คนไทยยังขวัญผวาเหตุแผ่นดินไหว ระบุ ไม่เชื่อมั่นรัฐจัดการภัยพิบัติ แจ้งเตือน ล่าช้า แนะรัฐยกเครื่องเป็นวาระแห่งชาติ อนุทินรับเป็นเพื่อนซี้ผู้ว่าฯสตง.คอนเนคชั่นวปอ. แต่ยันไม่มีอุ้มช่วยเหลือปมตึก สตง.ถล่ม ลั่นถึงช่วยได้ก็ไม่ช่วย โต้เพจดังปั่นข่าวเท็จ เผยเจ้าตัวเครียด ชี้ไร้เอี่ยว ไม่ได้ลงนามสัญญา เหตุเพิ่งมารับตำแหน่ง แจงมท.-โยธาฯสอบโครงสร้างอาคาร ขณะที่ดีเอสไอดูทุจริต-ฮั้ว ส่วน นภินทรแจงคดีตึก สตง.ถล่ม ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษแล้ว เร่งสอบข้อมูลนอมินีไทยเหมาะถือหุ้นหรือไม่ ดัน 8 หน่วยงานส่งข้อมูลเสริม-สอบเพิ่มอีก 37 บริษัท
เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2568 ที่พรรคภูมิใจไทย(ภท.) นายอนุทิน ชาวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีเพจ CSI LA โพสต์ภาพความสนิทสนมของนายอนุทิน กับนายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และตั้งข้อสังเกตเชื่อมโยงการสอบสวน อาคาร สตง. แห่งใหม่ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหวว่ายอมรับว่า สนิทสนมกับนายมณเฑียรจริง เป็นเพื่อนรักกัน สนิทกันมา 10 กว่าปีแล้ว เพราะเรียนหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร(วปอ.) ด้วยกัน ตนเป็นประธานรุ่น และนายมณเฑียร เป็นเลขารุ่น จึงเป็นเรื่องปกติ แต่ข้อมูลที่บอกว่ามีการช่วยเหลือกันเป็นเรื่องตึก สตง. ถล่ม ข้อมูลเท็จ เป็นการนั่งเทียนเขียนข่าว
ความเป็นเพื่อนกันไม่รู้จะทำอย่างไร ก็รู้จักกันมาก่อน แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ไม่ว่าจะพูดอย่างไรก็ตาม อาคารหลังนี้ท่านมณเฑียร เจริญผล ไม่ได้เป็นคนลงนามสัญญา เพราะท่านเพิ่งเข้ามาเป็นผู้ว่าฯ สตง. ไม่ถึงครึ่งปี เพิ่งจะโปรดเกล้าฯเมื่อสิ้นปีที่แล้ว อาคารก็จะเสร็จอยู่แล้ว ไม่เกี่ยวข้องกัน พยายามขอให้ให้ข้อมูลบนพื้นฐานความเป็นจริง แล้วดูรูปที่ไปลงแต่ละรูป กี่ปีแล้ว ตั้งแต่ตายังไม่มีรอยตีนกาเลย นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ยืนยันว่าหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้แล้วมีความผิด ไม่มีใครช่วยเหลือใครได้ การสอบสวนทุกอย่างต้องตรงไปตรงมา และนี่คือเหตุผลที่คณะกรรมการสอบสวนมีแต่ตัวแทนจากสภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และจากมหาวิทยาลัยหลากหลายแห่งเพราะฉะนั้นตรงนี้ไม่มีทางที่จะชี้นำหรือบิดเบือนข้อเท็จจริง แต่ต่อให้ทำได้ก็ไม่ทำตึกถล่มลงมาขนาดขนาดนี้ จะคิดไปช่วยเหลือคนผิดมันทำไม่ได้อยู่แล้ว การเขียนข่าวต้องให้มีข้อเท็จจริง ส่วนจะมีการฟ้องร้องกลับหรือไม่นั้น เรื่องดังกล่าวไม่จริง ตนก็ไม่รู้จะไปฟ้องทำไม เรื่องแค่นี้ แต่ยืนยันว่าเป็นเพื่อนกันจริง แต่เรื่องความช่วยเหลือไม่มี อย่างไรก็ตาม หลังเกิดเหตุอาคารสตง. ถล่ม ได้มีการพูดคุยกับนายมณเฑียร เมื่อวานก็คุย ในไลน์กลุ่มพวกเราทุกคนก็เห็นว่ามันไม่ใช่ข้อเท็จจริง
เป็นไปไม่ได้ที่จะช่วยเหลือใครให้ผิดเป็นถูก ในเหตุการณ์นี้มีแต่ความเศร้าโศกเสียใจ นอกจากจะไม่ช่วยเหลือแล้วผมเองเป็นคนย้ำกับทุกฝ่ายว่าต้องหาเหตุให้ได้ เพราะอาคารในกรุงเทพฯ มีเป็นหมื่นแสนอาคาร ไม่ถล่ม แต่มีอาคารเดียวที่ถล่ม เพราะฉะนั้นต้องมีความผิดพลาดอย่างแน่นอน ไม่ปัจจัยใดก็ปัจจัยหนึ่ง ไม่มีทางช่วยเหลือใครอยู่แล้ว นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า เท่าที่คุยกับนายมณเฑียร เจ้าตัวเครียด เพราะเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งไม่นาน ก็เกิดเหตุการณ์ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง มีหน้าที่สอบว่าทำไมตึกถึงถล่ม มีข้อผิดพลาดในการก่อสร้างอย่างไร ไม่ได้มีหน้าที่สอบที่มาที่ไปของตึกว่ามีทุจริตหรือฮั้วกันหรือไม่ เป็นหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ที่จะตรวจสองเรื่องสัญญา
ด้าน นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์กรณีการตรวจสอบรายชื่อผู้ถือหุ้น บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 มีชื่อคนไทยแต่คุณสมบัติอาจจะไม่เหมาะ กระทรวงพาณิชย์จะมีการตรวจสอบอย่างไรว่า ได้ตรวจสอบคนไทยแล้ว จากลักษณะมีเหตุผลว่าจะเป็นนอมินี ในทางกฎหมายไทยต้องมีหลักฐานการพิสูจน์ได้ว่าเป็นนอมินีจริง ต้องมีเอกสาร เช่น หลักฐานการเสียภาษี บัญชีเงินฝากว่าคุณมีเงินลงทุนหรือไม่ ที่ตัวประกอบไม่จำเป็นต้องพบตัว จะหลบยังไงก็ตามแต่ถ้าหลักฐานมา คปง. ดีเอสไอ ต้องสอบสวน แล้วคดีนี้เป็นคดีพิเศษแล้วที่ดีเอสไอรับแล้ว เชื่อว่าจะมีการตั้งข้อหาในเร็วๆ นี้
เมื่อถามว่า การตรวจสอบผู้ถือหุ้นในปัจจุบันเข้าข่ายผิดอะไรบ้าง เพราะผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือคนจีน นายนภินทร เผยว่าการจดทะเบียนผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 49% เป็นคนจีน 51% ที่คนไทยถือหุ้นถือจริงหรือไม่ นี่คือประเด็นข้อมูลมีผลที่เชื่อว่าเป็นลามินีจริงๆ เราได้ส่งให้ดีเอสไอ และการติดต่อต้องเอาเอกสารมาประกอบ เอกสารการเงินของผู้ถือหุ้นคนไทยว่ามีเงินจริงหรือไม่ มีรายได้อย่างไร เสียภาษีอย่างไร มีบัญชีเงินฝากแค่ไหน ที่จะสามารถไปหุ้นได้ หลักฐานเหล่านี้เจ้าที่คงเรียกมาตรวจสอบ หากพิสูจน์ได้ว่าไม่มีเงินลงทุนจริงสามารถตั้งข้อหาได้ เป็นหลักฐานที่เชื่อถือได้โดยปราศจากข้อสงสัย
เมื่อถามว่า หน้าที่ในการตรวจสอบเป็นของกรมภายใต้กระทรวงหรือของใคร นายนภินทร กล่าวว่า ตอนนี้เป็นของดีเอสไอ กรมจะส่งข้อมูลให้ทั้งหมด 8 หน่วยงาน และส่งให้ดีเอสไอสรุป เราจะไม่ทำงานก้าวล่วงกัน ส่วนอีก 37 บริษัทที่เชื่อมโยงกันนั้น จะตรวจเช่นกัน กรมพัฒนาการค้าจะตรวจทั้งหมดและจะส่งข้อมูลให้ดีเอสไอและ 13 บริษัทที่เกี่ยวกับไชน่า เรลเวย์ ก็ส่งข้อมูลให้กับดีเอสไอเช่นกัน
เมื่อถามว่าจากข้อมูลที่ออกมา เพราะว่าเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ข้อมูลอยู่ที่ดีเอสไอ ซึ่งตั้งข้อสังเกตบริษัทร่วมค้าทั้งหมดของ ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เท็น ในภาพรวมการยื่นกองทุนต่างๆ ใช้บริษัทร่วมค้า ซึ่งต้องเช็คว่ามีการเกี่ยวข้องยังไง ใครถือหุ้นบ้าง
ขณะที่ "สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง "คนไทยกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว" กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,239 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 1-4 เมษายน 2568 สรุปผลได้ ดังนี้ 1. ประชาชนติดตามข่าวเหตุการณ์แผ่นดินไหวจากช่องทางใด อันดับ 1 โซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก เอ๊กซ์ ติ๊กต็อก ยูทูป ไลน์ 89.11% อันดับ 2 โทรทัศน์ 61.87% อันดับ 3 เพื่อน ครอบครัว 43.54% 2. ประชาชนมีความกังวลต่อภัยพิบัติประเภทใดมากที่สุด อันดับ 1 แผ่นดินไหว 84.91% อันดับ 2 น้ำท่วม 55.85% อันดับ 3 ฝุ่น PM 2.5 49.80% 3. จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ ประชาชนมีความกังวลต่อความปลอดภัยและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต มากน้อยเพียงใด อันดับ 1 ค่อนข้างกังวล 48.83% อันดับ 2 กังวลมาก 41.40% อันดับ 3 ไม่ค่อยกังวล 8.47% อันดับ 4 ไม่กังวลเลย 1.30% 4. เหตุการณ์แผ่นดินไหวทำให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างไรบ้าง อันดับ 1 ติดตามข่าวสารต่างๆมากขึ้น 79.43% อันดับ 2 เพิ่มความระมัดระวังในการใช้ชีวิตประจำวัน 76.26% อันดับ 3 วางแผนการรับมือหรือเตรียมอุปกรณ์จำเป็นหากเกิดเหตุฉุกเฉิน 52.36% 5. ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรับมือกับภัยพิบัติในอนาคต อันดับ 1 มีระบบติดตาม แจ้งเตือนภัยพิบัติที่รวดเร็ว แม่นยำ 72.18% อันดับ 2 ยกระดับเรื่องภัยพิบัติเป็นวาระแห่งชาติ 45.10% อันดับ 3 จัดตั้งหน่วยงานช่วยเหลือป้องกันภัยเฉพาะกิจ มีงบประมาณสนับสนุนเพียงพอ 40.45% อันดับ 4 ให้ความรู้แก่ประชาชนในการรับมือ เอาตัวรอด 28.82% อันดับ 5 ควรตรวจสอบความปลอดภัยและโครงสร้างของอาคารทุกประเภทอย่างเข้มงวด 21.01% อื่นๆ เพิ่มค่าตอบแทนให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านภัยพิบัติ สร้างขวัญกำลังใจ ฯลฯ 6.73%
นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า ผลโพลสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยตื่นตัวกับภัยธรรมชาติที่ไม่อาจคาดเดาได้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนก็รู้สึกว่า "ข้อมูลจากรัฐ" นั้นล่าช้า สังคมออนไลน์ก็เต็มไปด้วยข่าวปลอมที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว จึงเรียกร้องให้รัฐบาลจัดลำดับความสำคัญให้กับเรื่องนี้ เร่งพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยที่ "แม่นยำ ฉับไว ไว้ใจได้ และเข้าถึงทุกคน" เพื่อไม่ให้เกิดการถอดบทเรียนซ้ำๆ แต่ไม่ได้นำมาปฏิบัติจริง
ขณะที่ อาจารย์มณฑล สุวรรณประภา อาจารย์ประจำหลักสูตรอนามัยสิ่งแวดล้อมและสาธารณภัย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า ผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในการรับรู้ด้านภัยพิบัติของคนไทย โดยเฉพาะแผ่นดินไหวซึ่งไม่เคยเป็นปัญหาหลักของประเทศไทยจนกลายเป็นความกังวลอันดับหนึ่ง ขณะที่พฤติกรรมการรับข้อมูลข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดียชี้ให้เห็นว่าภาครัฐยังขาดช่องทางการสื่อสารด้านภัยพิบัติที่น่าเชื่อถือ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐต้องปรับกลยุทธ์การสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ เพื่อให้สามารถเข้าถึงประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ถือเป็นความท้าทายสำคัญที่ภาครัฐต้องสนับสนุนและผลักดันให้ภัยพิบัตินี้เป็นวาระแห่งชาติ โดยบูรณาการการทำงาน ทั้งในระดับนโยบายและปฏิบัติ ตั้งแต่การพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกัน การจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ทนต่อภัยพิบัติ ไปจนถึงการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนในการรับมือภัยด้วยตนเอง เพื่อลดความเปราะบางและเพิ่มความยืดหยุ่นของสังคมไทยต่อภัยพิบัติที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในอนาคต