ที่กำหนดมาตรฐานด้านน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และคุณสมบัติของพื้นดินที่รองรับอาคาร เพื่อเพิ่มความสามารถในการรับมือกับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว

รอยเลื่อนตาบอด

“ก่อนที่กฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้ การก่อสร้างอาคารในอดีตอาจไม่ได้คำนึงถึงมาตรฐานด้านแผ่นดินไหวมากนัก ส่งผลให้แผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ซึ่งสร้างความเสียหายรุนแรงในกรุงเทพฯ นับเป็นครั้งแรกที่พบ ความเสียหายต่อโครงสร้างหลักของอาคาร โดยปกติแล้ว โครงสร้างหลักจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าการเสียหายที่เกิดจากองค์ประกอบอื่น เช่น งานตกแต่งภายใน” รศ.ดร.ฉัตรพันธ์ กล่าว

รศ.ดร.ฉัตรพันธ์ จินตนาภักดี

รศ.ดร.ฉัตรพันธ์ กล่าวต่อว่า กรมโยธาธิการและผังเมืองได้มีการจัดทำ คู่มือสำรวจความเสียหายเบื้องต้นของโครงสร้างอาคารหลังเกิดแผ่นดินไหว โดยหากพบความเสียหายที่ เสาและคาน ถือเป็นความเสียหายต่อโครงสร้างหลัก ซึ่งเสาถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุด รองลงมาคือคาน สำหรับอาคารสูงมาก กำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กทำหน้าที่คล้าย กระดูกสันหลัง ของอาคาร หากได้รับความเสียหาย ควรตรวจสอบโดยด่วน ส่วนผนังที่ก่อด้วยอิฐ แม้ว่าจะเกิดความเสียหาย แต่โอกาสที่อาคารทั้งหลังจะถล่มมีน้อย อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบเบื้องต้นอาจยังไม่เพียงพอ ควรให้วิศวกรเข้าตรวจสอบอย่างละเอียดเพื่อความปลอดภัย

รอยเลื่อนนอกสายตา

สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียม รศ.ดร.ฉัตรพันธ์ กล่าวว่า อาจหลีกเลี่ยงความกังวลเรื่องแผ่นดินไหวได้ยาก เนื่องจากการใช้ชีวิตในเมืองยังคงต้องพึ่งพาอาคารสูง แต่สิ่งสำคัญคือการ ตระหนักถึงมาตรฐานการก่อสร้าง และตรวจสอบความแข็งแรงของอาคารที่อยู่อาศัยเพื่อความปลอดภัยในระยะยาว

สิทธิทางกฎหมายจากผลกระทบแผ่นดินไหว รศ.ดร.อังคณาวดี ปิ่นแก้ว คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า เบื้องต้นต้องตรวจสอบสาเหตุของความเสียหาย หากอาคารหรือที่พักอาศัยได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติ ซึ่งไม่มีผู้ใดผิดโดยตรง ควรเช็คว่านิติบุคคลหรือเจ้าของห้องมีประกันภัยครอบคลุมหรือไม่ ยกเว้นบางกรณีที่ผู้ขายรับผิดชอบทุกกรณี สำหรับอาคารที่ยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง ควรตรวจสอบเงื่อนไขในสัญญา หากเป็นโครงการเอกชน อาจมีการกระจายความรับผิดชอบ

รศ.ดร.อังคณาวดี กล่าวอีกว่า หากเป็นโครงการภาครัฐที่ว่าจ้างเอกชน จะมีสัญญามาตรฐานที่กำหนดให้ผู้รับจ้างต้องรับผิดชอบความเสียหายระหว่างก่อสร้าง รวมถึงเหตุสุดวิสัย จนกว่าจะส่งมอบงานงวดสุดท้าย ทั้งนี้ อาจต้องเปรียบเทียบกับอาคารอื่นที่อยู่ระหว่างก่อสร้างแต่ไม่ได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ สัญญาของรัฐยังมีข้อกำหนดเพื่อคุ้มครองเงินภาษีประชาชน โดยผู้รับจ้างต้องรับผิดชอบ เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะมีการทำประกันภัยไว้ กรณีมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากแผ่นดินไหวหรืออาคารอื่นถล่ม ควรตรวจสอบประกันภัยของอาคารหรือโครงการที่เกี่ยวข้องว่าครอบคลุมหรือไม่ ผู้เสียหายควรเก็บหลักฐาน เช่น ภาพถ่ายหรือวิดีโอให้ครบถ้วน สำหรับการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จบนอินเทอร์เน็ต หากก่อให้เกิดความตื่นตระหนกหรือความเสียหาย อาจถูกพิจารณาดำเนินคดีตามกฎหมาย.

การตรวจสอบเสาอาคาร
การตรวจเช็คอาคารหรือห้องที่ภายในอาคารเบื้องต้น

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.