กรมสมเด็จพระเทพฯ องค์วิศิษฏศิลปิน ทรงเป็น ‘หลักชัย’ พระมิ่งขวัญดนตรีไทย
“เคียมบังคมสมเด็จพระกนิษฐา ธิราชเจ้าขวัญจุฬาฯ ประชาสยาม
เทพรัตน์ปัญญาแก้วก่องแวววาม พระทรงงานสร้างความสุขปลิดทุกข์ภัย
ทรงชูช่วยอำนวยการศึกษา เยาวชนพัฒนากล้าเติบใหญ่
สาธารณสุขดับภัยพาธปลาตไกล ชื่นทรวงในเย็นเมตตาพระบารมี
อักษรศาสตร์วิทยาศาสตร์ทรงปราดเปรื่อง ชาติประเทืองภูมิธรรมล้ำเลอศรี
นาฏกรรมวิชาชาญการดนตรี พระวิศิษฏ์ศิลปีใส่พระทัย
พระทรงศรีจักรีวงศ์ตรงธรรมเที่ยง พระคุณเพียงโพธิฉัตต์นิรัติศัย
ครบเจ็ดสิบฉลองพระชนม์มงคลชัย สรวมอ่อนไท้พระยศยงทรงพระเจริญ
บทร้อยกรองเฉลิมพระเกียรติชุด “กนิษฐาธิราชาศิรวัจน์ เฉลิมพระเกียรติ 70 พรรษา”
รองศาสตราจารย์ ดร.อาทิตย์ ชีรวณิชย์กุล
ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” อย่างหาที่สุดมิได้ โดยในหนังสือสูจิบัตรงานการแสดงดนตรีไทย-ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ เพื่อเฉลิมฉลอง 108 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวไว้ว่า
ในกิจกรรม “ด้านดนตรีไทย” ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีบทบาทอย่างสำคัญในการสืบสานและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ยังทรงเป็นนิสิต โดยเมื่อทรงเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีในคณะอักษรศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ.2516 ได้ทรงรับพระกรุณาสมัครเข้าเป็นสมาชิกชมรมดนตรีไทย สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และชมรมดนตรีไทยคณะอักษรศาสตร์ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการฟื้นฟูและการวางรากฐานของการพัฒนากิจการดนตรีไทยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างมั่นคง
ในสมัยนั้น แม้จะทรงพระราชกิจทั้งด้านการเรียนและการเยี่ยมเยียนราษฎร ยังทรงทุ่มเทเวลาในการศึกษาและฝึกซ้อมดนตรีไทยอย่างแท้จริง รวมทั้งทรงร่วมกิจกรรมต่างๆ ของชมรม ทรงพระปรีชาสามารถทั้งด้านขับร้อง การทรงระนาดเอก การทรงซอด้วง และพระราชนิพนธ์บทร้องเพลงไทย
ยิ่งไปกว่านั้น พระจริยาวัตรอันงดงามและน้ำพระทัยที่เปี่ยมไปด้วยพระเมตตาเป็นที่ชื่นชอบของชาวชมรมดนตรีไทย และทรงกลายเป็นพระมิ่งขวัญ และศูนย์รวมจิตใจของชาวชมรมดนตรีไทยทั้งมวล
นายกรรชิต จิตระทาน ผู้อำนวยการสำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า พระองค์ทรงเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรกที่ทรงศึกษามหาวิทยาลัยในประเทศไทย ทรงศึกษาและทรงเรียนดีมาก
“พระราชจริยวัตรในขณะที่ทรงเป็นนิสิต ทรงเป็นกันเองกับพระสหาย ทรงเรียนรู้ทุกอย่างในมหาวิทยาลัยเหมือนคนอื่นๆ โดยเฉพาะสิ่งที่ทรงโปรด คือ การเป็นสมาชิกชมรมดนตรีไทย สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือเรียกโดยย่อว่า ชมรมดนตรีไทย สจม. ทรงสนพระราชหฤทัย ทรงร่วมกิจกรรมของชมรมทุกครั้ง”
หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระองค์ยังทรงมีพระราชปณิธานที่แน่วแน่ที่จะอนุรักษ์ สืบสาน และพัฒนากิจการด้านดนตรีในของมหาวิทยาลัยและของชาติ
ในส่วนของมหาวิทยาลัยนั้น แม้จะมีพระราชภารกิจมากมายเพียงใด แต่ทรงให้ความสำคัญกับกิจกรรมต่างๆ ด้านดนตรีไทย โดยเสด็จฯมาเป็นประธานในพิธีไหว้ครูของชมรมดนตรีไทย สจม. แทบทุกครั้งตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี หากไม่ทรงติดพระราชภารกิจ ด้วยทรงให้ความสำคัญกับการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อครูอาจารย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูอาจารย์ในด้านดนตรีไทยซึ่งมีจำนวนน้อยที่เป็นกำลังสำคัญในการถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมอันมีคุณค่ายิ่งของชาติมิให้สูญหายไป ทั้งพระองค์ยังทรงใส่พระทัยให้กับการดููแลเกื้อกูลครูอาจารย์ของชมรมฯ อย่างดียิ่งอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
“พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับครูอาวุโส รับสั่งเสมอว่า ถ่ายทอดไว้นะ เดี๋ยวสูญ เหล่าครูอาวุโสได้ฟังแล้วก็ชื่นใจ” นายกรรชิตกล่าว
ไม่เพียง “ดนตรีไทย” เท่านั้น ศิลปวัฒนธรรมไทยทุกแขนงก็ทรงให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงในงานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ รัฐบาล ประกาศให้วันที่ 2 เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็น “วันอนุรักษ์มรดกไทย” ทั้งนี้ เพื่อรณรงค์สร้างความเข้าใจ ความสำนึกรัก และหวงแหนในมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ รวมทั้งให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพิทักษ์รักษามรดกทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งกิจกรรมเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย
นอกจากทรงสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของชมรมดนตรีไทย สจม.แล้ว พระองค์ยังทรงเอาราชหฤทัยใส่ในกิจกรรมและโครงการต่างๆ ทางดนตรีไทยที่ดำเนินการโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาโดยตลอด ที่สำคัญคือทรงรับเป็นองค์ประธาน “โครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ดนตรีไทย-ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์” ซึ่งเป็นวงดนตรีที่เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสูญหายไปจากสังคมไทยระยะหนึ่ง
ด้วยพระบารมีและพระมหากรุณาธิคุณ โครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่ายจนสำเร็จสมบูรณ์ มีผลผลิตทั้งรายงานการรวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ หลักการบรรเลง หลักการขับขับร้องและโน้ตเพลง ส่งผลให้วิชาดนตรีไทยปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ยังดำรงอยู่ ได้รับการบรรจุไว้ในหลักสูตรคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสามารถสืบทอดกันมาอย่างแพร่หลายต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
“ชื่อดึกดำบรรพ์ เป็นชื่อที่มาจากโรงละครของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ชื่อว่าโรงละครดึกดำบรรพ์ ดังนั้น ไม่ใช่ดึกดำบรรพ์ เพราะเกิดในรัชกาลที่ 5 ใหม่ล่าสุด เพียงแต่ไม่ได้ตั้งชื่อวงดนตรีแบบใหม่ กับละครแบบใหม่ หากเป็นการเอาชื่อโรงละครว่าละครดึกดำบรรพ์มาใช้ แม้จะเรียกดนตรีดึกดำบรรพ์ ที่ฟังแล้วนึกว่า เก่าแก่มาก จริงๆ ไม่ใช่ มันใหม่สุด ซึ่งก็มีการเล่นต่อมาจนถึงรัชกาลที่ 6-7 อีกสักระยะ และไม่ได้เล่นอีก เครื่องดนตรียังมีอยู่ชุดเดียวที่ศิลปากร” ผอ.กรรชิตกล่าว
ทั้งนี้ การแสดงรายการดนตรีไทยปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์จัดขึ้นครั้งแรกเพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ ในวันที่ 18 ธันวาคม 2530 โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯทรงดนตรีในการแสดงดังกล่าวเป็นปฐมฤกษ์ และยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณทรงดนตรีไทยในการแสดงดังกล่าวในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยต่อเนื่องมาทุกปี
นับเป็นเวลาถึง 38 ปีแล้ว ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฟื้นฟูการแสดงดนตรีไทยปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์มาจนถึงปัจจุบัน
นายกรรชิตกล่าวว่า พระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านดนตรีไทยเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในเรื่อง 1.ทักษะการบรรเลงเครื่องดนตรี โดยเฉพาะซอ และระนาดเอก 2.ด้านการพระราชนิพนธ์บทขับร้อง
“พระองค์พระราชนิพนธ์บทขับร้องสำหรับดนตรีไทยเป็นจำนวนมาก อีกทั้งทรงเป็นโปรดิวเซอร์ ทั้งการแสดง ดนตรี ทรงทำให้คนรุ่นใหม่หันมาฟังดนตรีไทย พระองค์ทรงทำให้ดนตรีไทยกลับฟื้นคืนมา ด้วยพระปรีชา ด้วยพระอัจฉริยภาพ ทรงครีเอต ทรงคิดสร้างสรรค์การแสดงดนตรีไทยรูปแบบใหม่ นวัตกรรมดนตรีไทยแบบใหม่ โดยทรงนำดนตรีไทยมาผสมกับดนตรีฝรั่ง โดยที่ไม่ทำให้เอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ของดนตรีไทยหายไป ทรงรักษาเอกลักษณ์ของความเป็นไทย แต่ก็สามารถเอาดนตรีสากลเข้ามาผสมผสานได้ ให้เกิดความน่าสนใจ ไม่เสียหายทั้งไทย ไม่เสียหายทั้งฝรั่ง”
ดั่งในปีพุทธศักราช 2568 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบทพระราชนิพนธ์สำหรับการขับร้องและการแสดงชุด “ค้างคาว” และทรงดนตรี “ซอด้วง” พระราชทานร่วมกับวงสายใยจามจุรี วงดนตรีสากลสโมสรนิสิต และการแสดงทางนาฏยศิลป์ของนิสิตอีกครั้งหนึ่ง
โดยพระองค์พระราชนิพนธ์ “คำนำค้างคาว” ไว้ว่า เพลงภาษาต่างๆ ในเพลงไทยดูจะหมดแล้ว มีคนแนะนำว่าน่าจะทำเพลงจังหวะตะลุง นึกไม่ออกว่าจะทำเพลงและแต่งเรื่องแบบไหน เพราะว่ารู้จักแต่เรื่องบ้องตัน มันเป็นตัวอะไรก็ไม่รู้ เลยขอเปลี่ยนบรรยากาศเสียบ้างเป็นเรื่องสัตว์ สัตว์ตัวแรกที่นึกถึงคือค้างคาวซึ่งมีอยู่มากในวังสระปทุม และตอนเด็กๆ ครูสอนเพลง “ตัวอะไรเก้าไม้หัวห้อย ไปดูกันหน่อยว่าตัวอะไร…”
“นอกจากค้างคาวที่เป็นสัตว์แล้วยังนึกถึงค้างคาวที่เป็นของว่างแสนอร่อยด้วย เมื่อจบเรื่องค้างคาวแล้วค่อยกลับไปทำเพลงภาษาอีก”
นายกรรชิตกล่าวว่า พระองค์ทรงเป็นหลักชัยของชาวดนตรีและนาฏศิลป์ไทย ทรงเป็นแบบอย่างในทุกๆ ด้าน ในด้านการดนตรีนาฏศิลป์ แม้จะทรงงานหนักทุกวัน แต่จะมี 1 วัน คือวันอาทิตย์ช่วงเช้าที่จะทรงดนตรีไทย ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังทรงอยู่ โดยมีอาจารย์ ดร.สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ ศิลปินแห่งชาติ และศิลปินแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นพระอาจารย์ถวายการสอน
“ทรงเป็นแบบอย่างว่าดนตรีต้องซ้อม ทรงขยันและทรงทำอะไรจริงจัง ทรงเป็นแบบอย่างในหลายๆ เรื่อง ทั้งด้านความกตัญญู ด้านรักษาวัฒนธรรมประเพณี ด้านอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย”
ด้วยพระวิสัยทัศน์อันยาวไกลในการที่จะเสริมสร้างและพัฒนาเยาวชนรุ่นใหม่ให้เป็นกำลังสำคัญในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอันมีค่าของชาติมิให้สูญหาย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังทรงสนับสนุนให้นักศึกษาจากสถาบันต่างๆ ร่วมแรงร่วมใจกันเป็นเครือข่ายของดนตรีไทยอุดมศึกษาเพื่อร่วมกันเป็นกำลังในการสืบสานดนตรีไทย หากไม่ทรงติดพระราชภารกิจ จะเสด็จฯพระราชดำเนินเปิดงานทุกครั้ง ทั้งยังพระราชทานบทร้อง เพลงชุมนุมกลุ่มดนตรี ซึ่งมีเนื้อหาแสดงถึงคุณค่าของดนตรีไทย และพลังสามัคคีของกลุ่มที่จะร่วมกันสืบสานดนตรีไทยพระราชนิพนธ์ดังกล่าวเป็นเพลงที่ใช้ขับร้องหมู่ในพิธีเปิดงานดนตรีไทยอุดมศึกษามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 จนถึงปัจจุบัน
“จากสมัยแรกๆ มีเพียง 4 สถาบันการศึกษาที่มาร่วมตัวเล่นดนตรีไทยกัน ประกอบด้วยจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ และศิลปากร ปัจจุบันมีเป็น 100 สถาบันที่มารวมตัวกันเล่นดนตรีไทยในงานดนตรีไทยอุดมศึกษาประจำปี นับเป็นการต่อยอดจากที่พระองค์ทรงชี้นำไว้ ทำให้ดนตรีไทยเป็นความนิยมขึ้น และยังพัฒนาไปสู่ระดับมัธยมศึกษา ทำให้ดนตรีไทยยังมีชีวิตอยู่ได้ วงการดนตรีไทยยังคงคึกคักอยู่ตลอดเวลา” นายกรรชิตกล่าว
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็น “หลักชัย” ของนักดนตรีไทยและวงการดนตรีไทย สมกับพระราชสมัญญา “องค์วิศิษฏศิลปิน” ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้ทรงเป็นเลิศทางศิลปะประเสริฐเลิศกว่าศิลปินทั้งปวง ทั้งยังทรงเป็นเมธีวัฒนธรรมและทรงมีคุณูปการต่องานศิลปะและวัฒนธรรมของชาติเป็นอย่างยิ่ง”
นับเป็นพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้