'หมอธีระวัฒน์' เปิดผลวิจัย วิธีการรักษาโรคด้วย 'อึ'
GH News April 04, 2025 11:08 AM

4 เม.ย. 2568 – ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ประธานศูนย์ความเป็นเลิศ ด้านการแพทย์บูรณาการและสาธารณสุข และที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ธรรมชาติอยู่กับตัวเรา… รู้จักใช้เพื่อชีวิต และรู้จักการรักษาด้วย “อึ”

การใช้ชีวิต ดำรงชีวิตยังขึ้นกับการบริโภคอาหาร และสิ่งที่ตามมาอันเป็นผลของกระบวนการย่อย ดูดซึมของสารอาหาร และแน่นอนรวมทั้งสารพิษเข้าร่างกาย ทุกอวัยวะ รวมทั้งสมอง

การกำหนดเลือกชนิดของอาหาร และพยายามหลีกเลี่ยงสารเคมี สารกันบูด ผงปรุงรส (ซึ่งในปัจจุบันมีการใช้เกินระดับปลอดภัยมากมาย) แม้จะป้องกันได้ระดับหนึ่งแต่ยังมีอีกอวัยวะหนึ่งคือลำไส้ที่บรรจุด้วยจุลินทรีย์ เป็นหมื่นเป็นแสนชนิด

แบคทีเรียเหล่านี้เป็นตัวเลือกจะเอาของดีหรือพิษเข้าตัวเหมือนอย่างที่ถกเถียงจะกินไข่แดงได้แค่ไหน

คำตอบคือกินได้ ถ้ามีแบคทีเรียที่ไม่สกัดสาร TMAO ที่ทำให้เส้นเลือดตัน นั่นหมายถึงอาหารประจำชีวิตควรต้องเป็นผักผลไม้เป็นพื้น ไม่ใช่เนื้อสัตว์ ลำไส้จึงจะอุดมด้วยตัวดีแบบนี้

หลักฐานพิสูจน์สำคัญแม้แต่โรคสมอง พาร์กินสัน ที่ตัวแข็ง ฝืด มือสั่น ต้นตอผ่านมาจากระบบทางเดินอาหาร แทรกผ่านเข้าเส้นประสาทไปสมอง เหมือนในโรควัวบ้าที่ได้โปรตีนพิษวัวบ้าจากการกินเช่นกัน

เส้นประสาทที่ว่าเป็นเส้นประสาทสมองเส้นที่ 10 (Vagus Nerve) ที่ผ่านลงมาควบคุมการทำงานของระบบทางเดินอาหารและเป็นสมมติฐานที่เชื่อถือกันมานาน (Braak hypothesis)

ข้อสนับสนุนที่ว่านี้มาจากการศึกษาจากสวีเดน (รายงานในวารสารประสาทวิทยา เมษายน 2560) โดยการศึกษาเปรียบเทียบคนสวีดิชที่ได้รับการผ่าตัดเส้นประสาท Vagus นี้ เพื่อเป็นการบรรเทารักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร (ในปัจจุบันไม่ใช้วิธีนี้แล้ว) เป็นจำนวน 9,430 ราย ในระหว่างช่วงปี 1970 ถึง 2010 โดยเปรียบเทียบกับประชากรอีก 377,200 ราย ที่มีอายุ เพศ เดียวกันกับกลุ่มที่ผ่าตัด

หลังจากติดตามไปตั้งแต่วัน เวลาที่ผ่าตัด จนกระทั่งถึงข้อใดข้อหนึ่ง ได้แก่ การเกิดอาการพาร์กินสันหรือเสียชีวิต หรือย้ายออกจากประเทศ หรือจนกระทั่งจบปี 2010

พบว่ามี 4,930 ราย เกิดเป็นโรคพาร์กินสัน (โดยมีการสังเกตเฝ้าบุคคลในช่วงเวลาการศึกษา Person-Years of follow-up = 7.3 ล้าน) และกลุ่มผ่าตัดเทียบกับกลุ่มไม่ผ่าตัดจะอยู่ที่ 61.8 ราย เทียบกับ 67.5 ต่อ 100,000 คน-ปี ตามลำดับ ทั้งนี้โดยมีการพิจารณาถึงตัวแปรอื่นๆ ตั้งแต่ประเทศที่คนคนนั้นเกิด โรคที่เป็นร่วมทั้งเบาหวาน โรคเกี่ยวกับเส้นเลือด โรคปอดหลอดลม ถุงลมพอง โรคข้อและตามดัชนีทางสุขภาพต่างๆ

แม้ว่าผลที่ได้ดูเหมือนว่าการผ่าตัดเส้นประสาทจะไม่สัมพันธ์กับการเกิดพาร์กินสัน แต่เมื่อทำการวิเคราะห์ละเอียดพบผลที่น่าตื่นเต้น คือ ถ้าเส้นประสาท Vagus ถูกตัดทั้งยวง (Trunkal Vagotomy) ก่อนหน้าที่จะเกิดโรคพาร์กินสันไม่ต่ำกว่า 5 ปี จะลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไปได้ (HR, 0.59; 95% CI, 0.37-0.93)

การที่ตัดทิ้งทั้งยวงของเส้นประสาทแล้วจะเป็นพาร์กินสันน้อยลง อาจมาจากการที่เส้นประสาทเส้นนี้จะกระจายทั่วไปควบคุมทั้งกระเพาะอาหารและลำไส้ ในขณะที่การตัดเส้นจำเพาะของเส้นประสาท Vagus จะเป็นการตัดเพียงส่วนที่ไปเลี้ยงกระเพาะอย่างเดียว

หลักฐานอื่นๆ ที่ดูสอดคล้องกับสมมติฐานของการเกิดโรคสมองผ่านทางลำไส้และไปยังก้านสมองผ่านทางเส้นประสาท Vagus มาจากการที่ผู้ป่วยที่เป็นพาร์กินสันมีอาการท้องผูกเป็นเวลาหลายๆ ปี หรือเป็นสิบปีก่อนหน้าเป็นโรค มิหนำซ้ำสารพิษ alpha-synuclein ยังพบในเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงลำไส้ได้ถึง 20 ปี ก่อนมีอาการของโรค และพบลักษณะพยาธิสภาพเด่นๆของโรค คือ Lewy Body และ alpha-synuclein ในลำไส้ของคนที่เริ่มมีอาการและยังสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการส่งผ่านสารพิษระหว่างเซลล์ด้วยกันได้ทั้งในคนไข้ที่เป็นพาร์กินสัน และในหนูทดลอง

อย่างไรก็ตาม ไม่คุ้มแน่ที่จะป้องกันโรคพาร์กินสันจากการตัดเส้นประสาททิ้ง แต่ลำดับขั้นต่อไปน่าจะต้องเพ่งเล็งอาหารใดและชนิดของแบคทีเรียตัวไม่ดีในลำไส้ที่เป็นผู้ก่อการ

ความสำคัญของชนิดของแบคทีเรียในลำไส้ ยังมีการยืนยันชัดเจนจากโรคลำไส้อักเสบถึงชีวิตจากเชื้อ Clostridium difficile ซึ่งมักเป็นผลจากการใช้ยาฆ่าเชื้อโรคหรือยาปฏิชีวนะไม่สมเหตุสมผล ใช้นานเกินความจำเป็นและไปฆ่าเชื้อดีเหลือแต่เชื้อดุร้าย

เชื้อนี้รักษายากเพราะดื้อยาและอัตราเสียชีวิตสูง การรักษา (ที่น่าตื่นเต้นอีกแล้ว) คือ การใช้ “อึ” ให้คนไข้ที่เป็นโรคนี้ ทั้งนี้โดยการคัดกรองอึจากคนที่สุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ และผ่านการตรวจว่าไม่มีเชื้อโรค พยาธิ ไวรัส ที่จะไปติดคนไข้หนักขึ้นไปอีก

การให้อึทำโดยการส่งผ่านท่อไปยังลำไส้เล็กส่วนต้น ทั้งนี้โดยเป็นการสร้างสมดุลของแบคทีเรียในอึ ในลำไส้ขึ้นใหม่

ผลปรากฏว่าได้ผลดีกว่าการที่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะระดับสูงด้วยซ้ำ (รายงานในวารสารนิวอิงแลนด์ ปี 2557)

ผลของความสำเร็จจากการรักษาด้วยอึยังมีอีก เช่น ในผู้ป่วยที่ตับแข็งทำงานไม่ได้ ก็จะไม่มีตัวขับขจัดสารพิษจากร่างกายทำให้มีการสะสมเอ่อท้น และทำให้สมองทำงานไม่ได้ถึงโคม่า และต้องระวังไม่ให้ท้องผูก และต้องคัดเลือกชนิดของอาหารมหาศาล เพื่อให้คงชีวิตอยู่ได้ เพื่อให้มีสติแจ่มใส มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การศึกษาทำที่ประเทศนอร์เวย์ และรายงานในการประชุมโรคตับนานาชาติในเดือนเมษายน 2560 โดยมีผู้ป่วยตับแข็ง 20 ราย ที่มีอาการสมองโคม่าจากพิษของตับวายแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง ทั้งที่ได้รับยาถ่ายระบายแลคทูโลสและยาปฏิชีวนะ Rifaximin

อึที่นำมารักษาคัดเลือกจากตัวอย่างอึขององค์กรชื่อ Open Biome ที่รัฐ Massachusetts ที่จะจัดสรรอึที่มีจุลินทรีย์หรือแบคทีเรียให้กับแพทย์ที่ต้องการทั่วโลก ตัวอย่างที่ได้นำมาใช้รักษานี้พิเศษตรงที่อุดมไปด้วยแบคทีเรีย Lachnospiraceae และ Ruminococcaceae ซึ่งเป็นตัวชี้วัดการมีสุขภาพแข็งแรงของร่างกาย ในระหว่างช่วง 150 วันที่ได้รับการรักษาด้วยอึพิเศษ โดยการทำ Fecal Transplantation ซึ่งปฏิบัติโดยการสวนทางทวารหนัก และค่อยๆปล่อยอึสู่ลำไส้ ปรากฏว่าคนไข้ตับแข็งเหล่านี้แจ่มใส สติเฉียบคมขึ้น และเข้าโรงพยาบาลจากตับพิษโคม่าน้อยลง

ผลการตรวจอึหลังจากได้อึพิเศษพบว่า แบคทีเรียหน้าตาดีขึ้นรวมทั้งมีแบคทีเรีย 2 กลุ่ม สำคัญที่กล่าวข้างต้นมากขึ้น มี 1 รายที่ไม่ได้ผล โดยพบว่าในลำไส้มีแบคทีเรียกลุ่ม Proteobacteria มากมาย เช่น Escherichia, Salmonella, Vibrio, Helicobacter

ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นการให้เห็นภาพว่ากลไกของร่างกายมีการปรับสมดุลอยู่ตลอดเวลาตามธรรมชาติ โดยมีการคุมเชิงกันระหว่างพระเอกและผู้ร้ายจากการใช้ชีวิต การกิน อยู่ที่ตัวเราที่จะเข้าข้างใครแล้วครับ

ขอบคุณนิตยสาร the Wisdom ที่หมอเขียนบทความนี้ และอนุญาตให้ เผยแพร่ครับ.

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.