รู้ไว้ดีกว่า "กฎแห่งการปัสสาวะ" ระยะเวลาที่ปัสสาวะ อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกปัญหาสุขภาพร้ายแรง ผู้เชี่ยวชาญเฉลย ควรฉี่ประมาณกี่วิ?
แม้การจับเวลาตอนเข้าห้องน้ำอาจฟังดูแปลก ๆ แต่จริง ๆ แล้วอาจเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของคุณมากทีเดียว
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การสังเกตว่าเราปัสสาวะนานแค่ไหน อาจช่วยให้รู้ล่วงหน้าว่ากำลังมีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะหรือไม่
แนวคิดนี้มาจากทีมนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันเทคโนโลยีจอร์เจีย ซึ่งได้ศึกษาเรื่องนี้จากสัตว์หลากหลายชนิด และค้นพบข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่าง
นักวิทยาศาสตร์ได้นั่งดูวิดีโอความเร็วสูงของสัตว์หลากหลายชนิดขณะปัสสาวะ เพื่อทำความเข้าใจว่าทำไมสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่จึงมีรูปแบบการปัสสาวะคล้ายกัน
พวกเขาศึกษาสัตว์หลายชนิด เช่น หนู แพะ วัว และช้าง ก่อนจะสังเกตเห็นรูปแบบการปัสสาวะที่น่าสนใจ
ทีมนักวิจัยจากสหรัฐฯ ซึ่งคว้ารางวัลอิกโนเบล (Ig Nobel Prize) ในปี 2015 จากงานวิจัยนี้ พบว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีน้ำหนักเกิน 3 กิโลกรัม ล้วนสามารถปัสสาวะจนหมดกระเพาะได้ภายในเวลาราว 21 วินาที
ทีมงานตีพิมพ์ผลการศึกษานี้ในวารสาร PNAS เมื่อปี 2014 โดยอธิบายว่า “แรงโน้มถ่วง” คือปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อระยะเวลาการปัสสาวะ
ในรายงานระบุว่า “เหตุใดกระเพาะปัสสาวะของสัตว์ที่หนักเพียง 0.5 กิโลกรัมและ 100 กิโลกรัมจึงใช้เวลาเท่ากันในการขับถ่าย? คำตอบคือ สัตว์ขนาดใหญ่จะมีท่อปัสสาวะยาวกว่า ทำให้แรงโน้มถ่วงช่วยเพิ่มแรงดันและอัตราการไหลของปัสสาวะ”
“ท่อปัสสาวะที่ยาวขึ้นนี้ช่วยให้สัตว์ใหญ่สามารถระบายปัสสาวะปริมาณมากได้ภายในเวลาใกล้เคียงกับสัตว์เล็ก”
“แม้สัตว์แต่ละชนิดจะมีน้ำหนักแตกต่างกันมาก แต่เวลาที่ใช้ในการปัสสาวะกลับคงที่ในสัตว์ที่มีน้ำหนักเกิน 3 กิโลกรัม”
“จุดนี้น่าสนใจมาก เพราะกระเพาะปัสสาวะของช้างจุได้ถึง 18 ลิตร ซึ่งมากกว่าของแมวที่จุได้เพียง 5 มิลลิลิตร ถึงประมาณ 3,600 เท่าเลยทีเดียว”
ยิ่งน่าสนใจเข้าไปใหญ่ เพราะนักวิจัยเชื่อว่าการศึกษานี้อาจช่วยวินิจฉัยปัญหาทางเดินปัสสาวะในสัตว์ได้
และนี่แหละที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ ถ้าคุณกำลังสงสัยว่างานวิจัยเรื่องปัสสาวะของสัตว์จะเชื่อมโยงกับมนุษย์อย่างไร นี่คือคำตอบ
ในฐานะที่เราก็เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเช่นกัน ผลการวิจัยนี้จึงสามารถให้แนวทางคร่าว ๆ ว่า การปัสสาวะของเราควรใช้เวลาประมาณเท่าไร
พยาบาล ดร.จานิส มิลเลอร์ กล่าวกับเว็บไซต์ Well and Good ว่า กฎ 21 วินาทีนี้สามารถใช้เป็นแนวทางในการดูแลสุขภาพของตัวเองได้
แม้ทุกครั้งที่เข้าห้องน้ำอาจไม่ใช้เวลาตรงเป๊ะ 21 วินาที แต่ก็ถือเป็นมาตรฐานคร่าว ๆ ที่ควรพึงระวังไว้
ตามข้อมูลจาก IFL Science หากคุณใช้เวลาปัสสาวะนานหรือสั้นกว่าค่าเฉลี่ยมาก อาจเป็นสัญญาณของสุขภาพกระเพาะปัสสาวะที่ไม่ดี ภาวะบวม การติดเชื้อ หรือปัญหาต่อมลูกหมากในสัตว์ และสิ่งเดียวกันนี้ก็อาจเกิดขึ้นกับมนุษย์เช่นกัน
หากคุณรู้สึกว่าต้องใช้เวลานานกว่าจะปัสสาวะหมด หรือเข้าห้องน้ำบ่อยผิดปกติ นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของปัญหาที่จะตามมาในอนาคต
ถ้าคุณปัสสาวะเกิน 21 วินาทีบ่อย ๆ กระเพาะปัสสาวะอาจขยายตัวจนเสียความยืดหยุ่น และทำงานได้ไม่เต็มที่
ในทางกลับกัน หากกลั้นปัสสาวะบ่อยเกินไป ก็อาจนำไปสู่การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (UTI) หรือปัญหาเกี่ยวกับไต
ปัสสาวะบ่อยเกินไปก็ไม่ดีเช่นกัน เพราะอาจเป็นภาวะ "กระเพาะปัสสาวะไวเกิน" ซึ่งทำให้รู้สึกปวดปัสสาวะแม้จะยังไม่เต็มกระเพาะ
แล้วในหนึ่งวันควรเข้าห้องน้ำกี่ครั้ง? แพทย์เฉพาะทางระบบทางเดินปัสสาวะ Dr. Nicole Eisenbrown แนะนำว่า หากคุณดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม ควรปัสสาวะประมาณ 8 ครั้งต่อวัน
เพราะฉะนั้น...ถ้าวันหนึ่งคุณเห็นนาฬิกาจับเวลาอยู่บนอ่างล้างหน้าในห้องน้ำ ก็อย่าเพิ่งแปลกใจเกินไปนะ!