ธนโชติ ยัน ‘เก็ทไม่ยาก’ หากลองอ่าน ‘พระนั่งเกล้าฯ ไม่โปรดการละคร’ ยิ้มรับยอดพุ่ง เชื่อคุณพี่เจ้าขาฯ ช่วยดัน
เมื่อวันที่ 6 เมษายน ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-8 เขตคลองเตย กรุงเทพฯ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) พร้อมด้วยพันธมิตร จัดงาน “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 53 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 23” ภายใต้แนวคิด “ย ยักษ์ อ่านใหญ่” ซึ่งนับเป็นการจัดใหญ่ที่สุดในรอบ 53 ปี บนพื้นที่กว่า 20,000 ตร.ม. และใหญ่สุดในอาเซียน โดยวันนี้เป็นวันที่ 11 ของการจัดงาน
โดยสำนักพิมพ์มติชน (บูธ J02) ร่วมสร้างสรรค์ของพรีเมียมสุดพิเศษใน ธีม “Read Friendly” ที่ออกแบบโดย “ตุลยา ตุลย์วัฒนจิต” หรือ TUNA Dunn พร้อมด้วยโปรโมชั่นส่วนลดจัดเต็มตลอด 12 วัน ไปจนถึง 8 เมษายนนี้ เวลา 10.00-21.00 น.
บรรยากาศเมื่อเวลา 15.00 น. ผศ.ธนโชติ เกียรติณภัทร อาจารย์ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง เจ้าของผลงาน พระนั่งเกล้าฯ ไม่โปรดการละคร แต่เป็นยุคทองของวรรณคดี เดินทางมาแจกลายเซ็นและพบปะผู้อ่าน
เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามถึงกระแสตอบรับตามที่ นายมณฑล ประภากรเกียรติ ผอ.สำนักพิมพ์มติชน เปิดเผยว่า ‘ขายดีกว่าที่คิด’ จนต้องประหลาดใจ
ผศ.ธนโชติยิ้มรับ ก่อนกล่าวว่า คงมาจากเหตุผลหลายอย่าง เพราะนานๆ ครั้งจึงจะมีหนังสือวิเคราะห์วรรณคดีที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ ที่สำคัญคืออาจเพราะ ‘ชื่อหนังสือ’ ที่ดึงดูด
นอกจากนี้ ยังมีกระแสละครที่เกี่ยวเนื่องกับช่วงเวลาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ บุษบาลุยไฟ, หม่อมเป็ดสวรรค์ มาจนถึง คุณพี่เจ้าขา ดิฉันเป็นห่าน มิใช่หงส์
“เล่มนี้ให้ความรู้วรรณคดีในรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้า ซึ่งอาจมาพอดีกับความสนใจของคนด้วย” ผศ.ธนโชติกล่าว
ผศ.ธนโชติยังระบุถึงละครเรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์ ของไทยพีบีเอสที่จบไปแล้วว่า น่าจะเป็นละครเพียงไม่กี่เรื่องที่ใส่ใจในรายละเอียดไปจนถึง ‘ลายมือ’ ให้เข้ากับยุคสมัย ตนจึงมีโอกาสไปเขียนสมุดไท (สมุดข่อย) ประกอบในเรื่อง
เมื่อถามต่อไปว่า บทไหนต้องอ่าน ท่อนไหนห้ามพลาด?
ผศ.ธนโชติตอบว่า อันที่จริงก็ทุกบท แต่ที่ควรอ่านเป็นอันดับแรกคือคำนำ และบทที่ 1 ซึ่งปูที่มาที่ไป และค่อยๆ โยงไปถึงเรื่องอื่น หนังสือเล่มนี้ไม่ยากเกินไป แม้ว่าไม่ใช่ผู้มีความรู้พื้นฐานด้านวรรณคดีมาก่อน เพราะเน้นการอธิบายเป็นหลัก ไม่ให้มีความซับซ้อนมากเกินไป แต่ค่อยๆ ปูเนื้อหา
ทั้งนี้ บางเรื่อง เช่น ศึกเวียงจันทน์จากวรรณคดี เป็นประเด็นที่สอนกันในห้องเรียนอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีเอกสารที่กล่าวถึงโดยตรง จึงคิดว่าในเมื่อเขียนแล้วก็จะให้ใช้ในห้องเรียนด้วย และนักศึกษาก็สามารถติดตามได้ โดยเล่มนี้ลูกศิษย์ทั้งที่ ม.รามคำแหง และ ม.ศิลปากร ก็ได้อ่าน