โรงไฟฟ้าเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็ก หรือ Small Modular Reactor (SMR) กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง หลังจากมีข่าวว่า “มิน อ่อง หล่าย” ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ได้มีการลงนามร่วมกับ “วลาดิมีร์ ปูติน” ผู้นำรัสเซีย เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2568 เกี่ยวกับข้อตกลงความร่วมมือก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) โดยมี อเล็กซี ลิคาเชฟ ผู้อำนวยการใหญ่ของ Rosatom บริษัทพลังงานนิวเคลียร์แห่งรัฐของรัสเซีย และ เมียว เต็ง จ่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งพม่า เป็นผู้ลงนาม โดยกำหนดพื้นที่ตั้งในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย กำลังการผลิต 110 เมกะวัตต์
ยังไม่ทันไร วันที่ 28 มีนาคม 2568 เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.7 ริกเตอร์ ความลึก 10 กิโลเมตร มีจุดศูนย์กลางอยู่ทางตอนกลางของเมียนมา ส่งแรงสั่นสะเทือนรุนแรงและสร้างความเสียหายในพื้นที่เมียนมา พาดยาวมาถึงประเทศไทยด้วย
แต่เกิดข้อสงสัยว่า แม้ไทยไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่หากเพื่อนบ้านใกล้ ๆ อย่างเมียนมากำลังจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ทวาย หากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น ไทยจะหลีกเลี่ยงผลกระทบพ้นหรือไม่
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ SMR เป็นเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่มีกำลังการผลิตน้อยกว่า 300 เมกะวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 24 ชั่วโมง มีลักษณะเป็นโมดูลที่ผลิตและประกอบเบ็ดเสร็จจากโรงงานผู้ผลิต สามารถขนย้ายเพื่อนำไปติดตั้งในพื้นที่ที่ต้องการได้อย่างสะดวก มีรัศมีครอบคลุมพื้นที่ภัยพิบัติประมาณ 1 กิโลเมตร จึงสามารถทำแผนฉุกเฉินครอบคลุมภายในบริเวณรอบรั้วโรงไฟฟ้าได้ อายุการใช้งาน 80-90 ปี หากคำนวณปริมาณการใช้เชื้อเพลิงพบว่านิวเคลียร์ขนาด 100 เมกะวัตต์ จะใช้เชื้อเพลิงไม่เกิน 3 ตัน
เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่สำคัญ คือ แร่ยูเรเนียม ที่จะปล่อยพลังงานความร้อนจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิสชั่น (Fission) สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องเปลี่ยนเชื้อเพลิงนานถึง 24 เดือน ซึ่งยูเรเนียมจะผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าถ่านหินถึง 100,000 เท่า และมากกว่าก๊าซธรรมชาติ 50,000 เท่า ที่สำคัญไม่มีการผูกขาดเหมือนน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
ในอดีตประเทศไทยเคยมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มาตั้งแต่ปี 2509 จากข้อเสนอของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งได้มีการศึกษาถึงความเหมาะสมของโครงการ แต่ก็ถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากการพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ต่อมาในปี 2551 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้อนุมัติแผน PDP 2007 กำหนดให้มีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในปี 2563 และ 2564 จำนวนปีละ 1,000 เมะวัตต์ รวมจำนวน 2,000 เมกะวัตต์
และเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 เกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้โรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ “ฟูกูชิมะ ไดอิจิ” (Fukushima Daiichi) ได้รับความเสียหาย ทำให้หลาย ๆ ประเทศหยุดการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และแผน PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ได้ปรับลดจำนวนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลง
แม้ในร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP 2024) ได้บรรจุเรื่องของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) 2 แห่ง กำลังการผลิตแห่งละ 300 เมกะวัตต์ รวม 600 เมกะวัตต์ แต่มันคือ แผนที่จะเกิดขึ้นในช่วงปี 2580 หรืออีก 10 กว่าปีข้างหน้า
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เคยวิเคราะห์ไว้ว่า การเดินหน้าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR หลายภาคส่วนยังคงสนับสนุน เนื่องจากตอบโจทย์เรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน ต้นทุนต่อหน่วยถูกลง และได้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดีกว่าพลังงานฟอสซิลและพลังงานหมุนเวียนชนิดอื่น ๆ ที่มีอยู่ ที่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เต็ม 100% ตลอด 24 ชั่วโมง แต่สิ่งที่กังวลคือ “ความปลอดภัย”
ซึ่งหากเทียบต้นทุนค่าไฟจากพลังงานในแต่ละประเภทแล้วนั้น จะเห็นว่าหากเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR เฉลี่ยอยู่ที่ 1 บาทต่อหน่วย ต้นทุนพลังงานโซลาร์เฉลี่ย 2 บาทต่อหน่วย เปรียบเทียบแล้ว พบว่า SMR ค่อนข้างคุ้มและน่าใช้กว่า ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐต้องทำ คือ 1.ทำความเข้าใจและสร้างความมั่นใจให้กับภาคประชาชนในเรื่องความปลอดภัย
2.ตั้งโรงไฟฟ้าให้อยู่ในรัศมีที่ห่างไกลกับชุมชน เช่น พื้นที่ทหาร กรมธนารักษ์ ในกรณีที่เลือก SMR ในระยะกลาง (Medium Term) จึงไม่จำเป็นที่ต้องเร่งสร้างโรงไฟฟ้าประเภทอื่น เช่น โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่มีต้นทุนแพง ที่ต้องลุ้นกับราคานำเข้าในทุกปี แต่ก็ไม่ควรทิ้งพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่น เช่น โซลาร์ แบตเตอรี่
หลายหน่วยงานเริ่มวางกรอบดำเนินงาน ลงพื้นที่ศึกษาร่วมกับประเทศชั้นนำของโลกบ้างแล้ว โดยเฉพาะ กฟผ. ที่เคยพาคณะสื่อมวลชนศึกษาดูงานและเยี่ยมชมโรงไฟฟ้า Hainan Changjiang NPP เรียกว่า ACP100 หรือ Linglong One กำลังผลิต 125 เมกะวัตต์ ถือเป็น SMR แรกของโลกที่ผ่านมาตรฐานการประเมิน GRSR ของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA)
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า ปัจจุบัน กฟผ.ศึกษาและเตรียมพร้อมกับผู้ผลิตบางราย เพื่อเลือกให้เหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุด แม้ตอนนี้จะไม่สามารถเปิดเผยพื้นที่เหมาะสมได้ อาจจะไม่จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานครบ น้ำที่ใช้อาจจะไม่ต้องเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ แต่ต้องเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง (High Potential) และคนในพื้นที่ต้องยอมรับและได้ประโยชน์ด้วย
เช่นเดียวกับ นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ระบุว่า บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมแผนที่จะนำโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR กลับเข้ามาเป็นหนึ่งในแผนของปี 2568 และขณะนี้ได้ร่วมกับทางเครือสหพัฒน์ ศึกษาเทคโนโลยีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูลาร์
ส่วน ปตท.ได้มอบหมายให้ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ดำเนินการศึกษาโครงการให้ชัดเจน
ขณะเดียวกันช่วงต้นปีที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ลงนามความร่วมมือพร้อมส่งมอบข้อตกลงการควบคุมดูแลการประกอบกิจการสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ที่ใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อการผลิตพลังงาน รวมถึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ร่วมกันเพื่อพิจารณากลั่นกรองการออกใบอนุญาต
ด้านกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงนามบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือด้านการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีนิวเคลียร์ในทางสันติ ร่วมกับองค์การพลังงานปรมาณูแห่งชาติจีน MOU ฉบับนี้มีเป้าหมายหลักในการยกระดับศักยภาพของประเทศไทยด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการศึกษาและเตรียมความพร้อมของไทยเกี่ยวกับเครื่องปฏิกรณ์ SMR ทั้ง 2 ประเทศ จะจัดตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำแผนที่นำทางและแผนดำเนินการร่วมกันในระยะเวลา 5 ปี
นอกจากนี้ ปส.ได้เริ่มร่างพระราชบัญญัติความรับผิดทางแพ่งจากความเสียหายทางนิวเคลียร์ รวมถึงอนุมัติตั้งคณะอนุกรรมการ ขณะเดียวกัน สถาบันอุดมศึกษา เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่มีความเป็นไปได้ในการเปิดหลักสูตรด้านไฟฟ้านิวเคลียร์
ต้องติดตามว่า จากวันนี้จนถึงปี 2580 ไทยจะมีโรงไฟฟ้า SMR เกิดขึ้นได้หรือไม่