'อนาคตการเตือนภัยแผ่นดินไหว' เครื่องตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนราคาประหยัด ฝีมือนักวิจัยไทย
GH News April 02, 2025 01:09 PM

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 เวลาประมาณ 13.20 น. ซึ่งมีจุดศูนย์กลางอยู่บริเวณประเทศเมียนมา กรมอุตุนิยมวิทยาได้ปรับค่าความรุนแรงของแผ่นดินไหวเป็น 8.2 และในเวลา 13.32 น. ได้เกิดอาฟเตอร์ช็อกขนาด 7.1 ส่งผลให้แรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้ถึงกรุงเทพฯ  เหตุการณ์นี้สร้างความเสียหายอย่างหนัก อาคารสูงและคอนโดมิเนียมหลายแห่งได้รับผลกระทบ บางจุดเกิดรอยร้าวและฝาพังถล่ม รวมถึงอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในเขตจตุจักรที่พังถล่มลงมา

ต่อมาในวันที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา มีรายงานทางโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับการสั่นไหวของอาคารในหลายพื้นที่ ทำให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวล โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานและเดินทางในพื้นที่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญที่ถูกพูดถึงคือระบบแจ้งเตือนแผ่นดินไหวที่ยังล่าช้าและไม่ทั่วถึง เช่น การส่ง SMS แจ้งเตือนที่บางคนได้รับหลังเหตุการณ์ผ่านไปแล้วหลายชั่วโมงหรือข้ามวัน ขณะที่ประเทศไทยอาจไม่เคยเผชิญแผ่นดินไหวรุนแรงเช่นนี้มาก่อน แต่เหตุการณ์สึนามิในอดีตเป็นบทเรียนสำคัญถึงความจำเป็นในการพัฒนาระบบแจ้งเตือนและการสื่อสารให้ครอบคลุมและทั่วถึง โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง

แม้ปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีที่สามารถพยากรณ์แผ่นดินไหวล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ แต่หลายประเทศได้พัฒนาระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยเพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มความปลอดภัย อย่าง ญี่ปุ่นมีระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวฉุกเฉิน (Earthquake Early Warning System, EEWS) ที่สามารถแจ้งเตือนประมาณ 6 วินาทีและแม่นยำใน 10 วินาที หลังแผ่นดินไหวสั่นสะเทือน  ส่วนไต้หวันใช้ระบบเครือข่ายเซ็นเซอร์ตรวจจับแผ่นดินไหวแบบเรียลไทม์ ประมาณ 10 วินาที หลังจากเกิดแผ่นดินไหว ทั้งสองประเทศเป็นตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยีและมาตรการป้องกันเพื่อลดผลกระทบจากแผ่นดินไหว

สำหรับประเทศไทยได้มีการนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พัฒนาการแจ้งเตือนแผ่นดินไหว ภายในงาน “ก้าวข้ามธรณีพิโรธ: นวัตกรรม ววน. พลิกเกมภัยแผ่นดินไหว เพื่ออนาคตที่ปลอดภัยของไทย ” โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

รศ.ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์

รศ.ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ นักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้แทนวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากงานวิจัยการพัฒนาอุปกรณ์ตรวจวัดแผ่นดินไหวราคาประหยัด(Sensor) ได้มีการประเมินติดตั้งนำมาใช้ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง ในอดีตเซ็นเซอร์ตรวจวัดแผ่นดินไหวต้องนำเข้าจากต่างประเทศในราคาประมาณ 300,000 บาทต่อตัว แต่ปัจจุบันสามารถผลิตภายในประเทศได้เอง ทำให้ต้นทุนลดลงเหลือเพียงหลักหมื่นบาทต่อตัว ซึ่งมีแนวคิดคล้ายๆกับระบบการแจ้งเตือนแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น แต่ที่ญี่ปุ่นมีการติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ที่ราคาแพงและมีคุณภาพ ซึ่งมีการติดตั้งครอบคลุมเกือบทั้งประเทศ แต่เซ็นเซอร์ของไทยเนื่องจากอยู่ในระหว่างการวิจัยจึงสามารถทำได้ในพื้นที่เฉพาะ อย่าง อาคารหรือตึก โดยมีวิศวกรประจำอาคารและทีมวิจัยหลังบ้านในการวิเคราะห์ก่อนจะเหตุว่าจำเป็นต้องอพยพหรือไม่

โดยทีมวิจัยได้ดำเนินการติดตั้งเซ็นเซอร์ทั้งหมด 12 ตัวภายในอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉินของโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ และอีก 10 ตัวที่อาคารเฉลิมพระบารมีของโรงพยาบาลเชียงใหม่ ข้อมูลจากเซ็นเซอร์ทั้งหมดจะถูกส่งผ่านระบบอินเทอร์เน็ตแบบเรียลไทม์ไปยังเซิร์ฟเวอร์ที่กรุงเทพฯ เพื่อใช้ในการตรวจสอบค่าความเคลื่อนที่สัมพันธ์ระหว่างชั้นอาคาร โดยติดตั้งเซ็นเซอร์ที่ระดับชั้นต่างกัน เช่น ชั้น 13 และ 14 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวิเคราะห์

การส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์

รศ.ดร.ธีรพันธ์ กล่าวต่อว่า ผลจากการติดตั้งหลังหนึ่งเดือน เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 รพ.เชียงใหม่สามารถตรวจจับแผ่นดินไหวขนาด 4.2 ริกเตอร์ได้ โดยข้อมูลดังกล่าวถูกส่งแบบเรียลไทม์ไปยังโทรศัพท์มือถือของนักวิจัย อย่างไรก็ตาม ระบบแจ้งเตือนจะถูกส่งเฉพาะวิศวกรประจำอาคารเท่านั้น เพื่อลดความตื่นตระหนกในประชาชนทั่วไป หลังจากได้รับข้อความแจ้งเตือน ทีมวิศวกรและนักวิจัยจะทำการวิเคราะห์ค่าความสั่นสะเทือนที่อาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างอาคาร หากพบว่าระดับแรงสั่นสะเทือนไม่รุนแรงไม่มีความจำเป็นต้องอพยพ โดยใช้เวลาประเมินความเสียหายของอาคารประมาณ 20 นาที

ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวล่าสุด รศ.ดร.ธีรพันธ์ กล่าวว่า ซึ่งมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมาและส่งแรงสั่นสะเทือนมาถึงประเทศไทย นับเป็นการทดสอบระบบที่หนักที่สุดนับตั้งแต่เริ่มติดตั้งเซ็นเซอร์ผ่านมา 3 ปี เพราะแผ่นดินไหวมีขนาด 7.7 ริกเตอร์ ซึ่งมีขนาดความรุนแรง แต่เซ็นเซอร์สามารถแจ้งเตือนวิศวกรประจำอาคารได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามในกรณีของอาคาร ที่รพ.เชียงใหม่ พบว่ามีค่าสั่นสะเทือนที่สูงมาก ซึ่งส่งผลให้โครงสร้างบางส่วนของอาคารได้รับความเสียหาย และทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก ทีมวิศวกรจึงทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากเซ็นเซอร์ พบว่าพื้นที่ของอาคารสามารถแบ่งออกเป็นสามระดับ ได้แก่ พื้นที่ปลอดภัย (สีเขียว) พื้นที่เสียหายบางส่วน (สีเหลือง) และพื้นที่เสียหายรุนแรง (สีส้ม) นอกจากนี้ ยังได้มีการสร้างภาพโครงสร้างอาคารแบบสามมิติ เพื่อระบุจุดที่ได้รับความเสียหาย และดำเนินการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้วิศวกรเข้าตรวจสอบต่อไป ในส่วนของโรงพยาบาลเชียงรายพบว่าค่าสั่นสะเทือนต่ำกว่าเชียงใหม่ และจากการวิเคราะห์โดยวิศวกร พบว่าพื้นที่ยังคงอยู่ในระดับปลอดภัย (สีเขียว)

แรงสั่นสะเทือนที่ได้รับ จากแผ่นดินไหวเมื่อ 28/3/68 ที่อาคาร รพ.เชียงใหม่

“สิ่งสำคัญที่สุดคือการก่อสร้างอาคารตามมาตรฐานที่สามารถรองรับเหตุการณ์แผ่นดินไหว ระบบเซ็นเซอร์เป็นเครื่องมือที่ช่วยตรวจสอบความสมบูรณ์ของอาคาร และยืนยันว่าโครงสร้างมีความปลอดภัย ดังนั้น การออกแบบและก่อสร้างอาคารที่มีมาตรฐานจึงเป็นสิ่งจำเป็น ณ ตอนนี้วิศวกรต้องเข้าไปตรวจสอบอาคารสูงหลังเกิดแผ่นดินไหว แต่หากไม่มีข้อมูลค่าการสั่นสะเทือน การตรวจสอบอาจใช้เวลานาน อย่างไรก็ตาม ผลจากการติดตั้งเซ็นเซอร์ในอาคารทั้งสองแห่งที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายมากว่า 3 ปี แสดงผลการตรวจวัดค่าสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้ค่อนข้างแม่น จากการสั่งสะเทือนพร้อมกันของเซ็นเซอร์ทุกตัว ได้แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในระดับหนึ่งของงานวิจัยไทย” รศ.ดร.ธีรพันธ์ กล่าว

รศ.ดร.ธีรพันธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ขณะนี้มีแนวโน้มที่จะขยายการติดตั้งเซ็นเซอร์ไปยังในบริเวณพื้นที่ชายแดน อาคารรพ. อื่นๆ ในพื้นที่ภาคเหนือเพิ่มเติม ในอนาคตอาจมีการต่อยอดจากงานวิจัยในการติดตั้งในพื้นที่โรงงาน หรือ อาคารรถไฟฟ้า อาจจะช่วยให้รถไฟฟ้าชะลอความเร็ว และเกิดความปลอดภัยกับผู้คนเมื่อมีเหตุการณ์แผ่นดินไหว

นอกจากนี้ยังมีผลงานการวิจัยภายใต้ กองทุน ววน.  เพื่อดำเนินการในแผนงานสำคัญด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการบริหารจัดการภัยทางธรรมชาติแบบบูรณาการ อาทิ 1.InSpectra-01 เทคโนโลยีที่นำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการตรวจจับและวัดขนาดรอยร้าวในโครงสร้างอย่างแม่นยำและรวดเร็ว ช่วยลดต้นทุนในการตรวจสอบและเพิ่มประสิทธิภาพในการประเมินความเสียหายของโครงสร้าง ด้วยระบบ Agentic.AI โดย รศ.ดร.พรหมพัฒน ธัญสิริชัยศรีศูนย์วิจัยตรวจสอบโครงสร้างและเฝ้าระวัง ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ภาพสามมิติวิเคราะห์ส่วนที่เสียหายของอาคาร รพ.เชียงใหม่ 

2.หุ่นตรวจการและเก็บกู้วัตถุระเบิด รุ่น D-EMPIR V.4 ถูกออกแบบสำหรับการปฏิบัติงานเก็บกู้วัตถุระเบิด และสามารถซ่อมบำรุงได้ง่ายเมื่อเกิดความเสียหาย โดยในช่วงสถานการณ์วิกฤตหุ่นยนต์ D-EMPIR V.4 ได้ถูกนำมาลงพื้นที่เพื่อเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยฯ ณ ถ.กำแพงเพชร เขตจตุจักร กทม. ที่มีผู้บาดเจ็บและสูญหายเป็นจำนวนมาก เนื่องด้วยหุ่นยนต์มีขนาดเล็ก มีความคล่องตัวสูง มีการติดตั้งแขนกลพิเศษ สามารถเข้าพื้นที่แคบได้โดยใช้แขนกลหยิบจับสิ่งของและปีนป่ายทางต่างระดับได้อย่างคล่องตัว โดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร และสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (DTI)

3.แพลตฟอร์ม Traffy Fondue เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ถูกพัฒนาเพื่อรองรับการแจ้งเหตุและบริหารจัดการปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งประชาชนสามารถแจ้งปัญหาและร้องขอความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วผ่านช่องทางออนไลน์ ช่วยให้ข้อมูลถูกส่งตรงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยอัตโนมัติ ลดระยะเวลาในการประสานงาน และเพิ่มประสิทธิภาพในการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม ได้มีการนำแพลตฟอร์ม Traffy Fondue เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการภัยพิบัติแผ่นดินไหวให้กับประชาชน โดยปัจจุบันมีการแจ้งข้อมูลกว่า 5,000 กรณี โดย ห้องปฏิบัติการระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ (ITS) กลุ่มวิจัยการสื่อสารและเครือข่าย (CNWRG) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

โครงสร้างการติดตั้งในอาคาร รพ.เชียงราย
โครงสร้างการติดตั้งในอาคาร รพ.เชียงใหม่
© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.