ทีมวิจัยธรรมศาสตร์เผยพร้อมเข้าไปติดตั้งอุปกรณ์วัดแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวบนอาคารสูงให้ กทม. หากได้รับงบจากสภา กทม. และเข้าร่วมเวิร์คช็อปแผ่นดินไหวกับ กทม. และสถานทูตญี่ปุ่น โดยทีมวิจัยต้องการความช่วยเหลือด้านการศึกษาผลตอบสนองของแอ่ง กทม. เพื่อนำไปปรับปรุงมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหวในอนาคต
ผศ. ดร.อมรเทพ จิรศักดิ์จำรูญศรี นักวิจัยของศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยถึงรายละเอียดในการเข้าร่วมประชุมความร่วมมือภัยพิบัติแผ่นดินไหวระหว่างกรุงเทพมหานครและสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ว่าทางสถานทูตยินดีให้การสนับสนุนประเทศไทยอย่างเต็มที่ พร้อมนำผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นในหลากหลายมิติ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นที่ ถนน และสะพานมายังประเทศไทย เพื่อเข้ามาให้แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย เนื่องจากญี่ปุ่นประสบภัยแผ่นดินไหวอยู่ตลอด โดยสามารถนำเทคโนโลยีขั้นแนวหน้ามาช่วยเหลือได้ ซึ่งทางสถานทูตญี่ปุ่นจะช่วยดำเนินการประสานงานให้ และคาดว่าจะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกันที่กรุงเทพมหานครในสัปดาห์หน้า
สิ่งที่ตัวแทนกรุงเทพมหานครเสนอไป คือ ต้องการได้รับความช่วยเหลือจากทางญี่ปุ่นใน 2 ประเด็น ได้แก่
1. วิธีการปฏิบัติตัว การรับมือ หรือการแจ้งเหตุกับประชาชนว่าเกิดอะไรขึ้น
2. การประมวลผลอย่างรวดเร็ว (Rapid assessment) หลังจากที่เกิดเหตุ ขณะที่นักวิจัยได้เสนอเรื่องความต้องการความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นในการศึกษาผลตอบสนองของแอ่งกรุงเทพมหานครเนื่องจากแผ่นดินไหว ในรูปของแบบจำลองแอ่ง 2 มิติและ 3 มิติ เพื่อจะดูว่าพื้นที่ใดมีโอกาสเสี่ยงภัยมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะสามารถนำไปปรับปรุงมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหวได้ในอนาคต
สำหรับอุปกรณ์วัดแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวที่ ผศ. ดร.อมรเทพ และทีมวิจัยจากจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พัฒนาขึ้นนั้น ขณะนี้ได้นำไปติดตั้งที่พื้นดินกับตัวอาคารในสถานที่สำคัญ รวมประมาณ 50 จุด และวิเคราะห์ผลตอบสนองของพื้นดิน เพื่อนำไปปรับปรุงมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหวของกรมโยธาธิการและผังเมือง เช่น พื้นที่โบราณสถานในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีปัญหาแผ่นดินไหว การบิน การจราจร และสร้างโครงข่ายเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหวต้นทุนต่ำ (ผลของแอ่งดินตะกอน) ส่วนในกรุงเทพมหานครได้ติดตั้งอุปกรณ์ไว้ที่อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 แล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมการเข้าไปติดตั้งที่โรงพยาบาลกลาง ส่วนแผนงานต่อไป คือ การติดตั้งที่โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวจะนำไปเป็นข้อมูลประกอบการแจ้งเตือนและวางแผนอพยพผู้ประสบภัย โดยอ้างอิงกับความแข็งแรงของอาคาร เพื่อลดความสับสนและสูญเสีย
ทั้งนี้ ทีมวิจัยยินดีที่จะพัฒนาอุปกรณ์ดังกล่าวให้กับกรุงเทพมหานครเพิ่มเติม หลังจากที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ว่าจะเสนอของบประมาณโครงการจ้างที่ปรึกษาประเมินกำลังต้านทานแรงแผ่นดินไหวอาคารในสังกัดกรุงเทพมหานคร และติดตั้งเครื่องวัดแผ่นดินไหวบนตึกสูงต่อสภากรุงเทพมหานครอีกครั้ง