พรรคการเมืองในเครือข่ายของ “ทักษิณ ชินวัตร” ตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย ล้วนพ่ายแพ้ต่อม็อบข้างถนนมาแล้วทั้งสิ้น
พรรคไทยรักไทย ถูกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) จุดประเด็นการเมือง ล้อมทำเนียบรัฐบาล จนเกิดเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549
พรรคพลังประชาชน ถูกกลุ่ม พธม.ภาค 2 ชุมนุม 193 วัน ยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน ก่อนจบลงด้วยการที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค
พรรคเพื่อไทย ถูกกลุ่ม กปปส.ชุมนุมขับไล่ หลังเพื่อไทยเดินหน้าเกมนิรโทษกรรมสุดซอย
วันนี้ พรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาล มีนายกรัฐมนตรี ชื่อ “แพทองธาร ชินวัตร” ปรากฏม็อบ-มวลชน สลับหน้าประท้วงหน้าฐานบัญชาการใหญ่ “ทำเนียบ” ทั้งไล่รัฐบาล ทั้งจี้ให้รัฐบาลแก้ไขความเดือดร้อน
“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “สมคิด เชื้อคง” รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้ที่ทำหน้าที่ปัดม็อบไม่ให้ถึงตัวนายกฯ จากที่เขาเคยเป็นหนึ่งในผู้จัดม็อบเสื้อแดง จัดรายการในช่องทีวีเสื้อแดง
วันนี้เขาพลิกบทบาทที่เจอทั้ง “ศัตรูเก่า” ไทยรักไทย อย่างแกนนำกลุ่ม พธม. และมิตรสหายแกนนำเสื้อแดง ที่วันนี้กลายเป็นผู้ไล่รัฐบาล ประเมินชะตากรรมรัฐบาลในจังหวะที่สารพัดม็อบเริ่มกดดันรัฐบาล โดยเฉพาะหลังศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ
“สมคิด” ตอบคำถามในฐานะเป็น “หนังหน้าไฟ” ที่รับม็อบหน้าทำเนียบ แยกแยะระหว่างม็อบจัดตั้งไล่รัฐบาล กับม็อบประชาชนเดือดร้อนอย่างไรว่า ถ้าม็อบเดือดร้อนจริง อธิบายแล้ว ให้ความช่วยเหลือ บอกว่าเดือนนั้นเดือนนี้จะจบ เดี๋ยวดูแลให้ เดือดร้อนมาจริง ๆ ไม่ยากมาก อธิบายได้ แต่เดือดร้อนกลาง ๆ มีฝ่ายการเมืองอยู่เบื้องหลัง ชาวบ้านเหมือนจะยอม แต่เวลาเจรจาไปไม่ยอม เพราะมีกลุ่มการเมืองบางกลุ่มต้องการบางเรื่อง
เวลาดูคนที่มาม็อบ เรามีวิธีการดูเยอะ ม็อบตรงไหนจะอยู่นานไม่นาน เรารู้ตั้งแต่ต้น ตั้งแต่รถเคลื่อนออกมาจนถึงทำเนียบรัฐบาล ผมก็ได้รายละเอียดเกือบครบว่า คุณจะมายังไง ไปยังไง มีกี่คน ผ่านหน่วยงานข่าว สันติบาล ตำรวจ ม็อบแรงแค่ไหน เขาจะพูดเรื่องอะไร จะนำ 3-4 เรื่องนี้มาประมวล บางคนบอกว่า ม็อบมาแรงมาก ไปรับไหม…ไปเหมือนเดิม เพราะคุยกันได้ คนไทยด้วยกัน
ผ่านมาเกือบ 2 ปี ปัญหาก็น้อยมาก ม็อบแม้จะบอกว่าอยู่ยาว… ผมก็บอกว่าอยู่ยาวได้ แต่อย่าสร้างความเดือดร้อน แต่ถ้าผิดกฎหมายต้องรับผิดชอบกันเอง
เพราะม็อบที่มีเป้าหมาย เมื่อไหร่ที่ถึงเป้าหมายก็หยุดเอง เราก็อ่านออกว่าพอถึงตรงนี้เขาจะถอย บางม็อบหาเวทีลง มีม็อบบางกลุ่มไม่เอ่ยชื่อ ไปพูดอะไรผิดพลาด เรียกคนมา ความผิดพลาดในคำพูดบางครั้งก็ดันสถานการณ์มาเรื่อย แต่สุดท้ายไปไม่ได้ก็หาเวทีลง ผมก็เห็นว่ามีหลายเรื่องที่ต้องถ้อยทีถ้อยอาศัย
คนที่รับเรื่องอย่างผมต้องอดทน สำคัญที่สุดต้องอดทนฟัง เพราะถ้าเขาได้ระบาย เขาก็ให้เกียรติเรา ผมให้เกียรติเขาก่อน ไม่เคยยืนกอดอก ไม่เคยยืนเท้าสะเอว ผมยืนจับมือโค้งตลอด เราพร้อมรับฟังเขา เพราะเราเป็นนักการเมือง เราเป็นผู้แทนราษฎร พร้อมรับฟังอยู่แล้ว
แต่ถ้าเป็นม็อบการเมือง มี “ธง” ล้มรัฐบาล จะโค้งจับมือเขาอย่างไร “สมคิด” กล่าวว่า อยู่ที่เหตุการณ์ ม็อบอย่าไปพูด 1 2 3 อย่างนั้นแก้ไม่ได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละเรื่องที่มา คุยเป็นเรื่อง ๆ คุยล่วงหน้าก็ไม่ได้ เหมือนตั้งโจทย์ได้แต่แก้ปัญหาไม่ได้ ปัญหาม็อบวันต่อวัน เรื่องต่อเรื่อง คำพูดต่อคำพูด ถึงจะไปกันได้
ส่วนม็อบที่มีเป้าหมายที่หวังผลทางการเมือง ด่ารัฐบาล ล้มรัฐบาล อย่างเหตุเกิดเรื่องปลาหมอคางดำ เพื่อทำคอนเทนต์ด่ารัฐบาล เราพอรู้ เมื่อรู้แล้วถ้าทำอย่างนี้ เราก็ให้โฆษกรัฐบาลอธิบาย เพราะแก้ไขปัญหาจริง ๆ พูดกันรู้เรื่อง ผมพูดกับมวลชนตลอด ไม่มีใครได้ทั้งหมด หรือถูกเจ้าหน้าที่กลั่นแกล้ง เราสามารถบริหารได้
กรณีปลาหมอคางดำซึ่งผมไม่เห็นด้วย เพราะจะเปิดสภาด่ารัฐบาลอภิปรายไม่ไว้วางใจอยู่แล้ว มาเล่นในสภาสิ จะมาด่าข้างถนนทำไม เพราะเหตุการณ์ปลาหมอคางดำไม่ควรนำมาต่อล้อต่อเถียงก่อนอภิปรายไม่ไว้วางใจเลย ถามว่าทำไมต้องทำ… เพราะเขาต้องการทำคอนเทนต์ เราก็ดูออก
ถามว่าปลาหมอคางดำเดือดร้อนจริงไหม…จริง แต่อย่าอาศัยความเดือดร้อนจริงเหล่านั้นมาสร้างคอนเทนต์ให้พรรคตัวเอง รัฐบาลแก้อยู่แล้ว ทางที่ดีควรเสนอทางแก้ ถ้าต้องการช่วยเหลือประชาชนจริงต้องบอกว่า รัฐบาลไม่ถูกตรงไหน รัฐบาลต้องแก้ตรงไหน ถ้าพูดอย่างนี้ไม่มีปัญหา เขาเรียกร้อง 4 ข้อ รัฐบาลก็ทำแล้ว แต่คุณก็มาด่านายกฯ ว่าไม่ใส่ใจความเดือดร้อน ถ้าฝ่ายค้านรักประชาชนจริงต้องเสนอข้อเสนอแนะ
ถาม “สมคิด” ว่า ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลพยายามพุ่งเป้านายกฯ ถ้าปัดไม่ออก จะเป็นอย่างไร เขาตอบว่า ไม่ใช่ปัดออก…ต้องชี้แจง เพราะนายกฯไม่สามารถชี้แจงได้ทุกเรื่อง เราต้องแบ่ง ถ้าเป็นเรื่องของพรรคให้โฆษกพรรคพูด ถ้าเป็นเรื่องของรัฐบาลต้องให้โฆษกรัฐบาลหรือผมพูด ถ้าอธิบายแล้ว ปัดไม่ไหว ปัดไม่ออก นายกฯต้องชี้แจง เหมือนเราบอกไปชี้แจงในสภาดีกว่าไหม ถ้าว่าในสภา ว่านายกฯ ไม่มีปัญหา นายกฯชี้แจงได้
ทว่าตั้งแต่ไทยรักไทย พลังประชาชน จนถึงพรรคเพื่อไทย มีม็อบนำไปสู่ประท้วงใหญ่ และรัฐบาลล้ม “สมคิด” ไม่คิดว่าประวัติศาสตร์ซ้ำรอย
“เหตุการณ์ที่ผ่านมามีหลายปัจจัย ปัจจัยความเกลียดชัง ปัจจัยสีเสื้อ สารพัดอย่างมารุม แต่มาเป็นรัฐบาลเที่ยวนี้ปัจจัยเหล่านั้นลดลง กีฬาสีลดลง มีแต่นิด ๆ หน่อย ๆ เท่านั้น ไม่มีกิจกรรมเรื่องเกลียดชังกันมาก”
อาจจะส่วนหนึ่งรวมกันหมดแล้ว แต่ก็ไม่ได้แปลว่าคนที่ไม่ชอบรัฐบาลจะไม่คิดล้มรัฐบาล สิ่งหนึ่งที่คนไม่อยากให้รัฐบาลไปก็คือ ผลงานรัฐบาล เรื่องนี้เป็นเรื่องของรัฐบาลทั้งหมด ไม่เฉพาะพรรคเพื่อไทย ทั้งหมดจะต้องช่วยกันทำให้ประชาชนได้รับการตอบสนองที่ดี ดังนั้น ปัญหาที่จะทำให้รัฐบาลล้มก็ลดลงไปโดยปริยาย อันนี้อยู่ที่รัฐบาล
ถ้ารัฐบาลทำอะไรออกมา อันนั้นก็ไม่ดี อันนี้ก็ไม่ดี มันก็เป็นธรรมชาติของการเมืองอยู่แล้ว ดังนั้น ผมเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยชุดนี้ มาถึงวันนี้จะ 2 ปี ยังไม่มีแววตรงไหนว่าจะถูกไล่ไปจากการเป็นรัฐบาล แม้ในอนาคตไม่รู้อะไรจะเกิด แต่ที่ผ่านมายังราบรื่น เรายังมั่นใจว่านโยบายต่าง ๆ ที่ทำให้ประชาชนยังตอบสนองได้อยู่…เชื้อไฟวันนี้ยังไม่มี
มีเรื่องหนึ่งที่พยายามจะพูดกัน คือ Entertainment Complex รัฐบาลต้องชี้แจงให้ชัดเจน ส่วนนอกสภาค่อยว่ากันอีกที แต่ต้องชี้แจงในสภา เรื่องนี้จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจแน่ ๆ 4-5 คำถาม ดังนั้นตอบก่อนว่าจะไปยังไง
ในยุคพรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย ถูกล้มส่วนหนึ่งเพราะเกี่ยวโยงกับ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ครั้งนี้ชื่อของ “ทักษิณ” ยังเป็นชื่ออันตรายอยู่หรือไม่ ?
“สมคิด” กล่าวว่า ประเด็นท่านทักษิณไม่น่าจะมีอะไร เพราะได้รับพระราชทานอภัยโทษ ส่วนบริหารโทษนั้นอีกเรื่องหนึ่ง จะแตะยากอยู่ เพราะคนที่เคยแตะก็มาเป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันในตอนนี้ ก็เข้าใจบริบทแล้วว่าทำไมเป็นอย่างนี้ เมื่อก่อนจุดติดเพราะกีฬาสี เกลียดชังซึ่งกันและกัน วันนี้ นายกฯไม่ใส่เสื้อกีฬาสี ทุกท่านในพรรคเพื่อไทยก็พยายามประคอง ไม่เล่นกีฬาสี ช่วยกันทำงาน
ใครจะคิดว่า ผมกับรัฐมนตรีขิง (เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม อดีตแกนนำ กปปส.) คุยกันสนุกสนาน เพราะเราไม่ติดใจ การเมืองต่อสู้กันไปตามวิถีการเมือง เมื่อมาร่วมรัฐบาลแล้ว ต่อให้คุณเคยขย้ำผม ผมเคยขย้ำคุณ สุดท้ายมาร่วมกันทำงานแล้วมันจะหาย ผมเชื่อว่าไม่มีอะไรมาก
เพราะคนที่เคยอยู่คนละฝั่งกันก็มาอยู่ฝั่งเดียวกัน หรือคนที่เคยอยู่ฝั่งเดียวกันไปอยู่คนละฝั่งกัน เหมือนที่ผมไปรับ คปท. ที่มีจตุพร พรหมพันธุ์ เป็นแกนนำ ก็เคยอยู่ด้วยกัน กินข้าวด้วยกัน อะไรก็ไม่แน่นอน แต่สิ่งที่แน่นอนคือรัฐบาลต้องทำผลงานที่ดีให้ประชาชน
แล้วถ้า “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกฯถ้าจะกลับประเทศ จะกลายเป็นชนวนการเมืองหรือไม่ รองเลขาธิการนายกฯมองว่า อยู่ที่บรรยากาศ ประเด็นคุณยิ่งลักษณ์ ได้แต่ทราบจากข่าวว่ามีแนวโน้มจะขอกลับมา แต่บรรยากาศการเมืองหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ หลังเมษายน อาจเป็นไปได้ ส่วนการรับโทษก็อีกเรื่องหนึ่ง…ไม่เกี่ยว แต่ว่ากลับได้ คดีต่าง ๆ ก็จบสิ้น ผิดหรือถูกก็เห็นกันแล้ว ถ้าจะกลับก็ต้องมารับโทษ หรือขอพระราชทานอภัยโทษก็อีกเรื่องหนึ่ง
“ผมว่ากลับได้แล้วแหละ…พอแล้ว จะอะไรนักหนา อีกทั้งเป็นพื้นฐานการยึดอำนาจมาด้วย ทุกอย่างเริ่มคลี่คลาย ส่วนมาแล้วกระแสจะจุดติดหรือไม่… ยังคิดไม่ออกเหมือนกัน แล้วแต่สถานการณ์”
คนรับมือม็อบอย่างเขาเตรียมตัวหรือยัง “สมคิด” หัวเราะก่อนตอบว่า ผมเป็นฝ่ายเจรจาแล้วกัน อยู่ที่การพูดคุย แต่ไม่ใช่ผมคนเดียว ผมเป็นแค่เฟืองเล็ก ๆ เฟืองหนึ่ง แต่ทุกกลุ่มทุกพรรคต้องช่วยกัน ผมแค่อยู่หน้าทำเนียบ รอเอกสารต่าง ๆ ส่งให้กระทรวงรับทราบ แต่ถ้าใหญ่ ๆ แต่ละพรรคต้องช่วยกัน
“สมคิด” มองว่า คนที่จ้องล้มรัฐบาล ทำดีอย่างไรเขาก็จ้องล้ม ผมคิดว่ามี แต่ล้มแล้วจะยังไง ต้องมีคำตอบให้สังคมด้วย อยากล้มรัฐบาลแพทองธารแล้วจะยังไงต่อ เราไม่เลือกตั้งใช่ไหม จะยึดอำนาจใช่ไหม คนยึดอำนาจคิดได้ แต่ล้มแล้วจะเอาพรรคในสภาขึ้นมาเป็นนายกฯเหรอ มันทำได้ไหม เพราะตัวเลขเป็นวิทยาศาสตร์ บวก ลบ ยังไงก็อยู่แค่นี้
ฝากเตือนคนที่คิดแบบนี้ คิดให้ดีนะ เรามีบทเรียน 9 ปีแล้วนะ ปัญหาวันนี้กว่าจะแก้ปัญหาในสังคมมันไม่ใช่ง่าย ๆ เราจะย้อนกลับไปใหม่ไหม… ผมว่าสังคมไทยไปไกลแล้ว ไม่เหมือนปี 2557 แล้ว บริบทสังคมไม่เหมือนกัน จะคิดเหมือนเดิมไม่ได้
สมคิดปิดท้ายว่า สำหรับรัฐบาลน่ากลัวทุกกลุ่ม (ม็อบ) กลัวแก้ปัญหาให้ไม่ได้ แต่ละกลุ่มมีความสำคัญต่องานนั้น ๆ ของเขา อย่างกรณี Entertainment Complex เขาก็บอกเหตุผลของเขา เราก็อธิบายเหตุผลของเรา ใครจะเชื่อ ไม่เชื่อ ห้ามไม่ได้ แต่อยากให้มาด้วยเหตุผล