ก.แรงงานเร่งจ่ายเยียวยาลูกจ้างเหยื่อตึก สตง.ใน 15 วัน จ่อเอาผิดให้ต่ำกว่า 18 ปี ทำงาน
GH News April 03, 2025 07:49 PM

ก.แรงงานเร่งจ่ายเยียวยาลูกจ้างเหยื่อตึก สตง.ใน 15 วัน จ่อเอาผิดให้ต่ำกว่า 18 ปี ทำงาน

เมื่อวันที่ 3 เมษายน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างพังถล่ม เนื่องจากแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีแรงงานที่กำลังก่อสร้างเสียชีวิต บาดเจ็บ และสูญหาย ว่า แรงงานที่ประสบเหตุจะได้รับการเยียวยาจากกองทุนเงินทดแทนเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย อาทิ ค่ารักษาพยาบาล ค่าชดเชยการหยุดงานสูงสุดไม่เกิน 14,000 บาทต่อเดือน, ทุพพลภาพได้รับร้อยละ 70 ของค่าจ้างไปตลอดชีวิต และกรณีเสียชีวิต มีค่าทำศพ และเงินชราภาพจากกองทุนประกันสังคม รวมเป็นเงินชดเชยคนละประมาณ 1.7 ล้านบาท ส่วนกรณีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่นายจ้างไม่ได้ขึ้นทะเบียนทำงานอย่างถูกต้อง ทางกระทรวงแรงงานจะเป็นคนกลางในการประสานติดตามนายจ้างให้รับผิดชอบค่าทดแทนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจะติดตามสิทธิประโยชน์ด้านแรงงานทั้งเรื่องค่าจ้างค้างจ่าย และค่าล่วงเวลา

“ขอให้มั่นใจว่า กระทรวงแรงงานจะติดตามดูแลสิทธิประโยชน์ลูกจ้างทั้งคนไทยและคนต่างด้าวตามสิทธิ โดยเฉพาะกรณีเสียชีวิต เมื่อได้รับเอกสารยืนยันบุคคลครบถ้วน จะเร่งจ่ายเงินเยียวยาภายใน 15 วัน พร้อมประสานการทำงานกับสถานทูตในการเยียวยาด้วย” นายพิพัฒน์ กล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กรณีมีรายงานว่า มีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในตึก สตง. ที่พังถล่ม เรื่องนี้ได้ให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว หากพบเป็นเรื่องจริงจะดำเนินการเอาผิดนายจ้างอย่างเด็ดขาด ส่วนข้อมูลแรงงานทั้งคนไทยและคนต่างด้าวที่ทำงานในตึก สตง.ถล่ม เบื้องต้นยังอยู่ระหว่างติดตามข้อมูลทะเบียนลูกจ้างทั้งหมดจากบริษัทร่วมค้า รวมถึงบริษัทซับคอนแทรค (sub-contractor) กว่า 10 บริษัท เพื่อจะได้ดำเนินการในส่วนกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

ขณะที่นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีการเยียวยาลูกจ้าง ว่า ขณะนี้ผู้เสียชีวิตทั้ง 15 ราย จากเหตุอาคารถล่ม ซึ่งสามารถตรวจอัตลักษณ์แล้วนั้น มีการจ่ายเงินเยียวยาแล้วรวม 16 ล้านบาท ส่วนการเยียวยาภายใน 15 วัน ตนได้วางไว้เป็นกรอบระยะยาว หากเสียชีวิตและสามารถพิสูจน์อัตลักษณ์ได้ก็จะเร่งเยียวยาทันทีใน 1-2 วัน

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีหากผู้ว่าจ้างงานมีการปกปิดข้อมูลการเข้ามาทำงานของแรงงานผิดกฎหมาย นายบุญสงค์ กล่าวว่า เราต้องดำเนินการเอาผิดตามกฎหมาย มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับจำนวนเงิน 4 แสนบาท หรือมีโทษทั้งจำทั้งปรับ

นายบุญสงค์ กล่าวต่อไปว่า อัตราการเยียวยาแรงงานที่ผิดกฎหมายอาจจะได้ลักษณะเท่ากันแรงงานถูกกฎหมาย ยกเว้นบางอย่าง เช่น ค่าว่างงาน เงินชราภาพ แต่การเยียวยาในส่วนอื่นเช่น ค่ารักษาพยาบาล และเงินทดแทนกรณีเสียชีวิตจะได้รับเหมือนกันทั้งหมด เพียงแต่ต้องมีการฟ้องร้องกับนายจ้าง ซึ่งโดยปกตินายจ้างก็ยอมจ่าย

“สำหรับแรงงานที่ต้องการความช่วยเหลือ ขอให้ประสานไปยังศูนย์ประสานงานเพื่อช่วยเหลือแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ ใกล้จุด สตง. จตุจักร จะมีเจ้าหน้าที่ช่วยแนะนำ หากพบศพแรงงานที่เสียชีวิต จะมี 5 เสือแรงงานนำกลับไปยังภูมิลำเนา ส่วนกรณีเป็นบุคคลสูญหาย จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นผู้สูญหายจริง” นายบุญสงค์ กล่าว

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.