"มหิดล" เปิดข้อมูล แผ่นดินไหวเฉลี่ย 100 ปี/ครั้ง คาดเกิดขึ้นอีก ใกล้กรุง 500 กม.
GH News April 03, 2025 09:07 PM

วันที่ 3 เม.ย.68 มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนา "ถามตอบ ข้อสงสัยแผ่นดินไหว" ที่ห้องประชุม อาคารสตางค์ มงคลสุข โดยมี ผศ.ดร.ภูวิศ อมาตยกุล ดร.สุทธิพงษ์ น้อยสกุล วิทยากรจากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมให้ความรู้ และผศ. ดร.วิทูร ชื่นวชิรศิริ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ดร.สุทธิพงษ์ น้อยสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า ปี ค.ศ.1839 (186ปีที่แล้ว) รอยเลื่อนสกายความยาว 1,200 กม. ตั้งแต่ตอนเหนือของเมียนมาตอนกลางจรดตอนใต้ เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.9-8.3 ทำให้กรุงอังวะ เมืองหลวงในสมัยนั้นล่มสลาย เนื่องจากแผ่นดินไหวทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของแผ่นดิน 4 เมตร ตลอดความยาว 400 กม. นอกจากนี้ ยังพบจุดแผ่นดินไหวขนาด 7 ขึ้นไปอีกหลายจุดตลอดแนวรอยเลื่อนสกายในช่วงไม่เกิน 200 ปีที่ผ่านมา ในแง่ธรณีวิทยาถือเป็นเรื่องปกติ

จนกระทั่งเกิดแผ่นดินไหวล่าสุดในเมียนมา หรือเรียกว่า แผ่นดินไหวมัณฑะเลย์ ขนาด 7.7 เมื่อวันที่ 28 มี.ค.68 คาดการณ์ผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 10,000 คน จุดศูนย์กลางอยู่ห่างกรุงเทพมหานคร 1,000 กม. แต่กลับทำให้ตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างในเขตจตุจักรถล่มลงมา ส่งผลให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองแรกในโลกที่อยู่ไกลจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวถึง 1,000 กม. แต่มีตึกถล่มลงมา และเป็นตึกที่มีจำนวนชั้นมากที่สุด เท่าที่โลกเคยมีตึกถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว

รอยเลื่อนสกายอยู่ระหว่างแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียกับอินเดีย แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเกิดจากแผ่นเปลือกโลกย่อยต่าง ๆ ที่อยู่ในยูเรเซีย เช่น แผ่นฉานไท อินโดจีน ซึ่งประเทศไทยก็อยู่ในแผ่นเปลือกโลกเหล่านี้ด้วย และคาดว่ากรุงเทพมหานครน่าจะอยู่ในแผ่นฉานไท ซึ่งรอยเลื่อนสกายตัดระหว่างเมียนมาตะวันตกกับแผ่นฉานไท มีประวัติเกิดแผ่นดินไหวมาแล้วนับล้านปี

จากข้อมูลช่วง 100 ปีที่ผ่านมา รอยเลื่อนสกายเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7 ขึ้นไป หลายครั้ง ข้อมูลล่าสุดจากปี ค.ศ.1839 - 1946 เกิดขึ้น 1 ครั้งที่กรุงอังวะ ขนาด 7.8 จึงคาดว่าแผ่นดินไหวน่าจะเกิดขึ้นเฉลี่ย 100 ปี/ครั้ง แต่ครั้งนี้เกิดในปี 2025 (79ปี) ซึ่งก็อยู่ในช่วง 100 ปีเช่นกัน ทั้งนี้ ตอนใต้ของรอยเลื่อนสกายเคยเกิดแผ่นดินไหวใหญ่มาแล้ว 2 จุด เมื่อปี 1930 ปัจจุบันผ่านมา 95 ปี และจะครบรอบ 100 ปี ในปี 2030 ซึ่งจากการเก็บข้อมูลประวัติศาสตร์ คาดว่าน่าจะเกิดแผ่นดินไหวเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจุดดังกล่าวอยู่ใกล้กรุงเทพฯประมาณ 500-600 กม. แนวโน้มรอยเลื่อนสกายเคลื่อนตัวเข้าไทย จึงอาจสร้างความเสียหายกว่าปกติ

"ควรเตรียมพร้อมสิ่งที่ยังไม่เกิดจากความรู้ที่มีในอดีต ผมไม่รู้ว่าสร้างความกลัวรึเปล่า แต่อยากให้ตระหนัก เพราะนี่คือวิทยาศาสตร์ ผมไม่ได้เสนอความคิดเห็นเลย เป็นสถิติที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แผ่นดินไหวครั้งล่าสุดไทยได้รับผลกระทบน้อย ไม่เสียหายมาก ในอนาคตคนไทยควรเข้าใจเรื่องระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหว เพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมเราหลังจากนั้น ว่าควรจะอพยพ นอนนอกบ้าน หรือควรวิ่งออกเท่านั้น เชื่อว่า ไม่มีใครสามารถวัดแรงแผ่นดินไหวที่เป็นริกเตอร์ได้ แต่ทุกคนสามารถวัดความรุนแรงได้ด้วยตัวเอง เพื่อประเมินความปลอดภัย เช่น ภายในเวลา 30 วินาที ต้องประเมินตัวเองได้ว่าสามารถวิ่งออกจากอาคารได้ทันหรือไม่ หากไม่ ควรหลบอยู่ใต้โต๊ะ ไม่ควรวิ่งออกมา เพราะอาจมีอะไรหล่นทับ หรือเกิดตึกถล่มได้ แต่หากประเมินแล้วว่าสามารถออกมาจากอาคารได้ทันก็ควรออกมา"

ด้านสาเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร เนื่องจาก 1. เป็นแผ่นดินไหว ขนาด 7.7 ถือว่ามีจุดศูนย์กลางขนาดใหญ่ 2. รอยเลื่อนของแผ่นดินไหวเคลื่อนเข้าหาประเทศไทย ทำให้คลื่นวิ่งเข้าหาประเทศไทย ซึ่งเป็นคลื่นที่วิ่งลงมาจากภาคเหนือ เข้ากรุงเทพโดยตรงโดยไม่เปลี่ยนตัวกลาง จึงไม่ลดทอนพลังงาน ทำให้คลื่นแรง 3. รอยเลื่อนเคลื่อนที่เร็วมาก รวมถึงมีการเคลื่อนตัวเยอะด้วย (ระยะ400กม./60วินาที) ซึ่งมีการเคลื่อนตัวเร็วกว่าความเร็วคลื่นในดิน (พลังงานที่ปล่อยตัวออก) หากมีการเคลื่อนตัวเร็วกว่าพลังงานที่เกิดขึ้น พลังงานจะระบายออกไม่ทัน ทำให้เกิดการสะสมพลังงานที่หน้าคลื่น

4. พื้นที่แอ่งตะกอนหรือความอ่อนของพื้นดินในกรุงเทพ ซึ่งเป็นพื้นที่แอ่ง ทำให้คลื่นเข้ามาง่ายแต่ออกยาก คลื่นจึงสะท้อนตัวกลับอยู่ภายในกรุงเทพ ทำให้เกิด 'คลื่นแทรกสอด' วิ่งสวนกันไปมาในพื้นที่ เป็นสาเหตุให้ตึกอาคารสั่น ไม่ใช่เกิดจากแรงแผ่นดินไหวโดยตรง ซึ่งต้องตรวจสอบว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ ตึก สตง. อยู่ในตำแหน่งของแอ่งตะกอน 5. การเปลี่ยนแปลงด้านความหนาของเปลือกโลก เช่น ภาคเหนือความหนาของเปลือกโลกประมาณ 35 กม. แถวจังหวัดสุพรรณบุรีความหนาประมาณ 25 กม. แต่พบว่าภาคกลางมีความหนาลดลง ดังนั้นคลื่นที่มาจากภาคเหนือสู่ภาคกลางเหมือนน้ำลึกมาสู่น้ำตื้น เช่นเดียวกับคลื่นที่มาจากเมียนมาเหมือนคลื่นทะเลน้ำลึกวิ่งเข้าหาฝั่ง ทำให้คลื่นมีขนาดใหญ่ขึ้น และ 6.ความสูงของตึกสั่นพ้องกับการสั่นของคลื่นแผ่นดินไหว ซึ่งเป็นข้อเดียวที่ยังพอควบคุมด้านวิศวกรรมได้

ผศ.ดร.ภูวิศ อมาตยกุล อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า นักวิจัย มหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่เกี่ยวกับแผ่นดินไหวในมิติต่าง ๆ เช่น ธรณีวิทยา วิศวกรรม เป็นต้น ได้มีความพยายามคิดค้นเครื่องมือเกี่ยวกับแผ่นดินไหวมานานแล้ว ปัจจุบันมีเครื่องมือเกี่ยวกับการวัดระดับค่าต่าง ๆ ที่เกิดจากแผ่นดินไหว เช่น วัดความเร็วของการสั่น วัดความเร่งของการสั่น ซึ่งใช้เครื่องมือคนละแบบ มีทั้งแบบขดลวดและมีแกนแม่เหล็กข้างใน เวลาขยับแกนแม่เหล็กก็ขยับตาม เมื่อเทียบกับขดลวดก็สามารถวัดกระแสไฟฟ้าได้ แล้วนำค่าที่ได้ไปแปลงเป็นค่าต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับว่าวัดความถี่ใด เช่น ความถี่ธรรมชาติของตึก ความถี่ธรรมชาติของพื้นดิน จะให้ค่าที่แม่นยำแตกต่างกันไป ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวมีราคาสูง นักวิจัยไทยพยายามทำให้ราคาอยู่ในระดับสมเหตุสมผล เพื่อสามารถติดตั้งได้หลายพื้นที่มากขึ้น ที่ผ่านมามีความพยายามกระจายเครื่องมือไปติดตั้งในพื้นที่ต่าง ๆ แต่คำถามสำคัญคือประเทศไทยความเสี่ยงแผ่นดินไหวมากขนาดนั้นหรือไม่ ปัจจุบันหลังจากเกิดแผ่นดินไหว ก็เริ่มมีผู้ให้ความสนใจเครื่องมือดังกล่าวมากขึ้น

ข้อมูลจากอาคารที่มีการติดตั้งเครื่องวัดดังกล่าว พบว่า การสั่นไม่ได้มีความรุนแรงถึงขนาดพังทลาย โดยข้อมูลจากเครื่องวัด สามารถบอกได้ว่าการสั่นระดับใดส่งผลอย่างไร เช่น ควรหรือไม่ควรอพยพคนออกจากโรงพยาบาล หรือผู้ป่วยระดับใดควรออกจากโรงพยาบาล ผู้ป่วยระดับใดสามารถอยู่รักษาต่อได้ เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจของผู้บริหารสถานพยาบาล

"จากประสบการณ์ที่เคยอยู่ในประเทศญี่ปุ่น จะได้รับการแนะนำเกี่ยวกับแผ่นดินไหวอย่างมาก เช่น โต๊ะภายในห้องเช่าจะมีความแข็งแรงสำหรับหลบภัยเมื่อเกิดแผ่นดินไหว และจะได้รับคำแนะนำว่าไม่ควรวางสิ่งของต่าง ๆ ไว้บนชั้น เมื่อเวลาเกิดแผ่นดินไหวจะได้ไม่มีอะไรตกลงมาใส่ ซึ่งประเทศไทยอาจนำแนวทางมาใช้แนะนำการรับมือกับแผ่นดินไหว โดยเฉพาะการประเมินสถานการณ์และทางหลบหนีในแต่ละที่ที่ไปในชีวิตประจำวัน" ผศ.ดร.ภูวิศ กล่าว

​​​​​​​ ​​​​​​​ ​​​​​​​

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.