DITP ผนึกกำลัง ก.วัฒนธรรม กรมการท่องเที่ยว และก.ท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านภาพยนตร์ สารคดี และแอนิเมชัน นำผู้ประกอบการไทย 37 บริษัท เข้าร่วมเจรจาการค้าในงาน Hong Kong International Film & TV Market 2025 (FILMART) ณ เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 17 – 20 มีนาคม 2568 โดยปีนี้ ผู้ประกอบการไทยสามารถสร้างผลลัพธ์ได้อย่างโดดเด่น นำไปสู่ความร่วมมือทางธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่การซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ไทยโดยบริษัทระดับแนวหน้าในฮ่องกง การวางแผนถ่ายทำภาพยนตร์และซีรีส์ต่างประเทศในประเทศไทย ตลอดจนการทำข้อตกลงด้านเทคนิคหลังการถ่ายทำกับผู้ผลิตระดับโลก สะท้อนถึงศักยภาพอันแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมภาพยนตร์และซีรีส์ไทยที่ก้าวไกลสู่เวทีสากล
นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า งาน FILMART ถือเป็นตลาดสำคัญของอุตสาหกรรมบันเทิงในเอเชีย โดยมีผู้แสดงสินค้ากว่า 760 บริษัท และผู้เข้าร่วมงานกว่า 7,500 ราย จาก 50 ประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ตัวแทนขาย ผู้ให้บริการ และนักลงทุนที่มองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ โดยผู้ประกอบการไทยที่เข้าร่วมงานมีทั้งหมด 37 บริษัท แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ บริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์และแอนิเมชัน (15 บริษัท) บริษัทผู้ให้บริการเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (6 บริษัท) บริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรายการและละครโทรทัศน์ (6 บริษัท) และบริษัทคอนเทนต์วาย (Content Y) (10 บริษัท)
สำหรับอุตสาหกรรมบันเทิงไทยสร้างปรากฏการณ์ในงาน Hong Kong FILMART 2025 ด้วยการสร้างโอกาสทางธุรกิจและความร่วมมือระดับนานาชาติอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ บริษัท เรติน่า ฟิล์ม โปรดักชั่น จำกัด ได้รับความสนใจจากผู้ผลิตซีรีส์จีนจากแผ่นดินใหญ่ ซึ่งมีงบประมาณการผลิตกว่า 170 ล้านบาท โดยมีแผนถ่ายทำบางส่วนในประเทศไทย สะท้อนถึงศักยภาพของไทยในฐานะโลเคชันถ่ายทำที่ได้รับการยอมรับ ขณะที่บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด ได้ร่วมมือกับ Emperor Motion Pictures (EMP) จากฮ่องกง ในการซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ไทย ได้แก่ วิมานหนาม, แฟลตเกิร์ล ชั้นห่างระหว่างเรา และ ซองแดงแต่งผี สำหรับการจัดจำหน่ายในตลาดฮ่องกงและมาเก๊า
นอกจากนี้ บริษัท เวลเคิร์ฟ จำกัด ได้เจรจาธุรกิจกับบริษัทจากหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน เวียดนาม ฮ่องกง ญี่ปุ่น กัมพูชา และมาเลเซีย โดยคาดการณ์มูลค่าทางธุรกิจในช่วง 1-3 ปี กว่า 2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ พร้อมทั้งขยายตลาดด้าน Fancon, Fan Meeting, Fan Screening และ Merchandise ด้านบริษัท กันตนา โพสท์ โปรดักชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ก็ประสบความสำเร็จในการปิดข้อตกลงโปรเจกต์ 3 โปรเจกต์ สำหรับปี 2568 กับบริษัทจากมาเลเซียและกัมพูชา และได้รับความสนใจจากบริษัทไต้หวันในการร่วมงานด้าน VFX และแอนิเมชัน
อีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญคือ บริษัท กันตนา ซาวด์ สตูดิโอ จำกัด ได้รับเกียรติจาก WOWing Entertainment Group ไต้หวัน ให้เข้าร่วมชมภาพยนตร์ 96 Minutes ในงาน FILMART 2025 ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้มีส่วนร่วมในงานด้านเสียงกับผู้กำกับมากฝีมืออย่าง Tzu-Hsuan Hung ซึ่งเคยร่วมงานในภาพยนตร์ The Scoundrels และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Best Sound Effects ในงาน Golden Horse Awards 2019 ที่ไต้หวันการเข้าร่วมงาน FILMART 2025 ครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของวงการบันเทิงไทยที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความสามารถในการขยายโอกาสสู่ตลาดโลก
นางสาวสุนันทา กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลจากการเข้าร่วมงานในครั้งนี้ สร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 2,292 ล้านบาท ความสำเร็จในงาน FILMART 2025 ตอกย้ำถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมภาพยนตร์และซีรีส์ไทยที่สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ โดยภาครัฐและพันธมิตรจะเดินหน้าสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจบันเทิงไทยให้เติบโต พร้อมผลักดันประเทศให้เป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ในภูมิภาคอาเซียน สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ เพิ่มมูลค่าการส่งออก และกระตุ้นการจ้างงานภายในประเทศให้เติบโตอย่างเข้มแข็งยิ่งขึ้นต่อไป