เมื่อวันที่ 9 เมษายน ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญสมัยที่สอง (ครั้งที่ 2) ประจำปี 2568 โดยมีนายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุม ที่ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง
โดยระหว่างการถกญัตติที่ 6.2 ‘ขอความเห็นชอบเปลี่ยนแปลงวงเงินงบประมาณโครงการก่อสร้างอาคาร สถานีดับเพลิงและกู้ภัยสายไหม’ โดย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลุกขึ้นกล่าวถึงหลักการและเหตุผลว่า สำนักการโยธาฯ ได้รับงบประมาณก่อสร้างดังกล่าว เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ 2566-2568 รวม 416 วัน งบประมาณ 116 ล้านบาทถ้วน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเพิ่มสถานีดับเพลิงและกู้ภัยให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริเวณพื้นที่ที่จะก่อสร้างซึ่งเป็นของ ‘กองทัพอากาศ’ มีสิ่งปลูกสร้างของประชาชนรุกล้ำ เป็นอุปสรรคต่อการก่อสร้างตามรูปแบบเดิม ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเจรจาให้ประชาชนรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ คาดว่าต้องใช้ระยะยะเวลานาน
ดังนั้น เพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการต่อไปได้เพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้กับประชาชนตามวัตถุประสงค์เดิม สำนักการโยธาจึงพิจารณาปรับรูปแบบการก่อสร้าง พร้อมประมาณราคาใหม่
จากเดิมเป็นการก่อสร้างอาคาร คสล. 3 ชั้น สำหรับใช้เป็นอาคารสำนักงาน และอาคาร คสล. 4 ชั้น สำหรับเป็นที่พักอาศัยเพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่เขตสายไหม เป็นก่อสร้างอาคาร 1 หลัง สูง 4 ชั้น เพื่อใช้เป็นอาคารสำนักงาน และที่พักอาศัยในอาคารเดียวกัน ระยะเวลาก่อสร้าง 360 วัน งบประมาณ 86 ล้าน 1 แสนบาทถ้วน สำนักการโยธาฯ จึงขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณ จาก 116 ล้านบาทถ้วน เป็น86 ล้าน 1 แสนบาทถ้วน จึงเสนอสภากทม. พิจารณา
จากนั้น นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ลุกขึ้นกล่าวว่า ในช่วงหลัง เป็นเช่นนี้บ่อย สำนักโยธาฯ คำนวณเบื้องต้นอย่างไร ครั้งที่แล้วก็คลองสามวา ครั้งนี้ก็สายไหม เปลี่ยนรูปแบบโดยอ้างเหตุผลว่ามีผู้บุกรุก ไม่แน่ใจว่าสำนักการโยธา มีมุมมองอย่างไร ในการปรับเปลี่ยนรูปแบบ ลดจำนวนเงิน ถ้าจำไม่ผิด หากตน และนายนภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางกอกน้อย ไม่ทักท้วง 2 โครงการนี้ถูกตัดไปแล้ว โดยสำนักโยธาฯ บอกว่า ไม่เห็นความจำเป็น
“ผมถาม ส.ก.ในพื้นที่ เขาบอกว่าจำเป็น ประชาชนอยากได้ เวลาไฟไหม้ ต้องขอความช่วยเหลือจากสถานีอื่นเข้ามา แต่สำนักโยธาฯ ในตอนนั้นตัดออก ก็ดีแล้วที่ตอนนี้ใส่เข้ามา แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเปลี่ยนรูปแบบ ทำไมไม่ทำให้มันไม่ต้องไปทำบ่อยๆ งบประมาณเรามีแล้วก็ทำให้มันเป็นมาตรฐานดีหรือไม่ ไม่ต้องไปเพิ่มเติมในภายหลัง น่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ตรงนี้คือสิ่งที่ผมเองยังข้องใจ จึงขอถามไปยังผู้บริหาร กทม.ว่ามีผู้บุกรุกกี่ราย พื้นที่กี่ไร่ น่าจะมีการอธิบายรูปแบบให้ชัดเจน” นายสุทธิชัย กล่าว
นายชัชชาติ กล่าวว่า ต้องขอบคุณท่านสมาชิกฯ ที่เคยทักท้วงเรื่องนี้จนมีการบรรจุกลับเข้ามา “ใจผมอยากสร้างให้เต็มใจจะขาด แต่พื้นที่มีประชาชนบุกรุก ตอนแรกที่เราคุย ประสานกับท่าน ส.ก.เราคิดว่าจะย้ายคนออกได้ แต่สุดท้ายแล้วลำบากมาก ไม่ใช่เรื่องง่าย เราไม่สามารถทำอะไรรุนแรงได้” นายชัชชาติ กล่าว
จากนั้น นายชัชชาติ แสดงภาพสไลด์ประกอบ เป็นภาพผังเปรียบเทียบระหว่างรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่ พื้นที่กว่า 2 ไร่ โดยแบบเดิม ประกอบด้วยอาคารสถานีดับเพลิง 3 ชั้น และที่พักอาศัย 4 ชั้น แต่มีผู้บุกรุก 23 ราย จึงมีการปรับแบบเป็นอาคาร 4 ชั้น โดยยังคงมีห้องพัก แต่จำนวนห้องลดลง งบประมาณจึงถูกลง อย่างน้อยมีพื้นที่ในการปฏิบัติการได้
นายสุทธิชัย ลุกขึ้นกล่าวอีกครั้งว่า ตนเข้าใจดี เรื่องการประหยัดงบประมาณ แต่ในมุมมองของตน คือ ‘งบประมาณเรามีพอ’ ทำไมไม่มอบหมายสำนักงานเขตไปเจรจาคนที่บุกรุก แล้วสร้างสถานีฯ ตามรูปแบบเดิมดีกว่าหรือไม่
“สำนักดับเพลิง ต้องมีห้องพัก ห้องที่หลับนอน ต้องมีมาตรฐานให้เหมือนสากล เพราะเราเป็นกรุงเทพมหานคร ต้องมียิม มีที่ออกกำลังกาย รูปร่างต้องสมาร์ทแบบผู้ว่าฯ เดินไปไหนแข็งแรง คนเหล่านี้ต้องเป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษ เป็นไปได้ไหมที่เราจะยังใช้รูปแบบเดิม เห็นไหมว่า บางแห่งเล็ก ที่พักไม่พอ จึงมีปัญหาและอุปสรรคในภายหลัง” นายสุทธิชัยกล่าว