กรมชลประทาน จับมือ 4 หน่วยงาน ร่วมลงนาม MOU สนับสนุนข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม
วันที่ 3 เม.ย.68 นายสุริยพล นุชอนงค์ อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยผู้บริหารจากกรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพพูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ Gistda ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมี นางอรนุช หล่อเพ็ญศรี รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นางสาวนนทิชา วรรณสว่าง ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสิทธิพร พฤฒิพิบูลธรรม เลขานุการกรมชลประทาน และเจ้าหน้าที่จากสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน ตลอดจนผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นสักขีพยานณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร
ในการนี้ นายเลอบุญ อุดมทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชลประทาน(ด้านจัดสรรน้ำและบำรุงรักษา) เป็นผู้แทนกรมชลประทาน เข้าร่วมเสวนาในประเด็นเรื่อง “กลยุทธ์ปรับตัวสู่อนาคต แผนรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับภาคการเกษตรไทย“ ในครั้งนี้ด้วย
นายสุริยพล นุชอนงค์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้ตระหนักถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ก่อให้เกิดภัยพิบัติด้านน้ำ ไม่ว่าจะเป็นอุทกภัย ภัยแล้ง และการรุกล้ำของน้ำทะเล ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมและทรัพยากรน้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในฐานะหน่วยงานหลักในด้านการบริหารจัดการน้ำ จึงจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีและข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม เข้ามาช่วยเสริมในการวางแผนบริหารจัดการน้ำ ทำให้การติดตามสถานการณ์น้ำ การคาดการณ์ปริมาณฝน รวมทั้งประเมินพื้นที่เพาะปลูกและบริหารความเสี่ยงจากภัยพิบัติ เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์วางแผนการบริหารจัดการน้ำ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำและทันท่วงที
การลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เกษตรกรรม และการบริหารจัดการน้ำ ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการบูรณาการร่วมกันอย่างเข้มแข็ง ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาที่จะเกิดกับประชาชนและภาคการเกษตรได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไป