ผู้เขียน | นฤตย์ เสกธีระ |
---|
แท็งก์ความคิด : กาลเวลาพิสูจน์
กรณีของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. และทีมงาน เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างเรื่อง “กาลเวลาพิสูจน์คน”
เพราะหลายเรื่องที่ กทม.เคยเสนอ แล้วสภา กทม.ไม่เข้าใจ และเบรกงบประมาณเอาไว้
สุดท้ายเมื่อสถานการณ์จริงปรากฏ ยืนยันว่า ผู้บริหารคิดถูก ฝ่ายเทศบัญญัติก็ต้องทบทวน
หนึ่ง คือ เรื่องงบประมาณสร้างห้องปลอดฝุ่นเอาไว้รองรับเด็กนักเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร
ก่อนหน้านี้คงได้ยินข่าวกันว่า กทม.นำเสนอ แต่สภาไม่อนุมัติ
มีเหตุผลและความเชื่อต่างๆ ที่นำมาระบุ สุดท้ายคือไม่อนุญาต
แต่เมื่อ กทม.เผชิญหน้ากับฝุ่น PM2.5 เสียงเรียกร้องให้ดูแลเด็กและนักเรียนดังขึ้น
เรื่องห้องปลอดฝุ่นในโรงเรียนก็ผุดขึ้นมาอีกครั้ง
เป็นบทเรียนให้ได้รู้กันว่า ห้องปลอดฝุ่นนั้นคุ้มค่า หากสามารถป้องกันลูกหลานมิให้เสี่ยงกับโรคอันเกิดจากฝุ่นจิ๋ว
พอมาถึงคราวเคราะห์ของไทย เพราะแผ่นดินไหวเกิดขึ้นที่เมียนมา แต่ตึกกำลังก่อสร้างใน กทม.ถล่ม
ยึดสถิติที่สุดของโลก นั่นคือ เป็นตึกที่สูงที่สุด ที่อยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่สุดแต่ถล่ม
ความทรงจำเกี่ยวกับการของบประมาณของ กทม. เรื่องแผ่นดินไหวก็เกิดขึ้นอีก
ทั้งงบประมาณ ที่จัดซื้อเครื่องมือ และจ้างผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์แผ่นดินไหว
ทั้งงบประมาณ การจ้างผู้ตรวจสอบการก่อสร้าง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างอาคาร โดยเฉพาะอาคารใหญ่และสูง
กลายเป็นว่าสภา กทม.ไม่เข้าใจกับแนวทาง “ป้องกัน” ที่ทางฝ่ายบริหาร กทม.คิด
กทม.คิดว่างบประมาณที่ใช้ไปนั้นคุ้มค่าแน่ หากสามารถ “ป้องกัน” ผู้คนและทรัพย์สินได้
ส่วนสภา กทม.ยังเห็นว่าอาจจะไม่คุ้มค่า หากปล่อยให้ใช้งบประมาณไปเพื่อการดังกล่าว
ความขัดแย้งทางความคิดเช่นนี้ถือว่าปกติ
แต่สุดท้าย กาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์
กรณีเช่นนี้มิใช่เพิ่งเคยเกิดขึ้นกับนายชัชชาติ ในยุคที่เป็นผู้ว่าฯกทม.
หากย้อนกลับไปเมื่อนายชัชชาติเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กรณีแบบนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
หากจำกันได้ โครงการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง 2 ล้านล้านบาท ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็เป็นเช่นนี้
เมื่อครั้งนั้นรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ผลักดันให้มีการสร้างรถไฟไฮสปีด
หวังเงินลงทุน หวังสร้างโครงสร้างพื้นฐาน หวังชิงความได้เปรียบทางโลจิสติกส์ หวังสร้างงานใหม่ ออกแบบผังเมืองใหม่ และอื่นๆ มากมาย
แต่ด้วยความไม่เข้าใจ ไม่เห็นด้วย ไม่ไว้วางใจ หรืออะไรก็แล้วแต่ ในที่สุดโครงการนี้ก็ตกไป เพราะแนวทางด้านการเงินไม่ผ่าน
เกิดเป็นวาทกรรม “สร้างทางลูกรังให้หมดก่อน”
ยังมีวาทกรรม “ลงทุนสร้างรถไฟความเร็วสูงไปขนส่งผัก”
ตอนนั้น คนที่ออกหน้าอธิบายความจำเป็นหลักๆ มี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่เป็นรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายชัชชาติ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
วันที่ไปชี้แจงต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายชัชชาติได้ชี้แจงถึงเหตุจำเป็นต่างๆ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ พยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ความเข้าใจเกิดขึ้น
แต่เมื่อขั้นตอนต่างๆ ไม่ผ่านก็คือไม่ผ่าน
หลังจากนั้นจีนได้ลงทุนกับลาวสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง และเปิดใช้งานได้
การเปิดใช้งานรถไฟฟ้าความเร็วสูงของลาวมีกระแสข่าวหลากหลายทั้งด้านดีและด้านร้าย
ส่วนประเทศไทยเริ่มมองเห็นความสำคัญของรถไฟฟ้าความเร็วสูงของลาวที่เชื่อมไปถึงจีน
มองเห็นว่าเส้นทางดังกล่าวเป็นช่องทางส่งสินค้าทางการเกษตรไปขาย
เมื่อเห็นเช่นนั้นจึงผลักดันให้มีทางรถไฟจากกรุงเทพฯไปหนองคาย เพื่อไปเชื่อมกับเวียงจันทน์
พร้อมกันนั้นได้มีโครงการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราช
และเมื่อมาถึงรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร คณะรัฐมนตรีเพิ่งผ่านโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเฟส 2 จากโคราชไปหนองคาย
ตอกย้ำว่าแนวคิดเรื่องการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงเมื่อปี 2556 นั้นมาถูกทางแล้ว
แต่อีกหลายคนไม่เข้าใจ ไม่ไว้วางใจ ไม่พอใจ จึงต่อต้าน โครงการดังกล่าวจึงล้ม
กระทั่งกาลเวลาผ่านพ้นไป อะไรต่อมิอะไรได้เป็นเครื่องพิสูจน์
ไม่ได้พิสูจน์เฉพาะคน แต่ยังพิสูจน์วิสัยทัศน์ของผู้นำ
ยืนยันว่าคนไทยมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์อยู่เสมอ
และยืนยันว่าไอเดียใหม่ๆ ที่เป็นของแปลกปลอมอาจจะถูกต่อต้านจนต้องหยุดชะงัก
ทำให้ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ต้องมีภารกิจที่หนักกว่า นั่นคือทำความเข้าใจกับกลุ่มต่อต้าน
ถ้าทำให้แรงต้านน้อย ประเทศชาติก็ได้ประโยชน์
แต่ถ้าแรงต้านมาก ประเทศชาติและประชาชนก็หมดโอกาสได้สัมผัสผลสำเร็จจากวิสัยทัศน์นั้นๆ
กลายเป็นเรื่องที่น่าเสียดายสำหรับประเทศไทย
นฤตย์ เสกธีระ