ห่วงอุ้มครูล้มละลายกระทบ ขรก. ทั่วปท. แนะถกก.พ.แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
นายอดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และนักวิชาการทางการศึกษา เปิดเผยว่า ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่มีนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการศธ. หารือการปรับแก้พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 เพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ถูกฟ้องล้มละลาย ไม่ต้องออกจากราชการ เนื่องจากเป็นคดีทางแพ่งไม่ใช่การทุจริต โดยขณะนี้อยู่ระหว่างทำประชาพิจารณ์สอบถามความเห็นผู้เกี่ยวข้องนั้น โดยหลักการแล้วข้าราชการไม่ใช่มีเพียงแค่ครูเท่านั้น และการให้ข้าราชการที่ล้มละลาย ต้องออกจากราชการ เนื่องจากตามกฎหมายเห็นว่า บุคคลล้มละลายอาจมีภาระอื่นๆทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือตนเอง จนกระทบต่อการปฏิบัติงาน
” แนวคิดที่ให้ครูล้มละลาย ไม่ต้องออกจากราชการ เพื่อไม่ให้กระทบการเรียนการสอนนั้น ก็ถือเป็นการเปิดโอกาส แต่แม้ให้ทำหน้าที่สอนต่อได้ แต่คนที่เป็นหนี้ถึงขั้นล้มละลาย ก็จะไม่มีสมาธิในการทำงาน เพราะต้องหาเงินเพื่อชำระหนี้ ทำให้เวลาเตรียมการสอนน้อยกว่าครูกลุ่มปกติ ซึ่งถ้ามองว่าเป็นการให้โอกาสก็สามารถทำได้ แต่ถ้าทำงานต่อไปแล้วมีผลกระทบจนทำให้ถูกร้องเรียน ก็อาจถูกให้ออกจากราชการได้เช่นกัน เพราะยังมีระเบียบและกฎหมายอื่น ๆ กำกับดูแลการทำงาน ที่สำคัญ จะส่งผลกระทบต่อภาพกว้าง ข้าราชการอื่นๆ อาจตั้งคำถามกลับมาว่าทำไมครูถึงได้สิทธิพิเศษ ส่งผลให้เกิดทัศนคติด้านลบต่อวิชาชีพครู ดังนั้นหากศธ.อยากขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจังควรจะมีการหารือกับ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)รวมถึงหารือกับข้าราชการส่วนอื่นๆ ด้วย อย่ามองเฉพาะในส่วนรับผิดชอบเท่านั้น “นายอดิศร กล่าว
นายอดิศร กล่าวต่อว่า ส่วนที่จะเข้าไปพูดคุยกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เพื่อชะลอการฟ้องล้มละลายของครูนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่คงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพราะต่อให้มีการชะลอการฟ้องล้มละลายออกไป แต่ครูยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ สุดท้ายปัญหาก็จะวนกลับมาสู่การถูกฟ้องอยู่ดี ซึ่งผู้ที่แก้ปัญหาหนี้ได้ดีที่สุดคือตัวของผู้กู้เอง