ปลัดเก่ง ชี้ปมตึกสตง.ถล่ม ขออย่าด่วนสรุป แนะรอผลตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ
GH News April 08, 2025 09:00 PM

ปลัดเก่ง ปลุกสังคม ร่วมถอดบทเรียน ตึกสตง.ถล่ม ขออย่าด่วนสรุป แนะรอผลสอบจากผู้เชี่ยวชาญ

เมื่อวันที่ 8 เมษายน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย(มท.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหว เป็นเหตุให้อาคาร สตง. แห่งใหม่ถล่ม ระบุว่า #ตึกสตง. ถล่มเมื่อวันแผ่นดินไหว

ถึงวันนี้ 11 วันแล้ว นับแต่วันแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ตึก สตง. 32 ชั้น ถล่มทลายลงมากองกับพื้นช่วงแผ่นดินไหว ซึ่งจากข่าว 3 ข่าวที่ผมส่งต่อมาให้อ่าน ก็จะเห็นปรากฏการณ์ที่สังคมไทย ต้องช่วยกันคิดทั้งเชิงระบบ และเชิงความคิดที่เป็นระบบเหตุผลร่วมกัน หลายเรื่อง เช่น

1)ระบบการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบสาธารณภัย ผู้นำและประชาชน โดยเฉพาะผู้ประสบภัยเห็นตรงกันว่าเงินช่วยเหลือเยียวยาตามระเบียบกฎหมาย นั้น น้อยมากจนเกินไป
จนต้องมีการขออนุมัติเพิ่มเติมให้ ทุกครั้งที่เกิดสาธารณภัย ถ้าก่อนหน้าตึก สตง. ถล่ม ก็ได้แก่อุทกภัยตั้งแต่เหนือจรดใต้ จากแม่สาย เชียงราย ถึง ยะลา ปัตตานี นราธิวาส

ดังนั้น ควรที่จะปรับปรุงระเบียบกฎหมายให้วงเงินการช่วยเหลือมากกว่าที่เป็นอยู่แทนการมาขออนุมัติเป็นคราวๆไปได้แล้วกระมัง อย่างน้อยก็ทำให้ความช่วยเหลือที่มากพอสมควรไปถึงผู้ประสบสาธารณภัยได้ทั่วถึงทุกรายอย่างรวดเร็ว เพิ่มมากขึ้น(การช่วยเหลือเยียวยานี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ไม่ใช่เป็นการชดใช้ให้เต็มจำนวน)

ควบคู่กันระบบประกันภัยเพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้ประสบสาธารณภัยต่างๆ จำเป็นต้องมีการวางกฎเกณฑ์ให้ครอบคลุมทุกสาขาอาชีพ ทุกภาคส่วนเพื่อให้มีหลักประกันว่าเกิดเสียหายจะได้รับความคุ้มครองเต็มจำนวน นอกเหนือจากการได้รับเงินชดเชยช่วยเหลือจากภาครัฐ

2.ระบบการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในชาติต้องได้รับการจัดการให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง มากกว่าที่การมาพูดคุยหลังเกิดเหตุร้าย หรือก่อนเกิดเหตุร้ายแค่ไม่กี่วัน เช่น อุบัติภัยช่วงเทศกาล 7 วันอันตราย (ซึ่งเดี๋ยวก็จะถึงวันหยุดยาวสงกรานต์แล้ว), ไฟป่ากับ PM2.5 ช่วงหน้าแล้ง, น้ำท่วมช่วงหน้าฝน , เด็กจมน้ำตายช่วงปิดเทอมหน้าร้อน ฯลฯ

3.การแสวงหาข้อสรุปสาเหตุแห่งความเสียหาย ที่เกิดขึ้นแบบเป็นเหตุเป็นผล หรือเป็นแบบวิทยาศาสตร์ จำเป็นที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ต้องชี้แจง สร้างความเข้าใจให้คนในสังคมเข้าใจตามข้อเท็จจริงอย่างเป็นระบบ

ถ้ากรณีตึก สตง. ก็ไม่ใช่พอมีเหตุแล้ว คนที่เป็น ผู้ว่า สตง. หรือ คนอนุมัติงบประมาณเป็นคนเลวร้าย หรือคนผิดแบบละครโทรทัศน์ เรื่องคำพิพากษา
สังคมควรได้รับข้อมูลที่เป็นจริงว่างบประมาณที่รัฐบาลและสภาอนุมัติให้หน่วยราชการนั้นมาจากแบบที่ถูกออกแบบโดยสถาปนิกและวิศวกรผู้มีความรู้ความสามารถเป็นที่ประจักษ์ (กรณีนี้ คือ มีใบอนุญาตจากสภาวิชาชีพถึงเกณฑ์) เคยมีผลงานมีประสบการณ์มาก่อน ไม่ใช่นิสิต นักศึกษา เป็นผู้ออกแบบ

– แบบที่ออกต้องมีการกำหนดสเปกวัสดุ อุปกรณ์ ต่างๆไว้อย่างครบถ้วน พร้อมราคากลางซึ่งกรมบัญชีกลางเป็นผู้กำหนด ที่เราเรียกกันย่อๆจนติดปากว่า BOQ(Bill of Quantities)
นั่น หมายความว่างบประมาณจะเป็นเท่าไรก็จะมาจากรูปแบบ รายการ ต่างๆ พร้อมค่าดำเนินการและกำไรที่ผู้ประกอบการควรได้รับ

– มีรูปแบบรายการและราคาที่ผู้ว่า สตง. หรือผู้บริหารราชการ เอกชน การเมือง ต้องยอมรับเพราะออกโดยบุคคลที่ได้รับการรับรองว่ามีความรู้ความสามารถและมีใบอนุญาตให้มีหน้าที่ในการออกแบบ ได้รับอนุมัติงบประมาณแล้ว หน่วยงานก็ต้องไปดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้ได้บริษัทที่มีคุณสมบัติมั่นใจได้ว่าสามารถทำงานได้ ซึ่งราชการก็กำหนดไว้อย่างละเอียดชัดแจ้ง ไม่เกี่ยวกับผู้ว่า สตง. แต่ สตง. ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบ หลักเกณฑ์การจัดหาคู่ค้าตามที่หลักเกณฑ์ราชการกำหนดไว้เป็นมาตรฐานกลางของชาติ (คือ กรมบัญชีกลางหรือกระทรวงการคลัง)

จุดอ่อนเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ก็ต้องหาทางปรับปรุง ได้คู่สัญญาแล้วก็ต้องลงนามในสัญญาภายหลังต่อรองราคา และดำเนินการตามสัญญาทั้งงวดงานและเงินค่าจ้าง
#การดำเนินการตามสัญญาราชการหรือเอกชนก็ต้องมีคณะกรรมการตรวจรับและควบคุมการก่อสร้าง ซึ่งอาจจะเป็นคนในองค์กรเอง หรือจะหามาจากภายนอก ก็ได้ นั้นหมายความว่าถ้ามีข้อผิดพลาดในการก่อสร้างเกิดขึ้นไม่ว่าจะเรื่องสร้างผิดแบบ ลดสเปกของวัตสดุก่อสร้าง กรรมการตรวจรับก็ต้องค้นพบให้เจอก่อนการเซ็นต์รับงาน

3. วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้าง ราชการเรามีกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ควบคุมมาตรฐานสินค้า เหล็กก็ดี ปูนก็ดี มีเกณฑ์มาตรฐานอยู่แล้ว

การดำเนินงาน รูปแบบวิธีการก่อสร้างเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ เช่น ตึกสูกเครนต้องอยู่นอกอาคารที่ก่อสร้างหรืออยู่ตรงกลางตึกได้ฯลฯ
ที่เขียนมายืดยาวจากข่าวแบบคนเกษียณอายุราชการมาแล้ว (หรือแก่) เพื่อชวนคิดว่า กระบวนงาน และระบบต่างๆก็ต้องถูกตรวจสอบทั้งหมด ว่ามีจุดอ่อน ตรงไหนบ้าง จะว่างระบบให้ดี ให้ครอบคลุมอย่างไรต่อไป
เหตุที่เกิดขึ้นแล้วที่ตึก สตง. อย่าเพิ่งลงโทษ ตัดสินว่าเป็นความผิดของท่าน ผู้ว่าสตง. ทั้งคนเก่า คนใหม่เลยครับ ธรรมชาติของคนไม่ได้รู้ทุกเรื่องระบบถึงมีการแบ่งหน้าที่กันทำตามความรู้ความสามารถ

บนพื้นฐานแห่งความสุจริต กรรมการที่ท่านนายกรัฐมนตรีให้ตั้ง ท่านคงจะเสาะแสวงหาคำตอบให้ปรากฏตามระยะเวลา อดทนรอกันหน่อย ในระหว่างนี้ข้อมูลของผู้ประสบภัยที่เศร้าสลดนี้ เป็นใคร มีครอบครัวอยู่ที่ไหน เดือดร้อนต้องการการดูแลช่วยเหลืออะไรบ้างถ้ารูได้

ผมคิดว่าจะดีมากๆเผื่อว่าคนในสังคมจะได้ช่วยเหลือกันเพิ่มเติม และถึงอย่างไรผมยังยืนยันว่าชอบที่ ดร.เอ้ อดีตอธิการบดี สจล. และท่านอาจารย์ดิสกรูกุนธร ประธานมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ฐานะสถาปนิกอาวุโสท่านบอกว่ารับไม่ได้ที่ตึกสร้างใหม่พังล้มครืนแบบตึกสตง. แสดงว่ามันมีจุดแห่งความผิดอยู่ในงานแน่นอน แต่อยู่ตรงไหน ต้องรอดูนะครับอย่าเพิ่งโทษใครเลย
นายกฯ กางกรอบเวลาสอบตึก สตง.ถล่ม 90 วัน คาด 1 เดือน เคลียร์ไซต์ก่อสร้างจบ

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.