ภาคเศรษฐกิจการค้าการลงทุนไทย จับตารัฐบาลของนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร จะดำเนินการอย่างไรในการรับมือมาตรการทางภาษีของสหรัฐอเมริกา
หลังประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าทั่วโลกกว่า 50 ประเทศ โดยไทยถูกขึ้นภาษีสูงถึง 36% คาดว่าจะกระทบต่อจีดีพี และสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจนับแสนๆ ล้านบาท
คณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา ที่นายกฯ แพทองธาร ตั้งขึ้นเมื่อเดือนม.ค.68 ก่อนทรัมป์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี คาดว่า สหรัฐจะเปิดให้ประเทศที่ถูกประกาศขึ้นภาษี เริ่มเจรจาได้ เพราะการประกาศขึ้นภาษีกับประเทศที่สหรัฐขาดดุลการค้าในอัตราสูง
จุดประสงค์ของทรัมป์ ก็เพื่อให้ประเทศเหล่านั้นเข้ามาเจรจาต่อรอง
รัฐบาลไทยวางแนวทางไว้ใน 2 ระดับ คือ ระดับทีมยุทธศาสตร์วางแผนสนับสนุนและวางทิศทางเจรจา มีนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐ กับนายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานคณะที่ปรึกษานายกฯ อยู่ในทีมนี้
ระดับคณะเจรจา มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรมว.คลัง เป็นหัวหน้าคณะเจรจา เบื้องต้นคาดว่าคณะนายพิชัยจะเดินทางไปเจรจาหารือกับภาครัฐและเอกชนของสหรัฐ ในวันที่ 17 เม.ย.นี้
นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษานโยบายของนายกฯ ในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐ ระบุ ทีมนโยบายการค้าสหรัฐ ได้คิดยุทธศาสตร์และวิธีทำงานที่จะเจรจาการค้ากับสหรัฐ
โดยศึกษาท่าทีประเทศต่างๆ ที่รีบร้อนไปเสนอให้กับสหรัฐ ในขณะนี้ คือเหมือนการไปยกของฟรีให้กับสหรัฐ โดยที่ไม่ได้อะไร
ไทยเราจะไม่รีบร้อนในการลดภาษี แต่จะเก็บกระสุนไว้ต่อรอง ตอนนี้เราต้องคิดวางแผนว่า โลกหลังจากที่ทรัมป์ปรับอัตราภาษีและเปลี่ยนท่าทีการค้าของสหรัฐ เราจะทำอย่างไร มียุทธศาสตร์อย่างไรในการรับมือ
คนใจร้อนให้ไปเจรจากับทรัมป์ เพื่อลดภาษี แต่ประธานาธิบดีทรัมป์ ไม่ได้ต้องการลดภาษี ทรัมป์บอกกับสื่อว่าประเทศที่จะลดภาษีให้นั้น ต้องมีข้อเสนอที่มิราเคิลให้กับเขา ซึ่งไทยก็ไม่มีอะไรเป็นข้อเสนอมหัศจรรย์ให้สหรัฐ
เราเดินสายกลางเพื่อหาทางออกว่า เราจะอยู่กับสหรัฐ ในยุคทรัมป์ใหม่อย่างไร
เพราะโลกจะไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิม
มันฯ มือเสือ