16 ปี ภูมิใจไทย กำเนิดจาก “พรรคงูเห่า” สู่ อาณาจักรการเมืองสีน้ำเงิน
พรรคภูมิใจไทย สถาปนาพรรคการเมือง ครบ 16 ปี ก้าวสู่ปีที่ 17 ปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ ด้วยการเปลี่ยนสี และโลโก้พรรค จากเดิมที่มี แผนที่ประเทศไทยสีแดง ล้อมด้วยหัวใจสีน้ำเงิน มาเป็น สีน้ำเงินทั้งหมด ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พรรคภูมิใจไทย เป็นสถาบันทางการเมือง ที่มีอายุครบ 16 ปี
เป็นสถาบันทางการเมืองที่มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง มีประสบการณ์การทำงานทางการเมือง และการบริหารมาแล้วทุกรูปแบบ ในทุกสถานการณ์การเมือง เป็นพรรคการเมืองฝ่ายบริหาร เป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้าน เป็นพรรคการเมืองที่ถูกแช่แข็งในห้วงเวลาการเมืองไม่ปกติไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด พรรคภูมิใจไทย สามารถบริหารจัดการพรรค ดูแลสมาชิกพรรคและดำเนินงานทางการเมือง มาได้โดยไม่มีสะดุด ไม่มีหยุดพัก
16 ปีที่ผ่านมาเราทำงานกันทุกวัน ไม่มีวันหยุด สมาชิกพรรคภูมิใจไทย เข้าไปทุกพื้นที่ที่ประชาชนมีปัญหา ช่วยกันแก้ไขปัญหา ดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชน สม่ำเสมอ ไม่เคยทอดทิ้งประชาชน จะมีตำแหน่งหรือไม่มีตำแหน่ง แต่เราทุกคนมี หน้าที่ เพราะเราอาสามาเป็นผู้แทนราษฎร อาสามาทำงานการเมืองเพื่อพี่น้องประชาชนทุกลมหายใจของเรา คือสำนึกในบุญคุณของประชาชน ตระหนักในความเดือดร้อนของประชาชน และ ทุกวันเวลาของเรา คือ ความตั้งใจจะทำงานเพื่อตอบแทนพี่น้องประชาชน
เพราะเราคิดกันแบบนี้ ทำงานกันแบบนี้ เพราะคนภูมิใจไทย เป็นแบบนี้จึงเป็นเหตุให้พรรคภูมิใจไทย เติบโตขึ้นทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง พี่น้องประชาชน ไว้ใจ เชื่อใจเรามากขึ้น จำนวน สส.ที่เพิ่มขึ้น คือคำตอบว่า การทำงานของพรรคภูมิใจไทย เป็นที่ชื่นชอบของประชาชนมากขึ้นหรือไม่ เชื่อว่าเลือกตั้งครั้งต่อไป ไม่ว่าจะมีขึ้นเมื่อไร พรรคภูมิใจไทยจะเติบโตมากขึ้นกว่าปัจจุบัน จะได้รับโอกาสและความไว้วางใจจากประชาชนมากขึ้น อีกเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา
แต่สิ่งหนึ่งที่พรรคภูมิใจไทย ไม่เคยเปลี่ยนแปลงและยังคงยึดมั่นเป็นอุดมการณ์สูงสุด เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจคนภูมิใจไทย ไว้ได้ก็คือความจงรักภักดีต่อสถาบันสำคัญของชาติ ซึ่งมีความมั่นคง ไม่มีเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ และความจงรักภักดีต่อสถาบันสำคัญของชาติ หล่อหลอมพรรคภูมิใจไทย และสมาชิกพรรคภูมิใจไทย มาอย่างยาวนาน
จนกระทั่งถูกเรียกว่า เป็นพรรคสีน้ำเงิน ซึ่งเราถือว่าเป็นการให้เกียรติต่อพรรคภูมิใจไทย และเป็นการแสดงให้เห็นว่าพี่น้องประชาชน สื่อมวลชน ยอมรับและสัมผัสได้ ถึงอุดมการณ์ของพรรคภูมิใจไทย และจิตวิญญาณของสมาชิกพรรคภูมิใจไทย ตลอดจนองค์กรเครือข่ายที่ร่วมทำกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคภูมิใจไทย อาทิ องค์การบริหารปกครองส่วนท้องถิ่น ต่างๆ ทั่วประเทศ
พร้อมเผยว่า สีน้ำเงิน หมายถึง ความสงบ ความสันติ และ ความสามัคคี
สีน้ำเงิน หมายถึง ความเข้มแข็ง ความมั่นคง ความหนักแน่น และความเป็นปึกแผ่น
สีน้ำเงิน หมายถึง ความมีสติ ความมีเหตุผล ความสุขุม นุ่มลึก ไร้ ริษยา ความเยือกเย็น และ ความอบอุ่น
สีน้ำเงิน คือ สีบนธงชาติไทย และเป็นสัญลักษณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์
ความหมายของสีน้ำเงิน ถูกต้องตรงกับบุคลิกลักษณะ และอุดมการณ์ของพรรคภูมิใจไทย ทุกประการ
ดังนั้น วันนี้ พรรคภูมิใจไทย โดยที่ประชุมใหญ่ของพรรค จึงมีมติให้เปลี่ยนสีตราสัญลักษณ์ของพรรคภูมิใจไทย เป็น สีน้ำเงิน เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อเรียก หรือ ฉายาที่พี่น้องประชาชน สื่อมวลชน เรียกเรา พรรคสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจ ของสมาชิกพรรคภูมิใจไทย ทุกคน
เส้นทางภูมิใจไทย จากพรรคงูเห่า
หากย้อนเส้นทางพรรคภูมิใจไทย 16 ปีที่ผ่านมาเป็นมาแล้วทุกสถานะ เริ่มต้นจากฉายา ‘พรรคงูเห่า’ เนื่องจาก กลุ่มเพื่อนเนวินปฏิบัติการแปรพักต์ หลังจากพรรคพลังประชาชนถูกศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินยุบพรรค – สิ้นสุดอำนาจรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ มาสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐบาล ชู อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ
สาเหตุที่กลุ่มเพื่อนเนวิน ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองใหญ่ที่สุด มีอำนาจนำในพรรคพลังประชาชน แปรพักต์จากพรรคเครือข่ายทักษิณ ต้องย้อนไปถึงเกมแตกหัก หลัง “สมัคร สุนทรเวช” ต้องหล่นจากเก้าอี้นายกฯ จาดพิษคดีชิมไป บ่นไป
ณ วันนั้นกลุ่มเพื่อนเนวินของ เนวิน ชิดชอบ สนับสนุน สมัคร เป็นนายกฯ ต่อ ทว่าในวันโหวตเลือกนายกฯ เครือข่ายทักษิณ เดินเกมลับหลังกลุ่มเพื่อนเนวิน ประสานพรรค่วมรัฐบาลให้โดดประชุมสภา จนไม่สามารถเปิดสภาเลือกนายกฯ ได้ แล้วไม่กี่วันต่อมา พรรคพลังประชาชนก็เสนอชื่อ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกฯ แทน
จากวันนั้นเครือข่ายชินวัตร ก็กลับมาผงาดในพรรคเพื่อไทย กลุ่มเพื่อนเนวินถูกบีบพ้นอำนาจนำ สุดท้ายกลายเป็นการสร้างตำนานงูเห่า เมื่อกลุ่มเพื่อนเนวิน ย้ายขั้วไป หนุน อภิสิทธิ์ เป็นนายกฯ แล้วเขี่ยพรรคเพื่อไทย ที่ถือกำเนิดหลังจากพรรคพลังประชาชนถูกยุบไปเป็นฝ่านค้าน
ย้อนไป 16 ปีที่แล้ว วันที่ 7 เมษายน 2552 หนึ่งวันหลังจากพรรคภูมิใจไทย ทำพิธีเปิดที่ทำการพรรคย่านพหลโยธิน เนวิน พร้อมด้วยพร้อมด้วยแกนนำคนสำคัญของพรรค อาทิ นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มาดไทย นายศุภชัย โพธิ์สุ นายศุภชัย ใจสมุทร นายอนุทิน ชาญวีกูล เปิดการแถลงข่าว
เนวิน เปิดใจวันนั้น ตอนหนึ่งถึงบุคคลที่ชื่อ ทักษิณ ว่า….“ประเด็นเรื่องส่วนตัวระหว่างผมกับเพื่อนๆ และ พ.ต.ท.ทักษิณ พวกผมถูกกล่าวหาว่าหักหลัง ทรยศ และต้องการผลตอบแทน ผมต้องเรียนอย่างนี้ว่าพวกผมและเพื่อนที่นั่งตรงนี้ ผมได้รับเลือกตั้ง สส.บุรีรัมย์ตั้งแต่ปี 2531
ขณะที่พรรคไทยรักไทยยังไม่ได้ตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณยังไม่ได้เล่นการเมือง นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯ ซึ่งเป็นพ่อของพม เป็นส.ส.ตั้งแต่ปี 2512 รุ่นเดียวกับพ่อ พ.ต.ท.ทักษิณ”
“คนอย่างผมและคุณพ่อผมไม่จำเป็นต้องพึ่งพากระแส พ.ต.ท.ทักษิณและพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้ง และก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะประกาศลงเลือกตั้ง การเข้าทำงานร่วมกับพรรคไทยรักไทยเป็นเพราะท่านนายกฯ ทักษิณเชิญพวกผมมาร่วมทำงานการเมืองกัน เพื่อเป็นการนำจุดแข็งแต่ละฝ่ายเติมให้แก่กัน”
“ผมเชื่อว่าคงจำได้ว่าการเลือกตั้งปี 2544 ครั้งแรกของพรรคไทยรักไทย พื้นที่อีสานใต้ ที่พรรคไทยรักไทยยึดครองไม่ได้ คือพื้นที่ที่ผมและเพื่อนๆ ได้รับเลือกตั้งในสังกัดพรรคชาติไทย เพราะฉะนั้นการร่วมทำงานการเมืองร่วมกันของผมกับพ.ต.ท.ทักษิณ จึงเป็นการเติมเต็มซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่ม จำนวนส.ส. หรือการเพิ่มจำนวนปาร์ตี้ลิสต์ ให้แก่พรรคไทยรักไทย และไม่ใช่การที่พรรคไทยรักไทยเติมคะแนนให้กับผมและเพื่อนในสนามเลือกตั้ง จ.บุรีรัมย์”
“และก่อนที่จะมาอยู่พรรคไทยรักไทย ผมเคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการมา 3 กระทรวง และเมื่อเข้าร่วมทางการเมืองกับท่านทักษิณ ผมก็เป็นแค่รมช.เกษตรฯ เหมือนเดิม ไม่มีอะไรดีขึ้น เพราฉะนั้นถ้าจะบอกว่าหลายคนบอกว่าผมได้อะไรจากท่านายกฯ ทักษิณ มากมายแล้วไม่รู้จักพอ ผมเรียนย้ำว่าสิ่งที่ผมได้จากท่านนายกฯ ทักษิณ หลักๆ มี 3 เรื่อง”
“เรื่องที่หนึ่ง คือได้รับแนวคิดแนวการทำงานใหม่ๆที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการทำงาน และแนวทางทำงานที่รับใช้พี่น้องประชาชน ซึ่งในเรื่องนี้ผมต้องกราบขอบพระคุณอย่างสูง ผมยังระลึกเสมอว่าท่านเป็นต้นแบบทำงานเพื่อประชาชนในการแก้ไขปัญหาที่ผมยอมรับที่สุด เป็นคุณูปการที่ผมได้รับจากท่านนายกฯ ทักษิณ ที่เคยทำงานรว่มกันมา และผมไม่เคยปฏิเสธสิ่งที่ผมได้รับมาในเรื่องนี้”
“นอกจากนั้นเรื่องที่สองที่ได้รับจาก พ.ต.ทำ.ทักษิณ คือ เมื่อมาอยู่ร่วมกันผมยังเป็นรมช.เกษตรฯเหมือนเดิมแต่ได้รับภารกิจมากมาย ทั้งภารกิจที่ไม่มีคนยอมทำ ภารกิจที่ไม่มีใครกล้าทำ จนในที่สุดเมื่อมีการยึดอำนาจ 19 กันยา ผมก็ถูกจับไปขัง 10 วัน 11 คืน เรื่องที่สองที่ผมได้รับ จากท่านนายกฯ ทักษิณ”
“เรื่องที่สามที่ผมได้รับ คือ ผมตกเป็นจำเลยคดีความ 2 คดี คดีแรก หวยบนดิน และคดีกล้ายาง แม้ผมตกเป็นจำเลย วันนี้ผมก็ยังอยู่ในประเทศไทยเพื่อต่อสู้คดีความกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าผลการพิจารณาของกระบวนกยุติธรรม ตุลาการของประเทศไทยจะเป็นอย่างไรก็ตามพผมพร้อมน้อมรับ และผมก็ได้เห็นว่าพี่น้องครม.ที่ร่วมรัฐบาลกับไทยรักไทยทุกคนที่ตกเป็นจำเลยร่วมกันก็ยังอยู่ร่วมต่อสู้คดีใจตประเทศไทย มีเพียงท่านนายกฯ ทักษิณคนเดียวที่หนีไป ไม่ต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม นอกนั้นทุกคนพร้อมพิสูจน์ความบริสุทธิ์ตามกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย”
“ผมถูกกล่าวหา หักหลัง ทรยศ เนรคุณ ผมเรียนว่ากรณีผมกับนายกฯทักษิณ ไม่ใช่การหักหลัง แต่เป็นเรื่องของคนที่คิดต่างกันในทางการเมือง มีความเห็นต่างกันในทางการเมือง เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งทางการเมืองที่เราคิดต่างกัน เราก็จะตัดสินใจเดินในทางที่เราเชื่อ และเห็นว่าดีต่อส่วนร่วมและประเทศชาติ กรณีผมอย่าหยิบมาบอกว่าเป็นกรณีหักหลัง ทรยศ เนรคุณ หากจะพูดถึงกรณีหักหลัง คือกรณีของท่านสมัคร สุนทรเวช ที่ไม่โหวตให้กลับไปเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2551 ผมถือว่ากรณีนี้เป็นกรณีของการหักหลังทางการเมือง“
“ผมเชื่อว่าพี่น้องประชาชนและสื่อมวลชนทราบดีว่า ก่อนที่ท่านสมัครจะกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ใครเป็นคนไปขอร้องให้ท่านสมัครมารับตำแหน่ง ชีวิตท่านสมัครหลังพ้นตำแหน่งผู้ว่ากทม.แล้วได้ประกาศวางมือทางการเมือง แต่ท่านนายกฯทักษิณ และอีกหลายๆคนในพรรคพลังประชาชน ยกขบวนไปขอร้องให้มาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชน”
อย่างไรก็ตาม พรรคภูมิใจไทยที่มีสโลแกนในวันนั้นคือ ประชานิยม สังคมเป็นสุข หลังจากเป็นรัฐบาล ล่มหัวจมท้าย กับรัฐบาลอภิสิทธิ์
แต่เมื่อถึงคราวเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 พรรคภูมิใจไทย ตั้งเป้าว่าจะได้ สส.70 ที่นั่ง แต่กลายเป็นว่า ได้ สส.เพียง 34 ที่นั่ง ต่างจากพรรคเพื่อไทย ที่ได้ 256 ที่นั่ง สามารถจัดตั้งรัฐบาล 300 เสียง
พร้อมเขี่ยคู่แค้นภูมิใจไทยไปเป็นฝ่ายค้าน ร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ และในเวลานั้นพรรคภูมิใจไทยได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างพรรคครั้งสำคัญ คือ เปลี่ยนหัวหน้าพรรค จาก ชวรัตน์ ชาญวีรกูล มาเป็น อนุทิน ชาญวีรกูล จนถึงปัจจุบัน
กระนั้น ด้วยยุทธศาสตร์พรรคภูมิใจไทย ที่เดินเกมการเมืองด้วยการผนึกกำลังกับการเมืองท้องถิ่น – บ้านใหญ่การเมือง ทำให้รากฐานทางการเมืองของพรรคค่อยๆ แข็งแรงขึ้น ในช่วงที่การเมืองเว้นว่างจากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557
เมื่อถึงการเลือกตั้ง 2562 พรรคภูมิใจไทย เข้าป้ายมาเป็นอันดับ 3 มีเพียงแค่ 51 เสียงในสภา แต่หลังจากนั้นพรรคภูมิใจไทย ได้ชื่อว่าเป็นพรรคพลังดูด เพราะตอนจบสมัย พรรคภูมิใจไทยโชว์ศักยภาพ ดูด สส.เข้าสังกัด จนทำให้มี สส.ในมือ เกิน 100 คน เพื่อรับศึกการเลือกตั้ง 2566 บนสมมติฐานว่า ในการเลือกตั้งในจำนวน สส.100 คน จะได้รับเลือกตั้งกลับเข้าสภาได้ 70 คน
เป้าการเมืองจับตัว – วางตาย ของพรรคภูมิใจไทย ทำให้ ได้ สส. ตามเป้า 70 ที่นั่ง เป็นพรรคการเมืองที่มีอำนาจต่อรองสูงยิ่ง
เป็นพรรคการเมืองที่มีเสียงมากเป็นอันดับ 3 บนกระดานการเมือง รองจากพรรคประชาชน พรรคเพื่อไทย และเป็นพรรคอันดับ 2 ในพรรคร่วมรัฐบาล
แถมนาทีนี้ ยังขยายขอบอำนาจสีน้ำเงินไปยัง สว.
นี่คือเส้นทางอาณาจักรการเมือวสีน้ำเงิน พรรคภูมิใจไทย 16 ปี จากจุดเริ่มต้น พรรคงูเห่า