ผู้สูงอายุ ควรฉีดวัคซีนอะไรบ้าง?
GH News April 05, 2025 09:20 AM

วัยสูงขึ้น…แต่ ‘ภูมิคุ้มกัน’ มักไม่สูงตาม เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมักจะอ่อนแอลงเมื่ออายุมากขึ้น เชื้อโรคต่างๆ จากภายนอกสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย จากอาการเพียงเล็กน้อยก็อาจจะลุกลามและรุนแรงขึ้น เรื่องที่ต้องระวังอย่างมากคือโรคแทรกช้อนหรือโรคเรื้อรังที่อาจเกิดขึ้นตามมา ซึ่งอาจร้ายแรงจนเสียชีวิตได้

4 วัคซีนแนะนำสำหรับผู้สูงอายุ

วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (Influenza Vaccine)

ไข้หวัดใหญ่ คือโรคติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อ Influenza Virus มีการระบาดมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ในผู้สูงอายุ อาจจะมีอันตรายมากขึ้น โดยเสี่ยงต่อการติดเชื้อลงปอด ทำให้ปอดอักเสบมากขึ้นเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดสมองตีบมากกว่าคนทั่วไป 8 เท่า เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดตีบที่หัวใจมากกว่าคนทั่วไป 10 เท่า 23% จะสูญเสียความสามารถในการดูแลตัวเองหลังจากเจ็บป่วยจากไข้หวัดใหญ่ และยังมีอันตรายถึงแก่ชีวิตเพิ่มมากขึ้น

วัคซีนป้องกันปอดอักเสบ (Pneumococcal Vaccine)

โรคปอดอักเสบ เป็นสาเหตุสำคัญให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดเกิดการอักเสบทั่วร่างกาย การลำเลียงออกซิเจนมีปัญหา อวัยวะสำคัญจึงเกิดภาวะล้มเหลว หรือเกิดการติดเชื้อที่เยื้อหุ้มสมอง

วัคซีนป้องกันงูสวัด (Zoster Vaccine)

ไวรัสของคนที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสจะฝั่งอยู่ตามปมประสาท เมื่อร่างกายอ่อนแอก็จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนขึ้น ทำให้เส้นประสาทเกิดการอักเสบ บวม และเป็นตุ่มใสที่ผิวหนังผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บปวดมาก อาการแทรกซ้อนที่ต้องระวังคือติดเชื้อที่เนื้อเยื่อในตาทำให้อักเสบและมีแผลที่กระจกตา อาจลุกลามให้ตาบอดได้

วัคซีนป้องกันคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน

โรคคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หากผู้สูงอายุได้รับเชื้อ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้

คอตีบ (Diphtheria) ส่งผลต่อคอและเยื่อบุจมูก มักมีอาการต่อมน้ำเหลืองที่คอบวม ไข้สูง เจ็บคอ กลืนลำบาก หายใจหอบเหนื่อย

บาดทะยัก (Tetanus) ส่งผลต่อระบบประสาทรุนแรง ถ้ารักษาไม่ทันอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิตได้

ไอกรน (Pertussis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจ มักมีอาการคล้ายไข้หวัด แต่จะไอติดต่อกันนานและรุนแรงจนเหนื่อยเพลียมาก อาจรุนแรงถึงชีวิตหากพบภาวะแทรกซ้อน

ทำไมผู้สูงอายุ ควรฉีดวัคซีน?

เพราะ…ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมักจะอ่อนแอลงเมื่ออายุมากขึ้น หากผู้สูงวัยได้รับเชื้อโรค ร่างกายจะไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้ สุดท้ายก็จะทำให้ร่างกายติดเชื้อและอาจเจ็บป่วยรุนแรงได้

References:
1) Warren-Gash C, et al. Eur respire J. 2018
2) Andrew MK, et al. J Am Geriatr Soc. 2021

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.