สถานทูตอังกฤษจัดงาน Eco,Econ&Equal ย้ำความเท่าเทียมทางเพศ รับมือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
รายงานจากสหราชอาณาจักรชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงและกลุ่มเปราะบางนั้นมีความเสี่ยงสูงกว่ากลุ่มอื่นด้านการเผชิญภัยจากสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เช่น การขาดแคลนอาหาร และภาวะทุพโภชนาการ ผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติเผชิญความเสี่ยงที่รายได้จะลดลง เช่น เกษตรกรรม การประมง การป่าไม้ซึ่งจำนวนมากเป็นผู้หญิง รวมถึงความเสี่ยงสูงขึ้นในการถูกแสวงหาผลประโยชน์และค้ามนุษย์ การเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข และบริการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและสังคมได้น้อยลง และความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศที่เพิ่มขึ้น เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย สถาบันวิจัยบทบาทชายหญิงและการพัฒนา มูลนิธิ Westminster Foundation for Democracy และองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ร่วมกันจัดงาน “Eco, Econ & Equal” โดยเน้นย้ำความสำคัญของความเชื่อมโยงระหว่างประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจของผู้หญิง โดยมีสมาชิกรัฐสภา ผู้แทนส่วนราชการ ภาคประชาสังคม และผู้นำภาคธุรกิจเข้าร่วมงาน เพื่อแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับทางออกสำหรับอนาคตที่โอบรับความแตกต่างและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
ในช่วงการเปิดกิจกรรม นายมาร์ค กูดดิ้ง เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินการร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศว่า การเสริมพลังให้กับผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นส่วนสำคัญสำหรับอนาคตที่ยั่งยืน พร้อมทั้งเน้นย้ำความมุ่งมั่นของสหราชอาณาจักรในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่คำนึงถึงมิติทางเพศ
คริสติน อาหรับ ผู้อำนวยการ UN Women สำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกและผู้แทนประจำประเทศไทยย้ำถึงความมุ่งมั่นของ UN Women ในการเสริมพลังให้กับผู้หญิงและการหาทางออกด้านสภาพภูมิอากาศ โดยการผลักดันให้ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจดิจิทัล
พญ. พรรณพิมล วิปุลากร ประธานสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีและผู้แทนสถาบันวิจัยบทบาทชายหญิงและการพัฒนา กล่าวปิดท้ายถึงพันธกิจองค์กรในการสนับสนุนผู้หญิงที่เผชิญกับวิกฤตและการปรับปรุงการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม
เกศชฎา พรหมจรรย์ ผู้อำนวยการ Westminster Foundation for Democracy ประจำประเทศไทย เล่าภารกิจขององค์กรในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิง และเน้นถึงความจำเป็นในการพัฒนานโยบายที่คำนึงถึงมิติทางเพศ
ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรม “Walk the Talk” ซึ่งเป็นการบรรยายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจโดยวิทยากร 12 ท่าน ประกอบด้วย นักขับเคลื่อนประเด็นสภาพภูมิอากาศ อินฟลูเอนเซอร์ด้านสิ่งแวดล้อม ผู้แทนภาคประชาสังคม และสมาชิกรัฐสภา หัวข้อการบรรยายครอบคลุมถึงประเด็นความเท่าเทียมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจ บทบาทของผู้หญิงการเป็นผู้นำธุรกิจและการพัฒนาชุมชน
ผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมชมนิทรรศการแสดงผลงานของภาคประชาสังคมและกิจการเพื่อสังคมรวม 7 แห่ง ที่ทำงานด้านการเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจของผู้หญิง การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นพื้นที่เรียนรู้เกี่ยวกับโครงการที่กำลังดำเนินอยู่ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสำรวจโอกาสในการร่วมงานระหว่างองค์กรให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน