ส.อ.ท.ถกด่วน 47 อุตฯ รับมือทรัมป์ขึ้นภาษีไทย 36% ชงซื้อ ‘เครื่องบินรบ-อาวุธ’ สหรัฐเพิ่ม จี้ รบ.เจรจาด่วน
เมื่อวันที่ 4 เมษายน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมด่วนร่วมกับ 47 กลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อหารือแนวทางรับมือหลังทรัมป์ประกาศภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ที่ไทยโดนเก็บภาษีสูงถึง 36% ว่า ได้เรียกประชุมด่วนทุกกลุ่มอุตสาหกรรมที่ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐ เพื่อระดมสมองหามาตรการต่างๆ หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศนโยบายภาษีศุลกากรตอบโต้ ซึ่งไทยถูกเรียกเก็บภาษีสูงถึง 36% มากกว่าที่ภาครัฐ และเอกชนคาดการณ์ไว้เกือบ 3 เท่าตัว คาดมูลค่าเสียหายจากการขึ้นภาษีดังกล่าว ราว 8-9 แสนล้านบาท
“ที่ประชุมได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอุปสรรคทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับไทย ทั้งอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers -NTB) อุปสรรคด้านการลงทุน อุปสรรคด้านการค้าเกษตร นอกจากนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนัก ได้แก่ ยานยนต์ อาหาร พลาสติก และเคมีภัณฑ์” นายเกรียงไกรกล่าว
นายเกรียงไกรกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ มาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐ ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อหลายกลุ่มอุตสาหกรรมของไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งถูกเก็บภาษีในอัตรา 25% ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2568 ขณะที่รถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งเป็นสินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปสหรัฐมากกว่ารถยนต์ อาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากประเทศคู่แข่ง อุตสาหกรรมอาหารได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะอาหารแปรรูป และสินค้าประมง ซึ่งเดิมมีอัตราภาษี 0% แต่ถูกปรับขึ้นเป็น 36% อุตสาหกรรมพลาสติก ซึ่งมีมูลค่าธุรกิจระหว่าง 5-6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อาจทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และสูญเสียส่วนแบ่งตลาด
นายเกรียงไกรกล่าวว่า อุตสาหกรรมเคมี มีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 11% ของทั้งหมด อาจลดลงหากมาตรการภาษีของสหรัฐยังคงดำเนินต่อไป อุตสาหกรรมเครื่องจักรและอุปกรณ์อุตสาหกรรม ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน โดยมูลค่าการค้าลดลงจาก 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือ 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อาจต้องชะลอการผลิตและการส่งออก เนื่องจากผู้ซื้อต่างประเทศอาจปฏิเสธรับมอบสินค้าไทย เพราะต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากภาษีนำเข้าสูง ในทางกลับกัน อุตสาหกรรมรองเท้า อาจได้รับประโยชน์จากสถานการณ์นี้ เนื่องจากประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม และกัมพูชา ถูกเก็บภาษีสูงกว่า ทำให้สินค้าไทยแข่งขันในตลาดสหรัฐได้ดีขึ้น
“กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กและกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม ก็ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากถูกเก็บภาษี 25% ตั้งแต่แรกแล้ว ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐสูงขึ้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้อาจต้องเผชิญกับการคำสั่งซื้อที่ลดลงของคำสั่งซื้อแ ละความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล เนื่องจากคู่แข่งจากประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำกว่ายังคงสามารถรักษาต้นทุนที่ต่ำกว่าได้” นายเกรียงไกรกล่าว
นายเกรียงไกรกล่าวว่า ส.อ.ท.ได้ประชุมร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อหามาตรการรับมือและหารือกับสหรัฐ อาทิ 1.เจรจาสร้างความสมดุลการค้าสหรัฐ ทั้งการนำเข้า และส่งออก โดยจะเสนอแนวคิดที่สร้างสรรค์ เช่น การนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐ เพื่อมาแปรรูปและส่งออกมากยิ่งขึ้น 2.แก้กฎหมายและภาษีนำเข้าไทย เพื่อสนับสนุนการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ โดยประเทศไทยมีความพร้อมที่จะนำเข้าจากสหรัฐ ประมาณ 4-5 รายการ เช่น ข้าวโพด และปลาทูน่า เป็นต้น 3.ออกมาตรการออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า เพื่อเป็นหลักฐานว่ามีการผลิตจากในประเทศไทยจริง เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และแผงโซลาร์เซลล์ เป็นต้น 4.ทบทวนภาษีและมาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff barriers) เช่น กรณีรถมอเตอร์ไซค์ที่ไทยมีการตั้งภาษีไว้สูง
“ได้มอบหมายให้แต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม ไปศึกษาข้อมูลภายในกลุ่มเพิ่มเติมว่าได้รับความเสียหายมากน้อยเพียงใด และหาจุดยืนร่วมกัน เพื่อ ส.อ.ท.จะได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์ และเสนอแนวทางให้แก่รัฐบาลเพื่อพิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตาม ภาครัฐ และเอกชนได้ร่วมเจรจา เพื่อเตรียมรับมือนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว เพื่อพิจารณาแลกเปลี่ยนสินค้าต่อรองกับสหรัฐ เบื้องต้นมีกรอบสินค้าเกษตรหลายตัวที่จะเปิดให้นำเข้าจากสหรัฐมากขึ้น เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และสินค้าหนัก อาทิ อาวุธยุทโธปกรณ์ เครื่องบินรบ โดรน เป็นต้น ดังนั้น ภาครัฐต้องเร่งเจรจาต่อรองกับสหรัฐอย่างเร่งด่วน ไม่ใช่แค่ลดการเกินดุลการค้าสหรัฐเท่านั้น แต่ต้องเร่งแก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ และทรัพย์สินทางปัญญา และต้องออกมาตรการเร่งด่วนเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศไม่ให้เข้ามาทุ่มตลาดในประเทศเหมือนเช่นปัจจุบัน” นายเกรียงไกรกล่าว
องค์การการค้าโลกออกมาแสดงความกังวลอย่างยิ่ง พร้อมทั้งระบุว่าปริมาณการค้าอาจหดตัวลง 1% ในปีนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า ภาษีทรัมป์อาจทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจในยุโรปลดลงเกือบ 1% และผลกระทบอาจเกิดขึ้นเพิ่มเติมหากยุโรปดำเนินมาตรการตอบโต้กลับ ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มที่จะถดถอย หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ
สำนักข่าวรอยเตอร์อ้างบันทึกข้อมูลของเจพีมอร์แกน (JPMorgan) ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐ ระบุว่า การขึ้นภาษีรวมทั้งสิ้นประมาณ 22% ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ครั้งนี้ จะเทียบได้เท่ากับการขึ้นภาษีสินค้าครั้งใหญ่ที่สุดของสหรัฐนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1968 หรือในรอบ 57 ปี โดยเจพีมอร์แกนยังเตือนว่าความเสี่ยงที่โลกจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยมีมากขึ้น 60% เพิ่มขึ้นจาก 40% ที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ และผลกระทบจากภาษีอาจทวีความรุนแรงขึ้นจากการดำเนินมาตรการตอบโต้ การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และผลกระทบจากความรู้สึกช็อก